มะแว้ง ประโยชน์ และสรรพคุณรักษาโรค

มะแว้ง นิยมนำมารับประทาน เนื่องจากมีความเชื่อว่าอาจมีสรรพคุณทางยา เช่น มีฤทธิ์บรรเทาอาการไอ ป้องกันอาหารเป็นพิษ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และรักษาโรคเบาหวานได้ เป็นต้น

มะแว้ง

โดยทั่วไป คนนิยมรับประทานมะแว้งสดเป็นผักเคียงกับน้ำพริกหรือนำไปตำกับน้ำพริก จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยในปีงบประมาณ 2560 เผยว่ามะแว้งเป็น 1 ใน 10 ยาสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมากที่สุด ทั้งในรูปแบบยาเม็ดและยาอม เนื่องจากมะแว้งอุดมไปด้วยสารให้คุณประโยชน์ เช่น สารโซลานีน (Solanine) สารโซลานิดีน (Solanidine) สารโซลามารีน (Solamarine) และสารโซลาโซดีน (Solasodine) ที่อาจมีฤทธิ์บรรเทาอาการไอ และละลายเสมหะได้

ในปัจจุบัน มีมะแว้งหลากหลายสายพันธุ์ถูกนำมาใช้ในรูปแบบของยา ซึ่งมีข้อพิสูจน์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ ของมะแว้งต้น (Solanum Indicum) มะแว้งเครือ (Solanum Trilobatum) และมะแว้งนก (Solanum Nigrum) ไว้ ดังต่อไปนี้

บรรเทาอาการไอ อาการไออาจเกิดจากสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ลำคอระคายเคืองหรือเป็นอาการของโรคเรื้อรัง หลายคนพยายามรักษาบรรเทาอาการด้วยตนเอง รวมถึงการใช้ยารักษาทางเลือกต่าง ๆ ซึ่งในขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ยาอมสมุนไพรมะแว้งวางขายมากมายตามท้องตลาด มีงานวิจัยบางส่วนศึกษาในด้านนี้แล้วพบว่าสารอัลคาลอยด์ในมะแว้ง เช่น สารโซลาโซดีน อาจมีฤทธิ์ช่วยแก้ไอและขับเสมหะได้

มีงานวิจัยหนึ่งให้ผู้ป่วยโรคหืดบริโภคมะเขือเปราะและมะแว้งเครือปริมาณ 300 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 3 วัน พบว่าทั้งมะเขือเปราะและมะแว้งเครืออาจช่วยให้ระบบหายใจของผู้ป่วยทำงานได้ดีขึ้น โดยช่วยบรรเทาอาการไอ ภาวะหายใจลำบาก มีเสมหะ และอาการหายใจมีเสียงผิดปกติได้ ซึ่งอาจมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยาขยายหลอดลมแบบรับประทานบางชนิดอีกด้วย

แม้ว่ามะแว้งอาจมีสรรพคุณช่วยทำให้ชุ่มคอและบรรเทาอาการไอได้ แต่การรักษาด้วยมะแว้งอยู่ในตำรายาสมุนไพรไทยเป็นหลัก ไม่ได้ถูกนำมาใช้รักษาอาการป่วยอย่างเป็นทางการ จึงควรมีการศึกษาวิจัยต่อไป เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ป้องกันอาหารเป็นพิษ ภาวะอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ เช่น เชื้ออีโคไล (E. Coli) เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) และเชื้อซาลโมเนลลา ไทฟี (Salmonella Typhi) เป็นต้น ซึ่งมีงานวิจัยบางส่วนพบว่ามะแว้งอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้

มีงานวิจัยหนึ่งใช้สารสกัดจากผลของมะแว้งนกทดลองกับเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรารวม 11 ชนิด พบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรียทั้งหมด 9 ชนิดด้วยกัน ซึ่งรวมถึงเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส เชื้อซาลโมเนลลา ไทฟี และเชื้ออีโคไลที่มักปนเปื้อนในอาหารจนก่อให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาในลักษณะเดียวกันโดยใช้สารสกัดจากมะแว้งเครือ พบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส และเชื้ออีโคไลได้ด้วยเช่นกัน

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งที่ใช้สารสกัดจากใบของมะแว้งต้นทดลองกับเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส เชื้อบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus Cereus) และเชื้ออีโคไล พบว่าสารสกัดจากมะแว้งต้นอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียข้างต้นทั้ง 3 ชนิดได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามะแว้งจะช่วยป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษในมนุษย์ได้จริงหรือไม่และปลอดภัยเพียงใด ดังนั้น ควรศึกษาโดยใช้มะแว้งทดลองในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป เพื่อประโยชน์ในการนำมะแว้งไปปรับใช้เป็นยาในอนาคต

รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหารอาจเกิดจากปริมาณของเมือกและกรดในกระเพาะอาหารไม่สมดุลกัน จนทำให้เกิดแผลที่เยื่อบุของกระเพาะอาหาร ซึ่งมีการวิจัยพบว่าสารสกัดจากใบของมะแว้งนกอาจช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูทดลองได้ โดยยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และลดการผลิตฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาในหนูทดลองเท่านั้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่าสามารถใช้มะแว้งรักษาแผลในกระเพาะอาหารของมนุษย์ได้จริง จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปและบริโภคอย่างระมัดระวัง

รักษาโรคเบาหวาน สาเหตุหนึ่งของโรคเบาหวาน เกิดจากกระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดแล้วเปลี่ยนให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมากจนนำไปสู่อาการป่วยต่าง ๆ ซึ่งมะแว้งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและเผาผลาญไขมันได้ โดยมีงานวิจัยในหนูทดลองหลายชิ้นสนับสนุนสรรพคุณนี้

มีงานวิจัยหนึ่งให้หนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวานดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของผลมะแว้งนกเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่ามะแว้งนกอาจช่วยปรับระดับของน้ำตาลในเลือด ไขมันชนิดดีและไม่ดี คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในหนูทดลองให้กลับมาอยู่ในระดับปกติได้ อีกงานวิจัยหนึ่งก็ให้หนูทดลองบริโภคสารสกัดจากใบของมะแว้งนกปริมาณ 200 และ 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 21 วัน พบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดของหนูทดลองได้เช่นกัน

มะแว้งอาจช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ แต่ผลการทดลองนี้เป็นเพียงการศึกษาในสัตว์เท่านั้น จึงไม่สามารถสรุปประสิทธิผลของมะแว้งในด้านนี้ได้อย่างชัดเจน และควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัดถึงคุณประโยชน์ของมะแว้งในการนำมารักษาโรคต่อไป

บริโภคมะแว้งอย่างไรให้ปลอดภัย ?

การบริโภคมะแว้งในรูปแบบอาหารอาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนการบริโภคมะแว้งเพื่อหวังสรรพคุณทางยานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้แนะนำวิธีการบริโภคมะแว้งในรูปแบบยาไว้ดังนี้

  • วิธีที่ 1 นำผลของมะแว้งเครือ หรือมะแว้งต้นแบบผลสดจำนวน 5-6 ผลมาล้างให้สะอาด ก่อนนำมาเคี้ยวและกลืนเข้าไปเฉพาะน้ำของมะแว้ง โดยอาจเคี้ยวจนหมดรสขมก่อนแล้วจึงคายทิ้ง
  • วิธีที่ 2 นำผลของมะแว้งเครือ หรือมะแว้งต้นแบบผลสดจำนวน 5-10 ผล มาโขลกให้พอแตก คั้นเอาแต่น้ำมาปรุงรสด้วยเกลือเพียงเล็กน้อย ก่อนนำมาจิบบ่อย ๆ เมื่อมีอาการไอ

นอกจากนี้ ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์มะแว้งในรูปแบบต่าง ๆ ที่วางขายตามท้องตลาดอาจไม่ได้มาตรฐานตามคู่มือการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาสมุนไพรมะแว้งบางชนิดอาจมีส่วนประกอบของเกลือแกง หรือน้ำมะนาวแทรกเกลือ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณเกลือในร่างกาย ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือ อ่านฉลากการใช้ยาอย่างละเอียด และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ผลิตภัณฑ์จากมะแว้งทุกครั้ง