เบคอน อาหารจานโปรดที่อาจให้โทษต่อร่างกาย

เบคอน เนื้อสัตว์แปรรูปชนิดหนึ่งที่ทำจากเนื้อหมูส่วนท้อง นำมาหมักด้วยเกลือ แล้วนำไปบ่มหรือรมควัน เบคอนมีรสชาติเค็ม ๆ มัน ๆ ซึ่งถูกใจใครหลาย ๆ คน มักนำไปเป็นส่วนผสมในเมนูต่าง ๆ เช่น แซนด์วิช สปาเก็ตตี้ อย่างไรก็ตาม แม้เบคอนจะมีรสชาติอร่อย แต่ก็อาจก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพได้มากกว่าที่หลาย ๆ คนคิด

เบคอน 3 ชิ้นหรือประมาณ 34.5 กรัมให้พลังงาน 161 แคลอรี่ ให้โปรตีนกับไขมันอย่างละ 12 กรัม และยังให้คาร์โบไฮเดรตอีกเล็กน้อยด้วย แต่ในกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปอย่างเบคอน ต้องนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ ทั้งการบ่ม การรมควัน การใส่เกลือ หรือการใส่สารกันบูด ทำให้เบคอนเป็นอาหารที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพบางอย่างได้หากรับประทานเป็นประจำ

เบคอน อาหารจานโปรดที่อาจให้โทษต่อร่างกาย

ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการรับประทานเบคอน

การรับประทานเบคอนในปริมาณมากหรือการรับประทานอย่างสม่ำเสมออาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ดังนี้

เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

ในกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปอย่างเบคอน มักมีการเติมสารกัดบูดลงไปเพื่อช่วยยืดอายุให้กับเนื้อสัตว์ เช่น สารโซเดียมไนไตรต์ (Sodium nitrite) แต่การใส่สารกัดบูดก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ และหากปรุงเบคอนให้สุกด้วยวิธีการทอด ก็อาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็งอย่างสารเฮเทอโรไซคลิกเอมีน (Heterocyclic Amines) ได้มากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยยังพบอีกว่าการรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปในปริมาณ 50 กรัมหรือเทียบกับเบคอนประมาณ 4 ชิ้นทุกวัน สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้มากถึง 18% เลยทีเดียว 

เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง

การผลิตเบคอนต้องผ่านกระบวนการบ่ม ทำให้เบคอน 1 ชิ้นมีปริมาณเกลือหรือโซเดียมสูงมากถึงประมาณ 137 มิลลิกรัม ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ อีกทั้งหากเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ก็อาจส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและสามารถนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจตามมาได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ปริมาณเกลือหรือโซเดียมในเบคอนที่สูง ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไตได้เช่นกัน 

เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease)

เบคอนมีปริมาณไขมันอิ่มตัวมากถึง 40% ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมากเกินไปอาจส่งผลให้ปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoproteins: LDL) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ยิ่งไปกว่านั้น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะอ้วนที่สามารถนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพได้อีกมากมายด้วย

เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเก๊าท์

เบคอนมีสารพิวรีน (Purine) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารพิวรีนเป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่เมื่อถูกย่อยจะทำให้เกิดกรดยูริกขึ้น และเมื่อกรดยูริกเกิดการสะสมในข้อต่อก็สามารถทำให้เกิดโรคเก๊าท์ตามมาได้ การรับประทานเบคอนในปริมาณมากหรือรับประทานบ่อยอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเก๊าท์ได้ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์อยู่แล้วก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูงอย่างเบคอนด้วยเช่นกัน

อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์

สารไนไตรต์ (Nitrite) ที่ถูกใช้ในกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปรวมถึงเบคอน อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะออกซิเดทีฟสเตรส (Oxidative stress) ได้ ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลให้เซลล์เกิดการอักเสบและเสียหาย และเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ 

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่าการรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปเพียงหนึ่งหน่วยบริโภคทุกวันอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ 44% และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ 52% เลยทีเดียว

รับประทานเบคอนอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

หากต้องการรับประทานเบคอน ควรศึกษาวิธีการรับประทานที่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายน้อยที่สุด โดยเคล็ดลับการรับประทานเบคอนให้ปลอดภัยและไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ มีดังนี้

  • ควรลดปริมาณและความถี่ในการรับประทานเบคอนลง โดยอาจรับประทานเบคอนในปริมาณเล็กน้อยเป็นครั้งคราว แทนการรับประทานป็นมื้อหลักอย่างสม่ำเสมอ
  • ควรลดการใส่เครื่องปรุงในอาหารที่มีส่วนประกอบของเบคอน เนื่องจากเบคอนมีรสชาติเค็มจัดอยู่แล้ว และเน้นรับประทานเบคอนร่วมกับอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น สลัดผัก
  • ควรหลีกเลี่ยงการย่างหรือการทอดเบคอน แล้วเปลี่ยนเป็นการอบหรือการต้มแทน เพราะการปรุงเนื้อสัตว์ให้สุกด้วยอุณหภูมิที่สูงหรือการปรุงเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็งเพิ่มมากขึ้นได้
  • ควรตัดเบคอนเป็นชิ้นเล็ก ๆ และพลิกบ่อย ๆ เพื่อช่วยให้เบคอนสุกเร็วขึ้นและลดเวลาในการปรุงอาหารลง รวมถึงควรตัดเนื้อส่วนที่ไหม้ออกเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
  • หากต้องการทอดเบคอน ควรใช้น้ำมันในปริมาณน้อยหรือไม่ใช้น้ำมันในการทอด เพราะในเบคอนมีไขมันสูงอยู่แล้ว และหลังจากทอดควรใช้กระดาษซับน้ำมันส่วนเกินออกก่อนรับประทาน 
  • อาจพิจารณาเปลี่ยนไปรับประทานเบคอนที่ทำจากเนื้อไก่งวงแทนเบคอนที่ทำจากเนื้อหมู เพราะเบคอนที่ทำจากเนื้อไก่งวงจะมีปริมาณไขมันที่ต่ำกว่า

แม้ว่าการรับประทานเบคอนจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้หลายประการ แต่เบคอนก็มีโปรตีนสูง มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมวิตามินดีได้ด้วย ดังนั้นหากจะรับประทานเบคอน ควรเลือกรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ