เมซาลามีน

เมซาลามีน

Mesalamine (เมซาลามีน) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Mesalazine (เมซาลาซีน) เป็นยารักษาโรคลำไส้อักเสบและป้องกันการกำเริบของอาการจากโรคนี้ โดยออกฤทธิ์ลดอาการบวมในลำไส้ใหญ่ ช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของโรคลำไส้อักเสบ เช่น ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด ปวดท้อง เป็นต้น นอกจากนั้น ยังอาจนำมาใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์อีกด้วย

Mesalamine

เกี่ยวกับยา Mesalamine 

กลุ่มยา อะมิโนซาลิไซเลต
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคลำไส้อักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป

คำเตือนในการใช้ยา Mesalamine

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงแพ้ยาและสารอื่น ๆ เช่น ยาแอสไพริน ยาในกลุ่มซัลฟาซาลาซีน ยาในกลุ่มซาลิไซเลต เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากผู้ป่วยมีประวัติทางการแพทย์ เช่น กระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน โรคผิวหนังอักเสบ โรคตับ โรคไต เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรียควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยานี้ เนื่องจากตัวยาอาจมีส่วนผสมของกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine)
  • หลีกเลี่ยงการออกแดด การใช้เครื่องอบผิวแทน หรือการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลต เพราะการใช้ยานี้ทำให้ผิวไวต่อแสง รวมทั้งผู้ป่วยควรทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไป และสวมเสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวเมื่อต้องออกไปกลางแจ้งด้วย
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาลดกรด (Antacid) และควรใช้ยาลดกรดชนิดที่แพทย์แนะนำเท่านั้น เนื่องจากยาลดกรดบางชนิดอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยา Mesalamine ได้ยากขึ้น
  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสียและความเสี่ยงต่อทารกก่อนการใช้ยานี้ 
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนการให้นมบุตร
  • ห้ามผู้ป่วยเด็กรับประทานยานี้โดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากยา Mesalamine บางยี่ห้อไม่อนุญาตให้ใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกทั้งยาชนิดแคปซูลบางยี่ห้อก็ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่นกัน

ปริมาณการใช้ยา Mesalamine 

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาโรคลำไส้อักเสบ
ตัวอย่างการใช้ยารักษาโรคลำไส้อักเสบ 

ผู้ใหญ่ ปริมาณยาขึ้นกับชนิดและรูปแบบผลิตภัณฑ์ มีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

  • ยาชนิดเม็ดสูตร 400 มิลลิกรัม ผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันเริ่มรับประทานยาปริมาณ 2.4 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหลายครั้ง ส่วนปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้รับประทานยาปริมาณ 1.2-2.4 กรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานหลายครั้ง
  • ยาชนิดเม็ดสูตร 800 มิลลิกรัม ผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบเฉียบพลันเล็กน้อยรับประทานยาปริมาณ 2.4 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหลายครั้ง และสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบเฉียบพลันปานกลางรับประทานยาปริมาณ 4.8 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหลายครั้ง ส่วนปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้รับประทานยาได้ไม่เกิน 2.4 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานได้หลายครั้ง

เด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป น้ำหนักต่ำกว่า 40 กิโลกรัม ผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันให้เริ่มรับประทานยาชนิดเม็ดหรือชนิดผงในปริมาณ 30-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละหลายครั้ง แล้วจึงปรับเปลี่ยนปริมาณยาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน ส่วนปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้เริ่มรับประทานยาปริมาณ 15-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละหลายครั้ง แล้วจึงปรับเปลี่ยนปริมาณยาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน 

เด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป น้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานยาในปริมาณเดียวกันกับผู้ใหญ่

รักษาโรคลำไส้ตรงอักเสบ
ตัวอย่างการใช้ยารักษาโรคลำไส้ตรงอักเสบ

ผู้ใหญ่ อาจใช้ยารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งต่อไปนี้

  • ยาเหน็บ ใช้ปริมาณ 0.75-1.5 กรัม/วัน โดยแบ่งใช้วันละหลายครั้ง
  • ยาสวนทวารชนิดน้ำ สำหรับการรักษาอาการเฉียบพลัน ให้ใช้ปริมาณ 1 กรัม/วัน เป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ ส่วนปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้ใช้ปริมาณ 1 กรัม/วัน
  • ยาสวนทวารชนิดโฟม ใช้ปริมาณ 2 กรัม 1 ครั้ง/วัน ในเวลาก่อนนอน   

อย่างไรก็ตาม วิธีใช้ยาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการใช้ยา Mesalamine ของบางผลิตภัณฑ์เท่านั้น ปัจจุบัน ยา Mesalamine ถูกผลิตขึ้นหลากหลายรูปแบบ เช่น ชนิดผงรับประทาน ยาเม็ดรับประทาน สารละลายน้ำสำหรับสวนทวาร และโฟมสำหรับสวนทวาร เป็นต้น โดยแต่ละรูปแบบนั้นมีปริมาณยาแตกต่างกัน ผู้ใช้ยาควรศึกษาวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องจากฉลากยาของผลิตภัณฑ์นั้นๆ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

การใช้ยา Mesalamine

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • เนื่องจากยา Mesalamine แต่ละยี่ห้อมีวิธีการใช้ยาที่แตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยจึงควรอ่านฉลากเพื่อดูวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องก่อนเสมอ 
  • ห้ามบด หัก หรือเคี้ยวยานี้ แต่ควรกลืนยาลงไปทั้งเม็ดหรือทั้งแคปซูลเลย และสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการกลืนยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อข้อคำแนะนำในการรับประทานยาอย่างเหมาะสม
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากผู้ป่วยรับประทานยาแล้วอาการของโรคลำไส้อักเสบยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ช่วงเวลาของยารอบถัดไปพอดี ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากหากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ 
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงของการใช้ยา Mesalamine

โดยปกติ ยา Mesalamine มักทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดไซนัส เจ็บคอ มีอาการคล้ายไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดหลัง เป็นต้น หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลงก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมหรือคันบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก เป็นต้น
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง ปวดเกร็งหน้าท้อง ท้องเสียปนเลือด
  • มีไข้ ปวดศีรษะ ผื่นตามผิวหนัง
  • ถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือมีสีดำ ไอเป็นเลือด หรืออาเจียนออกมามีลักษณะสีคล้ายกากกาแฟ 
  • มีปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปัสสาวะได้น้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะหรือปัสสาวะได้ยาก เท้าหรือข้อเท้าบวม  รู้สึกเหนื่อยล้าหรือหายใจไม่อิ่ม เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตับ เช่น รู้สึกเบื่ออาหาร ปวดท้องส่วนบน เหนื่อยล้า เลือดออกหรือเกิดรอยช้ำได้ง่าย ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด ดีซ่าน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรายใดพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรด้วยเช่นกัน