หลอดเลือดฝอยขยายตัว (Telangiectasia)

ความหมาย หลอดเลือดฝอยขยายตัว (Telangiectasia)

Telangiectasia เป็นภาวะที่เส้นเลือดฝอยภายในร่างกายโป่งและแตกออกจนทำให้เห็นรอยเส้นเลือดในบริเวณผิวหนังส่วนนั้น พบได้ทั้งลักษณะเส้นเลือดที่แผ่ออกเป็นเส้น เป็นปื้นแดง หรือเป็นจุดตามผิวหนัง ซึ่งตำแหน่งที่เกิด Telangiectasia อาจเกิดขึ้นกับร่างกายส่วนใดก็ได้

ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ Telangiectasia แต่ทราบว่าภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ และบางสาเหตุอาจก่อให้เกิดอาการอื่นร่วมด้วยนอกจากรอยเส้นเลือดฝอย ซึ่งอาการอื่น ๆ ที่พบและการรักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ

หลอดเลือดฝอยขยายตัว (Telangiectasia)

อาการของ Telangiectasia

อาการที่เด่นชัดของ Telangiectasia คือ แขนงของเส้นเลือดฝอยที่แตกแล้วค่อย ๆ ปรากฏขึ้นตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ จนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน พบได้ทั้งแบบเป็นริ้วเส้นเลือดที่กระจายออก เป็นปื้นสีแดงคล้ายผื่น เป็นจุดแดงตามผิวหนัง โดยบริเวณที่พบได้บ่อยมักจะเป็นใบหน้า ริมฝีปาก น่องขา นิ้ว ฝ่ามือ และผิวหนังด้านหลังเท้าบริเวณใต้ตาตุ่ม นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวด บวม คัน และระคายเคืองในบริเวณดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย 

อย่างไรก็ตาม อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากพบว่ารอยเส้นเลือดฝอยที่แตกออกมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีสัญญาณของภาวะเลือดออกภายในร่างกาย เช่น กระหายน้ำรุนแรง ปวดภายในร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ท้องบวมหรือท้องแข็ง ตัวซีด เหงื่อออก ตัวเย็น คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย หายใจลำบาก หรือหมดสติ ควรไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของ Telangiectasia

แพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุและกลไกที่แน่ชัดของ Telangiectasia ได้ แต่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

Telangiectasia ที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม

คนที่มีปัญหาสุขภาพหรือปัจจัยต่อไปนี้ อาจพบ Telangiectasia ที่ไม่ได้มีสาเหตุจากพันธุกรรมได้

  • โรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea) โรคหนังแข็ง (Scleroderma) โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) และภาวะผิวหนังติดสารสเตียรอยด์ เป็นต้น
  • ปัจจัยสุขภาพ เช่น การตั้งครรภ์ ภาวะติดสุราเรื้อรัง ภาวะผิวหนังไวต่อแสง และการบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง เป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น การสัมผัสกับอุณหภูมิเย็นจัดหรือร้อนจัด การสัมผัสแสงแดด และการใช้ครีมสเตียรอยด์มากเกินไป เป็นต้น

Telangiectasia ที่มาจากพันธุกรรม

Telangiectasia ชนิดนี้อาจพบในผู้ป่วยที่มีโรคทางพันธุกรรม เช่น ภาวะเส้นเลือดฝอยขยายจากพันธุกรรม (Hereditary Hemorrhagic Telangiectasia: HHT) กลุ่มอาการบลูม (Bloom Syndrome) เนื้องอกในร่างกาย (Benign Hereditary Telangiectasia) อาการเซ (Ataxia) และโรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นต้น 

ทั้งนี้ ภาวะเส้นเลือดฝอยขยายจากพันธุกรรมหรือ HHT เป็นภาวะที่ควรเฝ้าระวัง เพราะอาจส่งผลให้เส้นเลือดฝอยทั้งใต้ชั้นผิวหนังและภายในร่างกายแตกออก หากเส้นเลือดฝอยภายในร่างกายแตกจะทำให้เกิดเลือดออกภายในจนอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ โดยผู้ป่วย HHT อาจประสบกับอาการเลือดกำเดาไหลบ่อย เลือดปนในอุจจาระ หายใจไม่อิ่ม ชัก มีอาการโรคหลอดเลือดสมองชนิดไม่รุนแรง และอาจมีปานแดงเส้นฝอย (Port-Wine Stain Birthmark) แต่กำเนิดด้วย

การวินิจฉัย Telangiectasia

แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยจากการสอบถามอาการเบื้องต้น ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและคนในครอบครัว พร้อมกับตรวจร่างกายเพื่อดูลักษณะและตำแหน่งของรอยเส้นเลือดที่ปรากฏ บางครั้งการสังเกตจากข้อมูลเหล่านี้อาจไม่เพียงพอ แพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาโรคหรือปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะดังกล่าวและตัดโรคที่ไม่เกี่ยวข้องออก

แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการตรวจเลือด การถ่ายภาพภายในร่างกายด้วยวิธีเอกซเรย์ (X-ray) การใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เมื่อได้ผลจากการตรวจด้วยวิธีเหล่านี้ แพทย์จะนำมาวิเคราะห์เพื่อวินิจฉัย Telangiectasia อีกครั้งหนึ่ง

การรักษา Telangiectasia

การรักษา Telangiectasia มุ่งเน้นไปที่การรักษาและควบคุมโรคหลักที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการลดรอยของเส้นเลือดที่ปรากฏขึ้นตามผิวหนัง เช่น การเลเซอร์ผิวหนังเพื่อปิดรอยแตกของเส้นเลือด การผ่าตัดเพื่อนำเส้นเลือดที่แตกออก และการฉีดยาเข้าเส้นเลือดเพื่อให้เลือดในบริเวณนั้นเกาะตัวกันและลดอาการเลือดออก (Sclerotherapy) เป็นต้น

ทั้งนี้ ขั้นตอนการรักษาเหล่านี้มีระยะเวลาการพักฟื้นที่แตกต่างกัน รวมทั้งขั้นตอนในการรักษาและกลไกที่ต่างกันด้วย โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษาให้เหมาะกับลักษณะของ Telangiectasia ในผู้ป่วยแต่ละคนให้มากที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของ Telangiectasia

Telangiectasia มักไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่บางคนอาจรู้สึกขาดความมั่นใจจากรอยของเส้นเลือดที่ปรากฏขึ้นได้ โดยสามารถไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางเพื่อปกปิดหรือรักษาด้วยตนเอง เพราะสารเคมีในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้นได้

การป้องกัน Telangiectasia

Telangiectasia เกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย หากเป็นปัจจัยภายนอกอาจป้องกันด้วยการรักษาภาวะติดสุราเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการใช้ครีมที่มีสเตียรอยด์ หลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ป้องกันผิวหนังจากแสงแดดด้วยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดและทาครีมกันแดด

สำหรับผู้ที่เป็นโรคผิวหนังและโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Telangiectasia ควรเข้ารับการรักษาโรคนั้น ๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากรู้สึกกังวลเกี่ยวกับอาการของโรคหรือมีร่องรอยของเส้นเลือดฝอยแตกปรากฏขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม