เทคนิคดูแลเด็กทารกบนเครื่องบิน

เด็กทารกเป็นช่วงวัยที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะร่างกายยังอ่อนแอ ทำให้บาดเจ็บหรือติดเชื้อได้ง่าย หากจำเป็นต้องพาเด็กทารกเดินทางไปด้วย จึงต้องดูแลเจ้าตัวน้อยมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งมีข้อกำหนดและกฎระเบียบมากมาย อีกทั้งยังมีผู้อื่นโดยสารไปด้วย จึงอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกิดอุบัติเหตุ หรือเด็กอาจงอแงจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจแก่ผู้อื่น ดังนั้น ผู้ปกครองต้องวางแผนอย่างรัดกุม

1925 เทคนิคดูแลเด็กทารกบนเครื่องบิน rs

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนขึ้นเครื่องบิน

ช่วงก่อนเดินทางเป็นช่วงที่ควรเตรียมทุกอย่างให้พร้อม เพราะการเดินทางอาจใช้เวลานานและไม่ได้แวะพักระหว่างทาง หากลืมของสำคัญหรือหากเด็กมีอาการผิดปกติอาจไม่สามารถช่วยได้ทันการณ์ จึงควรเตรียมความพร้อมให้ดี

โดยสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียม มีดังนี้

  • สอบถามสายการบินเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ เช่น อายุขั้นต่ำของเด็กที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่อง ราคาตั๋วสำหรับเด็ก ขนาดของคาร์ซีทและรถเข็นเด็กที่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลอาจแตกต่างกันไปในแต่ละสายการบิน จึงควรตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนก่อน
  • วางแผนการเดินทางและเตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับเด็กที่ต้องใช้ระหว่างเดินทาง อย่างขวดนม น้ำเปล่า จุกหลอก ผ้าอ้อมสำหรับเปลี่ยนบนเครื่อง เสื้อผ้า และของเล่นเด็ก
  • พาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพก่อนเดินทาง โดยเฉพาะการติดเชื้อในช่องหู เพราะหากเด็กมีโรคประจำตัวหรือติดเชื้อใด ๆ จะได้ให้เด็กใช้ยารักษาหรือป้องกันอาการกำเริบในระหว่างเดินทาง
  • จดข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ใส่กระดาษและเก็บไว้ที่ตัวเด็กเพื่อป้องกันการพลัดหลง และจดไว้ในโทรศัพท์มือถือด้วยเพื่อป้องกันการลืมข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครอง อาการป่วยของเด็ก และยาที่เด็กใช้อยู่ เป็นต้น
  • เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดแบบง่าย ๆ ไปด้วย เพราะเด็กอาจหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ บนเครื่องบินที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ เช่น ประตูห้องน้ำ หรืออุปกรณ์ในห้องน้ำ เป็นต้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในเด็กทารกที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ใหญ่
  • หากเป็นไปได้ ควรเลือกเที่ยวบินที่เดินทางตรงกับเวลานอนของเด็ก อย่างเที่ยวบินเวลากลางคืน หรืออาจเลือกเที่ยวบินที่ตรงกับเวลานอนกลางวันของเด็กพอดี เพื่อให้เด็กหลับระหว่างเดินทางและหลีกเลี่ยงการส่งเสียงร้องงอแงที่อาจรบกวนผู้โดยสารคนอื่น ๆ
  • ไปถึงสนามบินให้เร็วกว่าปกติเพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น เพราะการมีเด็กทารกเดินทางไปด้วยนั้นอาจทำให้ต้องใช้เวลาในการจัดเก็บสัมภาระนานกว่าปกติ ซึ่งสายการบินบางแห่งก็อนุญาตให้ผู้โดยสารที่มีเด็กทารกมาด้วยได้ขึ้นเครื่องก่อนผู้โดยสารทั่วไป

การดูแลเด็กทารกเมื่ออยู่บนเครื่องบิน

ขณะอยู่บนเครื่องบิน เรื่องที่ผู้ปกครองเป็นกังวลคงจะหนีไม่พ้นความปลอดภัยของเด็กและระวังไม่ให้เด็กรบกวนผู้โดยสารท่านอื่น ซึ่งสามารถทำตามคำแนะนำ ดังนี้

  • เลือกที่นั่งติดหน้าต่าง เพื่อใช้ดึงความสนใจของเด็กและหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ เพราะเด็กมักขยับตัวตลอดเวลา จึงอาจยื่นแขนหรือขาออกนอกที่นั่ง หากนั่งริมทางเดินก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อเด็กได้ เช่น ถูกเดินชน หรือพลัดตกจากที่นั่ง เป็นต้น
  • ให้เด็กดื่มนมขณะเครื่องบินขึ้นหรือลงจอด ให้เด็กดื่มนมแม่ ดูดน้ำจากขวด หรือใช้จุกหลอกในระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินขึ้นหรือลงจอด เพื่อป้องกันอาการปวดหูที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความดันบนเครื่องบิน โดยให้รอจนตัวผู้ปกครองเองรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของความดันภายในหูก่อนจึงค่อยให้นม น้ำ หรือจุกหลอกแก่เด็ก เพราะหากให้เด็กดื่มนมหรือน้ำทันทีตั้งแต่ขึ้นเครื่อง เด็กอาจอิ่มก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงความดัน และหากทำวิธีต่าง ๆ แล้วยังไม่ได้ผล ให้ลองนวดเบา ๆ บริเวณใบหูของเด็กพร้อมร้องเพลงกล่อม ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้อีกทางหนึ่ง
  • ดึงดูดความสนใจ เพราะเด็กอาจซุกซนอยู่ไม่นิ่งจนพยายามปีนออกนอกที่นั่งหรือส่งเสียงร้องจนอาจรบกวนผู้อื่น จึงควรมีสิ่งของหลอกล่อให้เด็กสนใจอย่างของเล่นชิ้นโปรด หรือเล่านิทานและเปิดเพลงเบา ๆ ให้เด็กฟัง
  • ติดตั้งคาร์ซีทที่เบาะนั่ง คาร์ซีทเป็นของสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการเดินทางกับเด็กทารก โดยควรนำคาร์ซีทที่สายการบินอนุญาตไปติดตั้งบนเบาะที่นั่งบนเครื่องบิน เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุในระหว่างเดินทาง

วิธีรับมือเมื่อเด็กมีอาการผิดปกติขณะอยู่บนเครื่องบิน

เด็กร้องไห้
เด็กทารกไม่อาจสื่อสารเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย แต่อาจทำได้เพียงร้องไห้เพื่อส่งสัญญาณว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น พ่อแม่จึงควรสังเกตอาการของลูกน้อย เพื่อช่วยแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที โดยเด็กร้องไห้อาจหมายความว่าเด็กหิว เบื่อ หรือถึงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม จึงควรให้เด็กดื่มนม ให้เล่นของเล่น เปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก หรือใช้วิธีการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เด็กร้องไห้

เด็กเป็นหวัด
ในกรณีที่เด็กเป็นหวัด ควรใช้น้ำเกลือแทนการใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูก เพราะยาอาจไม่ปลอดภัยและไม่ได้ผลหากใช้กับเด็กทารก โดยก่อนขึ้นเครื่องบิน ให้ใช้น้ำเกลือหยดลงไปในรูจมูกทั้ง 2 ข้างของเด็กทารก ทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที จากนั้นใช้เครื่องดูดน้ำมูกดูดออก และไม่ต้องกังวลหากน้ำเกลือไหลลงคอเพราะไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก โดยสามารถหยดน้ำเกลือได้ทุก 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ ควรให้เด็กดื่มนมหรือน้ำอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการเดินทางด้วย

เด็กติดเชื้อในหู
พ่อแม่ควรไปปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางหากเด็กมีอาการติดเชื้อในหู โดยสอบถามแพทย์เกี่ยวกับยาที่สามารถใช้กับเด็กได้และควรนำยานั้นติดตัวไปด้วย แต่ทางที่ดีที่สุด คือ เลื่อนเที่ยวบินออกไปก่อน รอให้เด็กหายดีแล้วจึงค่อยเดินทาง แต่หากไม่สามารถรอได้ ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมเพื่อป้องกันอาการที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างเดินทาง

นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน แต่ละสายการบินจะมียาและเวชภัณฑ์ฉุกเฉินเก็บอยู่บนเครื่อง อีกทั้งพนักงานของแต่ละสายการบินยังถูกฝึกมาเพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ดังนั้น หากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน สามารถแจ้งพนักงานของสายการบินที่อยู่บนเครื่องให้เข้ามาช่วยเหลือได้ทันที