หูดฝ่าเท้า

ความหมาย หูดฝ่าเท้า

หูดฝ่าเท้า (Plantar Warts) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) มักอยู่ที่ผิวหนังชั้นนอกสุดของฝ่าเท้า มีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็กขึ้นที่บริเวณโคนหัวแม่เท้า จมูกเท้าหรือส้นเท้า ทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บระหว่างเดินหรือลงน้ำหนักไปที่เท้า 

แม้ว่าหูดที่ฝ่าเท้าจะไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่เชื้อจากหูดอาจกระจายไปยังบริเวณอื่นของร่างกายได้ ผู้ป่วยควรรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงของอาการและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่น

หูดฝ่าเท้า

อาการของหูดฝ่าเท้า 

หูดฝ่าเท้าจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก มีจุดดำอยู่ตรงกลางหูด และอาจขยายขนาดใหญ่ขึ้นได้ มักพบบริเวณส้นเท้า จมูกเท้าหรือโคนหัวแม่เท้า โดยอาจขึ้นเพียงตุ่มเดียวหรือหลายเม็ดในบริเวณเดียวกัน เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเป็นปื้นหนาและแข็ง รู้สึกเจ็บหรือกดเจ็บบริเวณเท้าเมื่อเดินหรือลงน้ำหนัก

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากหูดฝ่าเท้ามีลักษณะที่เปลี่ยนไป มีเลือดออก ไม่ค่อยมีความรู้สึกบริเวณเท้า หรืออาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลงหรือบกพร่อง รวมไปถึงรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

สาเหตุของหูดฝ่าเท้า 

หูดฝ่าเท้าอาจเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดความผิดปกติบริเวณผิวหนัง โดยเชื้อเอชพีวีจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลเปิดขนาดเล็กหรือจุดบอบบางบนผิวหนังก่อนที่จะแสดงอาการในภายหลัง อีกทั้งร่างกายของผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการตอบสนองต่อการติดเชื้อเอชพีวีแตกต่างกัน

โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดหูดฝ่าเท้า ได้แก่ เด็กและวัยรุ่น มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือเคยป่วยเป็นหูดฝ่าเท้ามาก่อน ชอบเดินเท้าเปล่านอกบ้านหรือพื้นที่สาธารณะที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อไวรัส อย่างพื้นที่รอบสระว่ายน้ำหรือห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า รวมถึงใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ติดเชื้อ อย่างผ้าขนหนู ถุงเท้าหรือรองเท้า ซึ่งสามารถติดเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าวและเกิดหูดฝ่าเท้าได้เช่นเดียวกัน

การวินิจฉัยหูดฝ่าเท้า

แพทย์จะตรวจร่างกายของผู้ป่วยและตรวจดูผิวหนังบริเวณหูด โดยอาจใช้มีดผ่าตัดสะกิดหูดเพื่อดูจุดสีดำที่เป็นลิ่มเลือดกลางแผลหูด หรืออาจตัดเนื้อเยื่อเพียงเล็กน้อยจากหูดเพื่อนำไปวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการ

การรักษาหูดฝ่าเท้า

โดยทั่วไปหูดมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายและอาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา ยกเว้นกรณีที่มีอาการเจ็บบริเวณหูดหรือหูดแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยสามารถบรรเทาอาการและรักษาหูดฝ่าเท้าด้วยวิธีต่อไปนี้

การใช้ยา

ผู้ป่วยอาจใช้ยาผลัดเซลล์ผิว (Peeling Medicine) ที่หาซื้อเองได้จากร้านขายยาทั่วไปและเป็นยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ มีทั้งแบบแผ่นแปะหรือยาทา ก่อนการใช้ยาควรล้างบริเวณที่เกิดหูดให้สะอาด แช่เท้าในน้ำอุ่นอย่างน้อย 20 นาทีแล้วจึงลอกหูดชั้นบนสุดออก

จากนั้นทายาผลัดเซลล์ผิวหรือตัดแผ่นแปะขนาดเท่าหูดลงไปอย่างระมัดระวังไม่ให้ถูกผิวหนังส่วนอื่น เพราะอาจเกิดการระคายเคือง ผู้ป่วยจะต้องทายาวันละ 1–2 ครั้งหรือเปลี่ยนแผ่นแปะทุก ๆ 24–48 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาชนิดนี้ติดต่อกันหลายเดือน

การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy)

เป็นการใช้ความเย็นจากไนโตรเจนเหลวโดยจี้หรือทาไปที่ผิวหนังที่เป็นหูด ทำให้เกิดแผลพุพองรอบ ๆ หูด จากนั้นเซลล์ผิวจะตายและจะหลุดลอกออกภายในเวลา 2–3 สัปดาห์ถัดมา นอกจากนี้ การบำบัดด้วยความเย็นยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต้านเชื้อไวรัสที่เข้าสู้ร่างกายได้

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

แพทย์จะใช้ยากระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันทำลายเชื้อเอชพีวี อาจอยู่ในรูปแบบยาทาหรือยาฉีดชนิดแอนติเจน (Antigen) เข้าที่หูดเพื่อช่วยกำจัดเชื้อบริเวณนั้น

การรักษาด้วยเลเซอร์

แพทย์จะยิงรังสีไปที่หูดโดยตรงเพื่อให้เนื้อเยื่อที่ติดเชื้อกลายเป็นเนื้อตายและทำให้หูดหลุดลอกออกมา ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องรับการยิงเลเซอร์ซ้ำทุก ๆ 3–4 สัปดาห์

หากรักษาด้วยวิธีเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดที่จะเป็นการผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อทำลายหูดหรือนำหูดออก โดยจะต้องฉีดยาชาก่อนผ่าตัดและผู้ป่วยอาจมีรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดได้ รวมทั้งแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของหูดฝ่าเท้า

หูดฝ่าเท้าอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อหากมีแผลเปิดร่วมด้วย และอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเมื่อลงน้ำหนักไปที่เท้าจนทำให้มีท่าทางและลักษณะการเดินหรือวิ่งที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งอาจรู้สึกปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อตามมา

การป้องกันหูดฝ่าเท้า

หูดฝ่าเท้าป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาเท้าให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ รับการฉีดวัคซีน HPV เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหูด เปลี่ยนรองเท้าและถุงเท้าเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสหูดโดยตรงแต่หากสัมผัสแล้วควรล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าและไม่ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างกรรไกรตัดเล็บ ตะไบเล็บหรือหินขัดผิวบนผิวหนังบริเวณอื่นหลังจากอุปกรณ์นั้นสัมผัสแผลหูดแล้ว

ส่วนผู้ที่กำลังมีอาการของหูดฝ่าเท้าสามารถป้องกันการแพร่กระจายของหูดไปยังผู้อื่นหรืออวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วยการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เมื่อว่ายน้ำ ไม่ใช้ผ้าขนหนู ถุงเท้าและรองเท้าร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการเกาหรือสัมผัสกับหูดโดยไม่จำเป็น และควรสวมถุงเท้าที่ผ่านการทำความสะอาดแล้ว