มะเร็งโคนลิ้น (Base of the tongue cancer)

ความหมาย มะเร็งโคนลิ้น (Base of the tongue cancer)

มะเร็งโคนลิ้น (Base of the tongue cancer) เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณโคนลิ้น มักพบในเพศชายสูงอายุที่มีประวัติการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในปัจจุบันสามารถพบได้ในเพศหญิงและคนอายุน้อยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นด้วย ซึ่งทางการแพทย์คาดการณ์ว่าความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งโคนลิ้นอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชพีวี

แม้ว่ามะเร็งที่เกิดบริเวณลิ้นส่วนหน้าจะถูกจัดให้เป็นมะเร็งช่องปาก แต่มะเร็งที่เกิดบริเวณโคนลิ้นถูกจัดให้เป็นมะเร็งลำคอหรือมะเร็งคอหอยหลังช่องปาก (Oropharynx cancer) เนื่องจากมะเร็งโคนลิ้นอาจมีลักษณะการพยากรณ์โรค การรักษา และติดตามอาการที่แตกต่างจากมะเร็งช่องปากทั่วไป

มะเร็งโคนลิ้น (Base of the tongue cancer)

อาการมะเร็งโคนลิ้น

อาการของมะเร็งโคนลิ้นอาจแสดงออกมาเพียงเล็กน้อยในตอนเริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและจะเริ่มรู้ตัวก็ต่อเมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเข้าสู่ระยะลุกลามและได้แพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอแล้ว 

โดยปกติมะเร็งโคนลิ้นอาจแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • กลืนลำบาก เจ็บคอเมื่อกลืนอาหาร รู้สึกชาในปาก
  • ขยับลิ้นได้ลำบาก หรือไม่สามารถอ้าปากได้จนสุด
  • เจ็บลิ้น หรือลิ้นมีเลือดออกง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เกิดก้อน แผล หรือฝ้าสีแดงหรือสีขาวขึ้นที่ลิ้น
  • เสียงเปลี่ยน และอาการเสียงเปลี่ยนไม่หายไป
  • ปวดหู และอาการปวดหูไม่หายไป
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งโคนลิ้น

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งโคนลิ้น แต่ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) การสูบบุหรี่หรือยาสูบ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ทำให้เซลล์ในปากและลำคอเกิดการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ จนนำไปสู่การเกิดเนื้องอกตามมา

นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น 

  • เป็นเพศชายที่มีอายุมากกว่า 55 ปี 
  • เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ 
  • เคยมีประวัติการรักษาด้วยรังสีที่ศีรษะและลำคอ 
  • มีพฤติกรรมชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง 
  • รับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม 
  • มีสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี

การวินิจฉัยมะเร็งโคนลิ้น

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นโดยเริ่มจากการตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกาย ตรวจช่องปากและลำคอโดยใช้กระจกหรือกล้องขนาดเล็ก รวมถึงอาจใช้มือคลำต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอเพื่อตรวจหาก้อนเนื้อหรืออาการบวมด้วย

จากนั้นแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การตรวจ PET Scan หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูขนาดของเนื้องอกและดูว่าเนื้องอกมีการแพร่กระจายหรือไม่ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจ เพื่อหาสัญญาณของการเกิดโรคมะเร็งหรือการติดเชื้อเอชพีวีด้วย

การรักษามะเร็งโคนลิ้น

วิธีการรักษาโรคมะเร็งโคนลิ้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันของผู้ป่วยแต่ละคน ได้แก่ ขนาดและระยะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง การติดเชื้อเอชพีวี และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจใช้วิธีเดียวในการรักษาหรือใช้หลายวิธีรักษาร่วมกันตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งแต่ละวิธีจะมีความแตกต่างกันดังนี้

การผ่าตัด
มะเร็งโคนลิ้นในระยะแรกที่ยังไม่แพร่กระจายสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ในบางกรณี แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดเนื้อเยื่อออกจำนวนมากและสร้างขึ้นใหม่โดยใช้เนื้อเยื่อส่วนอื่นของร่างกายมาทดแทน และการผ่าตัดอาจส่งผลต่อการกลืนอาหารและการพูด ทำให้หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะต้องรับประทานอาหารผ่านทางสายยางแทน รวมถึงฝึกการพูดและการกลืนอาหารใหม่

การใช้รังสีรักษา
การใช้รังสีรักษาเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มักใช้รักษามะเร็งโคนลิ้น โดยอาจใช้เป็นการรักษาเดี่ยว หรือเป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัดและการทำเคมีบำบัด ในกรณีที่เซลล์มะเร็งมีขนาดใหญ่มากขึ้นหรือเกิดการแพร่กระจายไปยังบริเวณใกล้เคียงก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยรังสีอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น ปากแห้ง การรับรสเปลี่ยนไป

นอกจากนั้นก็ยังอาจใช้รังสีรักษาร่วมกับการทำเคมีบำบัด เนื่องจากเคมีบำบัดจะทำให้เซลล์มะเร็งอ่อนแอลงและสามารถใช้รังสีกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การทำเคมีบำบัด
การทำเคมีบำบัดป็นการใช้ยาเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยอาจใช้รักษาร่วมกับวิธีรังสีรักษา เพราะเคมีบำบัดจะทำให้เซลล์มะเร็งอ่อนแอลง ทำให้สามารถใช้รังสีกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงอาจใช้รักษาร่วมกับการผ่าตัด เพื่อช่วยลดขนาดของเซลล์มะเร็งก่อนการผ่าตัดหรือช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดด้วย

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่าโรคมะเร็งโคนลิ้นที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชพีวี มีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดีขึ้นเมื่อรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการใช้รังสีรักษา จึงอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการหายขาดของโรคหรือช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการรักษาได้

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งโคนลิ้น

มะเร็งโคนลิ้นที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยการขยายตัวใหญ่ขึ้นและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่น และอวัยะอื่น ๆ ของร่างกาย จนอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น และสามารถนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงและเรื้อรังต่าง ๆ ได้อีกมากมาย

นอกจากนี้ การรักษามะเร็งโคนลิ้นด้วยวิธีต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น เกิดภาวะกลืนลำบากหรือพูดลำบากหลังจากการผ่าตัด รวมถึงอาจเกิดภาวะเนื้อเยื่อช่องปากอักเสบ ปากแห้ง การรับรสเปลี่ยนไป ผิวหนังมีลักษณะคล้ายถูกแดดเผา หรือเกิดภาวะกระดูกพรุนที่ขากรรไกรล่างหลังจากการทำรังสีรักษาด้วย 

การป้องกันมะเร็งโคนลิ้น

แม้ว่ามะเร็งโคนลิ้นจะยังไม่มีวิธีที่จะสามารถป้องกันได้อย่างแน่นอน แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ ดังนี้ 

  • ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีโดยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี ซึ่งสามารถฉีดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง รวมถึงควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ทางปากและการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบหรือกัญชา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในปริมาณมาก หรือการดื่มเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งจนติดเป็นนิสัย
  • รับประทานอาหารหลัก 5 หมู่อย่างครบถ้วนและเหมาะสม รวมถึงควรออกกำลังกายอยู่เสมอ
  • รักษาสุขอนามัยภายในช่องปากและไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากมีสัญญาณของการเกิดมะเร็งโคนลิ้น ทันตแพทย์อาจตรวจพบได้เร็วและทำให้เราสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที