รู้จักกับช็อกโกแลตซีสต์ โรคใกล้ตัวของผู้หญิง

ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับสตรีวัยเจริญพันธุ์ แม้ว่าช็อกโกแลตซีสต์จะไม่ใช่เนื้อร้ายและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บปวดทรมานในผู้ที่เป็นได้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นที่รุนแรงขึ้น และคุณภาพชีวิตลดลงได้ด้วย

ช็อกโกแลตซีสต์เป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยปกติแล้วมักพบที่รังไข่ แต่อาจพบในบริเวณใกล้เคียงอย่างเยื่อบุช่องท้อง ผนังลำไส้ หรือผนังกระเพาะปัสสาวะ และกรณีน้อยมากอาจพบในอวัยวะที่อยู่ไกลจากรังไขอย่างกะบังลม ช่องเยื่อหุ้มปอด หรือสมองได้เช่นเดียวกัน 

รู้จักกับช็อกโกแลตซีสต์ โรคใกล้ตัวของผู้หญิง

ช็อกโกแลตซีสต์เกิดจากอะไร

ช็อกโกแลตซีสต์เป็นถุงน้ำประเภทหนึ่งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ ตามปกติแล้วควรจะเจริญเติบโตในมดลูกแต่กลับมาอยู่ในรังไข่แทน และยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิมโดยลอกตัวออกมาเป็นประจำเดือน ทำให้เกิดเลือดค้างสะสมก่อตัวเป็นซีสต์ขึ้นมา ซึ่งเลือดที่ตกค้างจะมีลักษณะเหนียวหนืดสีน้ำตาลคล้ายกับช็อกโกแลต เลยถูกเรียกว่าช็อกโกแลตซีสต์นั่นเอง 

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดของช็อกโกแลตซีสต์ที่แน่ชัด แต่คาดการณ์กันว่าอาจเกิดจากเลือดประจำเดือนไหลย้อนเข้าไปยังรังไข่แทนที่จะไหลออกจากร่างกายทางปากมดลูก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่ปนอยู่ในเลือดประจำเดือนฝังตัวและเจริญเติบโตขึ้นมาในรังไข่ 

อาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของช็อกโกแลตซีสต์

ขนาดของช็อกโกแลตซีสต์มีหลากหลาย ตั้งแต่เล็กไปจนถึงขนาดใหญ่เป็น 10 เซนติเมตร แต่อาการจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของช็อกโกแลตซีสต์เสมอไป คนที่มีซีสต์ขนาดเล็กอาจมีอาการรุนแรงกว่าคนที่มีซีสต์ขนาดใหญ่ บางคนอาจไม่แสดงอาการอะไรเลยก็ได้เช่นกัน

อาการที่พบได้บ่อยและมักเป็นสัญญาณเตือนของช็อกโกแลตซีสต์ เช่น

  • มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังที่ไม่ใช่การปวดประจำเดือนธรรมดาทั่วไป โดยมักจะปวดบริเวณสะดือไปจนถึงอุ้งเชิงกรานหรือปวดบริเวณเอวไปจนถึงก้นกบ บางคนอาจปวดอุ้งเชิงกรานในขณะปัสสาวะ อุจจาระ หรือขณะมีเพศสัมพันธ์ด้วย
  • มีอาการปวดท้องประจำเดือนที่มากผิดปกติ เป็นการปวดแบบตื้อ ๆ หรือปวดแบบบีบ โดยอาการปวดท้องอาจเริ่มตั้งแต่ 1–2 วันก่อนมีประจำเดือนและมักจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ 
  • ถ้าช็อกโกแลตซีสต์มีขนาดใหญ่ อาจคลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย ซึ่งก้อนอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีอาการปวดในช่วงที่มีประจําเดือน
  • บางคนอาจมีอาการท้องอืด คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • หากช็อกโกแลตซีสต์แตกอาจมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและฉับพลัน ร่วมกับการเป็นไข้ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หายใจเร็ว หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดด้วย

อาการในข้างต้นอาจเป็นอาการของโรคอื่นได้ ไม่ใช่อาการเฉพาะของช็อกโกแลตซีสต์เสมอไป หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรไปพบแพทย์ และมีบางกรณีที่เนื้องอกชนิดอื่น ๆ อาจถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้ ถ้าเกิดซีสต์ที่มีขนาดใหญ่และไม่ยุบเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อผ่าตัดออก

วิธีรักษาเมื่อเป็นช็อกโกแลตซีสต์

ถ้าช็อกโกแลตซีสต์มีขนาดเล็กมากและไม่แสดงอาการใด ๆ แพทย์จะใช้วิธีเฝ้าดูอาการไปก่อน แต่หากขนาดใหญ่ขึ้นหรือแสดงอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตก็จำเป็นที่จะต้องรักษา โดยวิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ เช่น อายุ ความรุนแรงของอาการ ตำแหน่งที่พบช็อกโกแลตซีสต์ และความประสงค์ที่จะมีบุตรในอนาคตของผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วย

วิธีหลักที่ใช้รักษาช็อกโกแลตซีสต์ คือ การใช้ยาและการผ่าตัด

การรักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยามักจะใช้ในกรณีที่ช็อกโกแลตซีสต์มีขนาดไม่ใหญ่และแสดงอาการแค่เล็กน้อยถึงปานกลาง ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษาช็อกโกแลตซีสต์ เช่น

  • ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) ใช้เพื่อลดอาการปวดท้องน้อยและอาการปวดประจำเดือน ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่อาการปวดไม่รุนแรง
  • ยากลุ่มฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ยาโปรเจสติน และยากลุ่มฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่ง (Gonadotropin Releasing Hormone: GnRH) ใช้เพื่อช่วยควบคุมการทำงานของฮอร์โมน ลดอาการปวด และช่วยชะลอการเจริญเติบโตของซีสต์ ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดมากและไม่ประสงค์ที่จะมีบุตรในอนาคตอันใกล้

การผ่าตัด

การผ่าตัดจะใช้เมื่อช็อกโกแลตซีสต์มีขนาดใหญ่ โดยมากมักใหญ่กว่า 4 เซนติเมตร มีอาการปวดมาก มีข้อห้ามในการใช้ยาหรือรักษาด้วยยาไม่ได้ผล มีภาวะมีบุตรยากและต้องการมีบุตร และซีสต์มีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง การผ่าตัดมีอยู่ 2 วิธี คือ

  • การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscope) เป็นวิธีผ่าตัดหลัก เพราะแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว และมีโอกาสในการเกิดพังผืดหลังจากผ่าตัดน้อย แต่การผ่าตัดวิธีนี้อาจไม่สามารถจำกัดรอยโรคออกไปได้ทั้งหมด ทำให้มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้
  • การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง มักเป็นการการผ่าตัดมดลูกออก (Hysterectomy) บางกรณีอาจผ่าตัดรังไข่ออกไปเลย ทำให้ผู้ป่วยมักไม่กลับมาเป็นช็อกโกแลตซีสต์ซ้ำอีก แต่วิธีนี้จะใช้เมื่อไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ และผู้ป่วยไม่ประสงค์ที่จะมีบุตรแล้ว

แม้ว่าช็อกโกแลตซีสต์ไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลาในการรักษาตัวและมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ุทุกคน การรักษาสุขภาพและหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอย่อมจะดีกว่า