เคล็ดไม่ลับรักษาไข้หวัดและอาการไอระหว่างตั้งครรภ์

ไข้หวัดและอาการไอในระหว่างตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกคน แม้อาการเหล่านี้มักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์ แต่ก็ควรต้องรักษาให้หาย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

โดยปกติแล้ว การตั้งครรภ์จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ป่วยเป็นไข้หวัดและมีอาการไอได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้ คุณแม่หลายรายจึงอยากซื้อยามารับประทานเองที่บ้าน แต่ขณะเดียวกันก็กังวลถึงความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งตนเองและลูกน้อยในครรภ์ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมยารักษาไข้หวัดและอาการไอในระหว่างตั้งครรภ์ที่สามารถใช้ได้มาฝากกัน

รักษาไข้หวัดและอาการไอในระหว่างตั้งครรภ์

ยารักษาไข้หวัดและอาการไอระหว่างตั้งครรภ์

การใช้ยารักษาไข้หวัดและอาการไออาจไม่ปลอดภัยต่อคุณแม่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แต่หากเลยช่วงสามเดือนแรกไปแล้ว จะมีตัวยาหลายชนิดที่สามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้และค่อนข้างปลอดภัย แต่การใช้ยาเหล่านี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลหรือเภสัชกรก่อนเสมอก่อนเริ่มการใช้ยาใด ๆ โดยตัวอย่างยาที่สามารถใช้ได้ในระหว่างตั้งครรภ์ มีดังนี้

  • ยาดมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเมนทอล
    เป็นยาที่ใช้สูดดมหรือทาบริเวณหน้าอก ขมับ และใต้จมูก เพื่อให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ยาแก้ปวดลดไข้
    ยาพาราเซตามอลมักใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะหรือปวดตามร่างกายและลดไข้ หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะปลอดภัยทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อย 
  • ยาแก้ไอและเจ็บคอ
    มีทั้งรูปแบบยาอม ยาเม็ด หรือยาน้ำ หากมีเสมหะร่วมด้วยอาจใช้เป็นยาขับเสมหะในระหว่างวันอย่างยาไกวเฟนิซิน หรือหากอาการไอแห้งสร้างความรำคาญใจในเวลากลางคืน อาจเลือกใช้ยาระงับอาการไออย่างยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน
  • ยาลดน้ำมูก
    ตัวอย่างเช่น ยาคลอเฟนิรามีน นำมาใช้บรรเทาอาการจากหวัด จาม น้ำมูกไหลได้ แต่ควรใช้ตามปริมาณที่ระบุบนฉลากยา และหยุดใช้เมื่ออาการหายดี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากที่สุด

ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดที่รวมตัวยาหลายชนิดไว้ด้วยกันเพื่อรักษาหลายอาการ แต่ควรใช้ยาเพียงชนิดเดียวเพื่อรักษาเฉพาะอาการไป นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน ยาโคเดอีน และยาปฏิชีวนะบางชนิด หากไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อน

โดยทั่วไป แพทย์หลายคนอาจแนะนำให้ดูแลตนเองเบื้องต้นแทนการรับประทานยา โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ บ้วนหรือกลั้วปากด้วยน้ำเกลือหากมีอาการเจ็บคอหรือไอ ใช้น้ำเกลือช่วยล้างจมูก ใช้เครื่องทำความชื้นภายในห้องเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก จิบน้ำผึ้งหรือมะนาวหากรู้สึกเจ็บคอ รับประทานอาหารที่เหมาะสำหรับคนป่วย หรืออาจใช้แผ่นประคบร้อนและเย็นบรรเทาอาการปวดศีรษะ แต่หากวิธีเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผล คุณแม่มีอาการแย่ลง มีไข้สูง หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์และแจ้งให้แพทย์ทราบว่าได้ใช้ยาอะไรมาบ้าง