รับมือกับโรคหอบหืดเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง

โรคหืด (Asthma) หรือที่หลายคนเรียกว่าหอบหืด เป็นภาวะที่ทางเดินหายใจตีบแคบลงจากการอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ อาจทำให้หายใจลำบาก หายใจมีเสียง ไอ และแน่นหน้าอกได้

แต่ละบุคคลอาจมีอาการหอบหืดแตกต่างกันไป บางคนมีอาการเฉพาะบางฤดูกาล แต่บางคนอาจเกิดอาการขึ้นโดยไม่สามารถคาดเดาช่วงเวลาได้ ดังนั้น ผู้เป็นโรคหอบหืดจึงต้องดูแลสุขภาพในวันที่สภาพอากาศแปรปรวน เพื่อป้องกันการเกิดอาการรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

รับมือกับโรคหอบหืดเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง

สภาพอากาศกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดได้อย่างไร

ผู้เป็นโรคหืดอาจมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการแตกต่างกัน โดยสภาพอากาศต่าง ๆ อาจทำให้เกิดอาการหอบหืดได้ ดังนี้

อากาศแห้งและเย็น

ในช่วงอากาศหนาว ความชื้นในอากาศจะน้อยกว่าปกติทำให้อากาศแห้ง ความชื้นในร่างกายจึงลดลงไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เราแสบจมูกและคอแห้งได้เมื่อหายใจ นอกจากนี้ สภาวะอากาศเย็นยังทำให้ระบบทางเดินหายใจผลิตสารฮิสตามีน (Histamine) ที่กระตุ้นให้เกิดอาการหายใจมีเสียงและอาการหอบหืดอื่น ๆ รวมทั้งผลิตเมือก (Mucus) ในทางเดินหายใจออกมามากและมีลักษณะข้นเหนียวกว่าปกติ ผู้ป่วยหอบหืดจึงเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดหรือเกิดอาการหอบหืดกำเริบขึ้นได้

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและไม่ได้ดูแลรักษาอาการอย่างเหมาะสมอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางเดินหายใจในฤดูหนาวได้ง่ายกว่าผู้ที่ดูแลตนเอง จึงควรระมัดระวังและใส่ใจสุขภาพของตัวเองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่ออากาศแห้งและเย็น 

อากาศร้อนชื้น

ผู้ป่วยหอบหืดมักไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยในช่วงฤดูร้อน แต่อาการร้อนอาจทำให้อาการของบางคนกำเริบขึ้นได้ในบางครั้ง เนื่องจากในวันที่มีแสงแดดจัดหรือมีอากาศร้อน โอโซนระดับพื้นดิน (Ground-Level Ozone) ซึ่งเป็นโอโซนชนิดไม่ดีที่เกิดจากมลภาวะและควันจากท่อไอเสียของรถยนต์มักมีปริมาณสูงขึ้น จึงส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและทำให้หายใจได้ลำบากมากขึ้น

นอกจากนี้ พื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้นอาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดได้เช่นกัน โดยสภาพอากาศร้อนชื้นมักทำให้หายใจไม่สะดวก และความชื้นในอากาศยังทำให้เชื้อราและไรฝุ่นเติบโตได้ดี ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่อาจกระตุ้นให้คนเป็นโรคหอบหืดอาการกำเริบขึ้นได้

ฤดูฝนและวันที่มีลมแรง

ฝนตกอาจชะล้างฝุ่นละอองหรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ในอากาศได้ แต่อากาศชื้นที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลอาจรบกวนระบบทางเดินหายใจ ทำให้รู้สึกคัดจมูก รวมทั้งในวันที่ฝนตกหนักหรือมีลมพายุพัดแรงอาจทำให้ฝุ่น เชื้อรา และละอองเกสรพืชฟุ้งกระจายในอากาศมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดได้ง่าย

ฝุ่นละอองในอากาศ

นอกจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ในวันที่มีฝุ่นละอองในอากาศสูงก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการโรคหอบหืดได้เช่นกัน โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือการใช้รถบนท้องถนน โดย PM 2.5 สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระตุ้นการอักเสบของหลอดลม จึงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้อาการหอบหืดกำเริบขึ้นได้ 

อากาศเปลี่ยนแปลง รับมือหอบหืดอย่างไรดี

การดูแลตนเองในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศคล้ายกับวิธีการดูแลตนเองของผู้ที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ โดยการสังเกตปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และหลีกเลี่ยงการรับสิ่งกระตุ้นนั้นเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ดังนี้

  • ดูพยากรณ์อากาศ เพื่อสังเกตและเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในแต่ละวัน
  • ในวันที่สภาพอากาศแปรปรวนควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น
  • ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อป้องกันละอองเกสรพืชหรือสปอร์ของเชื้อราพัดเข้ามาในบ้าน ซึ่งอาจทำให้เชื้อราเติบโต 
  • ควรทำความสะอาดบ้านเป็นประจำเพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของฝุ่นละออง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ และใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ (Air Humidifier) เมื่อสภาพอากาศแห้ง ส่วนในวันที่อากาศร้อนควรเปิดเครื่องปรับอากาศให้อุณหภูมิเย็นขึ้น
  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ และสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการสูดเอาฝุ่น PM 2.5 หรือมลภาวะเข้าสู่ร่างกาย
  • สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นเมื่ออากาศหนาวเย็น โดยอาจสวมผ้าพันคอเพื่อกันลมขณะอยู่นอกอาคาร
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะวันที่อากาศหนาวหรือร้อนจัด และควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 10–15 นาที
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันวัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine) เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้ที่อาจกระตุ้นอาการของโรคหอบหืด
  • พบแพทย์ตามการนัดหมาย พร้อมทั้งสังเกตและจดบันทึกอาการในแต่ละวันอย่างสม่ำเสมอ
  • พกยาพ่นบรรเทาอาการหอบหืดติดตัวไว้เสมอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการกำเริบในกรณีฉุกเฉิน

การควบคุมอาการหอบหืดในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเรื่องยาก และแม้ว่ายังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคหอบหืดที่ชัดเจน แต่การหมั่นสังเกตอาการและดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอจะช่วยควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ และช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หากอาการแย่ลงเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับวิธีการรักษาและรับคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม