ลิ้นไก่อักเสบ

ความหมาย ลิ้นไก่อักเสบ

ลิ้นไก่อักเสบ คือ ภาวะที่เกิดการอักเสบบริเวณลิ้นไก่ ส่งผลให้มีอาการเจ็บคอ แสบร้อนในคอ หรือกลืนอาหารลำบาก ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อย่างการติดเชื้อ การสอดท่อระหว่างผ่าตัด โรคกรดไหลย้อน หรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ สำหรับการรักษาอาจทำได้โดยการดื่มน้ำมาก ๆ อมยาอมแก้เจ็บคอ หรือใช้ยารักษาตามดุลยพินิจของแพทย์

1550 ลิ้นไก่อักเสบ Resized

อาการของลิ้นไก่อักเสบ

อาการที่พบได้บ่อยเมื่อเกิดภาวะลิ้นไก่อักเสบ คือ ลิ้นไก่จะขยายตัวมากกว่าปกติ มีอาการบวมแดง และในบางครั้งก็อาจปรากฏอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย

โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับภาวะลิ้นไก่อักเสบ มีดังนี้

  • เป็นไข้
  • มีปื้นสีขาวที่ลิิ้นไก่
  • มีจุดตามลำคอ
  • น้ำลายไหล
  • คันคอ เจ็บคอ และแสบร้อนในลำคอ
  • กลืนอาหารหรือน้ำได้ลำบาก
  • สำลัก หรือขย้อนอาหารออกมา
  • พูดหรือหายใจลำบาก
  • กรน

ทั้งนี้ หากมีอาการลิ้นไก่อักเสบพร้อมกับมีไข้หรือปวดท้อง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

สาเหตุของลิ้นไก่อักเสบ

ลิ้นไก่อักเสบเกิดจากการอักเสบที่เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อโรคหรือปัจจัยต่าง ๆ โดยสาเหตุที่อาจทำให้ลิ้นไก่อักเสบและบวม มีดังนี้

  • การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา เป็นต้น โดยผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องก็อาจติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • การบาดเจ็บหรือเป็นแผลบริเวณลิ้นไก่ เช่น การบาดเจ็บจากการสอดท่อช่วยหายใจ หรือจากอุปกรณ์อื่น ๆ ระหว่างผ่าตัดในช่องปาก เป็นต้น
  • อาการเจ็บป่วยหรือภาวะอื่น ๆ เช่น ปฏิกิริยาจากโรคภูมิแพ้ หรือกรดไหลย้อน เป็นต้น
  • สภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการอักเสบที่ลิ้นไก่ เช่น การสูบบุหรี่ การสัมผัสสารเคมีหรือสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • กรรมพันธุ์ ซึ่งลิ้นไก่อักเสบอาจส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมได้ เนื่องจากความผิดปกติและการบวมของชั้นใต้ผิวหนังอย่างโรคแองจิโออีดีมาที่เป็นแต่กำเนิด (Hereditary Angioedema) ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบวมอักเสบบริเวณลิ้นไก่ ลำคอ ใบหน้า มือ และเท้าได้

การวินิจฉัยลิ้นไก่อักเสบ

ในเบื้องต้น แพทย์อาจถามถึงความผิดปกติและอาการต่าง ๆ ที่ปรากฏร่วมกัน เช่น ปวดท้อง เป็นไข้ หรือมีภาวะขาดน้ำ เป็นต้น รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกัน เช่น ยาที่เพิ่งรับประทาน การสูบบุหรี่ การใช้สารเคมีต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการตรวจและการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจร่างกาย แพทย์อาจตรวจลิ้นไก่และลำคอ โดยอาจใช้สำลีก้านป้ายสารคัดหลั่งในลำคอไปตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา หรือป้ายสารคัดหลั่งจากโพรงจมูกไปตรวจหาอาการเจ็บป่วยอย่างไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติม
  • การตรวจเลือด เพื่อดูระบบการทำงานของร่างกายและหาสารที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ
  • การเอกซเรย์ หากผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก สำลัก หรือขย้อนอาหารออกมา แพทย์อาจเอกซเรย์ดูบริเวณลำคอของผู้ป่วยด้วย

ทั้งนี้ หากการทดสอบข้างต้นยังไม่สามารถยืนยันผลการวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน แพทย์อาจต้องส่งตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ต่อไป เพื่อหาสารหรืออาหารที่ทำให้ปรากฏอาการดังกล่าว

การรักษาลิ้นไก่อักเสบ

ลิ้นไก่อักเสบไม่ใช่ภาวะปกติที่พบได้ทั่วไป จึงอาจต้องอาศัยการรักษาตามสาเหตุเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยตนเองที่บ้าน หรือรักษาด้วยยาตามดุลยพินิจของแพทย์

โดยวิธีการรักษาลิ้นไก่อักเสบ มีดังนี้

การรักษาด้วยตนเอง หากอาการไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจดูแลตนเองได้โดยการดื่มน้ำมาก ๆ อมยาอมแก้เจ็บคอ กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ ใช้ยาพ่นบรรเทาอาการปวดในลำคอ หลีกเลี่ยงหรือเลิกสูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

การรักษาด้วยยา หากบรรเทาอาการด้วยตนเองตามวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยยาที่เหมาะสม ซึ่งชนิดของยาที่ใช้อาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดลิ้นไก่อักเสบ เช่น เมื่อลิ้นไก่อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าลิ้นไก่อักเสบจากอาการแพ้รุนแรงอาจใช้ยาต้านฮิสตามีน ยาสเตียรอยด์ หรือยาอิพิเนฟริน เป็นต้น

การป้องกันลิ้นไก่อักเสบ

เนื่องจากลิ้นไก่อักเสบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงอาจป้องกันได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น การป้องกันที่ดีอาจทำได้โดยการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยจนลิ้นไก่อักเสบตามมา รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เลิกสูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ลิ้นไก่อักเสบได้

ทั้งนี้ หากรักษาลิ้นไก่อักเสบจนหายดีแล้ว ผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมถึงวิธีป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งด้วย