มะเร็งลิ้น (Tongue Cancer)

ความหมาย มะเร็งลิ้น (Tongue Cancer)

มะเร็งลิ้น เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งช่องปาก ซึ่งเกิดจากเซลล์ภายในลิ้นเจริญเติบโตมากผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อและเกิดแผลบริเวณลิ้น อีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ อย่างคอหรือต่อมน้ำเหลืองได้ โดยมะเร็งลิ้นมักเกิดจากการสูบยาสูบและการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่วนมากมักเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

1753 มะเร็งลิ้น rs

อาการของมะเร็งลิ้น

ในระยะแรกอาจยังไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ ที่เป็นอาการของมะเร็งลิ้น แต่อาการแรกเริ่มที่อาจสังเกตได้ คือ ผู้ป่วยจะมีแผลเรื้อรังบริเวณลิ้น เจ็บลิ้นและมีเลือดออกง่าย บริเวณนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดง บางรายอาจปวดบริเวณปากและลิ้นด้วย

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น

  • มีฝ้าสีขาวหรือสีแดงบนลิ้นที่ไม่หายไป
  • เจ็บคอเรื้อรัง
  • ปากชาเรื้อรัง
  • เจ็บเมื่อกลืนอาหาร
  • เลือดออกที่ลิ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เกิดก้อนที่ลิ้น

ทั้งนี้ หากเกิดแผลบริเวณลิ้นหรือในปาก โดยอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

สาเหตุของมะเร็งลิ้น

สาเหตุของโรคมะเร็งลิ้นนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มะเร็งลิ้นมักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป โดยพบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิงหรือเด็ก

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเกิดมะเร็งลิ้นอาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ดังนี้

  • การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาสูบชนิดเคี้ยว
  • การเคี้ยวหมาก
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลิ้นและมะเร็งชนิดอื่น ๆ
  • มีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งช่องปากหรือมะเร็งลิ้น
  • การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยการศึกษาบางส่วนพบว่าการรับประทานอาหารที่มีผักและผลไม้น้อยอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งช่องปาก
  • สุขภาพในช่องปากไม่ดี เช่น ขาดการดูแลฟันและเหงือก ฟันปลอมไม่พอดีกับฟัน ฟันแตก เป็นต้น
  • การเจ็บป่วยด้วยโรคซิฟิลิส และโรคตับแข็ง

การวินิจฉัยมะเร็งลิ้น

หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการของมะเร็งลิ้น แพทย์จะวินิจฉัยโรคด้วยวิธีดังนี้

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย แพทย์จะสอบถามถึงอาการผิดปกติและประวัติสุขภาพของผู้ป่วย เช่น ประวัติการเป็นโรคมะเร็งของคนในครอบครัว พฤติกรรมในการดื่มแอลกอฮอล์หรือการสูบบุหรี่ การตรวจหาเชื้อเอชพีวี เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจช่องปาก ตรวจต่อมน้ำเหลือง และตรวจร่างกายทั่วไปด้วย
  • การตรวจจากภาพถ่ายภาพทางรังสี เพื่อหาตำแหน่งของการเกิดมะเร็ง และประเมินการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยอาจใช้หลายวิธี เช่น ซีทีสแกน (CT Scan) เอ็มอาร์ไอสแกน (MRI Scan) และเอกซเรย์ (X-Ray) เป็นต้น
  • การตรวจชิ้นเนื้อ กรณีที่คาดว่าผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งลิ้น แพทย์อาจตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณลิ้นไปตรวจหาเซลล์มะเร็งในห้องปฏิบัติการ

เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งลิ้น ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการประเมินระยะของโรคตามรายละเอียด ดังนี้

  • T คือ ขนาดของเนื้องอก โดยจะเรียงตามลำดับจากเล็กไปใหญ่ ตั้งแต่ T1-T4
  • N คือ ระดับการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง โดย N0 คือ ไม่แพร่กระจาย ไปจนถึง N3 คือ แพร่กระจายมาก
  • M คือ การแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ

นอกจากนี้ แพทย์อาจแบ่งระดับการลุกลามของเซลล์มะเร็งออกเป็น  3 ระดับ คือ ระดับต่ำสุด ปานกลาง และระดับสูงสุด โดยแบ่งตามความรุนแรงและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

การรักษามะเร็งลิ้น

การรักษาโรคนี้จะขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอก ตำแหน่ง หรือการแพร่กระจายของเนื้อร้าย โดยแพทย์อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการรักษา หรืออาจใช้หลายวิธีร่วมกันก็ได้ ดังนี้

การผ่าตัด เป็นการรักษามาตรฐานที่นิยมใช้ สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อมะเร็งขนาดเล็กและยังไม่แพร่กระจาย แพทย์จะทำการผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อนำเฉพาะก้อนเนื้อมะเร็งที่อยู่บริเวณลิ้นออกไป แต่ในกรณีที่ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่หรือแพร่กระจายไปส่วนอื่น แพทย์อาจต้องตัดบางส่วนของลิ้น เนื้อเยื่อ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออกไปด้วย บางกรณีแพทย์อาจต้องผ่าตัดนำเนื้อขนาดใหญ่ออกไป เพื่อให้เนื้องอกทั้งหมดถูกทำลาย ซึ่งอาจต้องนำผิวหนังหรือเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นมาปิดและตกแต่งบริเวณแผล

การทำรังสีบำบัด เป็นการใช้รังสีเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยมักใช้ในกรณีที่เนื้องอกมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรืออยู่ในบริเวณที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งบริเวณโคนลิ้น

การทำเคมีบำบัด เป็นการใช้ยาในหลายรูปแบบ เพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจเป็นการรับประทานยาหรือฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ โดยวิธีนี้มักใช้ร่วมกับการผ่าตัดหรือรังสีบำบัด

การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง เป็นการใช้ยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตหรือการแพร่กระจายของมะเร็ง โดยการรักษาวิธีนี้มักใช้ร่วมกับเคมีบำบัดและรังสีบำบัด

การบำบัดแบบ Photodynamic Therapy เป็นการใช้ยาและแสงเลเซอร์ฉายเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะใช้ยาเพื่อให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อมะเร็งมีความไวต่อแสง แล้วจึงฉายแสงเลเซอร์เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยวิธีนี้สามารถควบคุมการแพร่กระจายของมะเร็งได้เพียงชั่วคราวในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล

หลังจากรักษามะเร็งลิ้นแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องรับการบำบัดหรือเข้ารับการฟื้นฟูเพื่อให้การใช้งานของลิ้นกลับมาเป็นปกติ โดยแพทย์อาจต้องต่อสายยางให้อาหารหากผู้ป่วยมีปัญหาในการกลืนหรือการรับประทานอาหาร อีกทั้งผู้ป่วยต้องเลิกสูบบุหรี่เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งลิ้นซ้ำอีกครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งลิ้น

มะเร็งลิ้นสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายแบบ ดังนี้

  • กลืนลำบาก หากมีปัญหาในการกลืน แพทย์อาจให้ต่อสายสวนไปยังกระเพาะอาหารชั่วคราว เพื่อช่วยให้บริโภคอาหารได้ง่ายขึ้น
  • มีปัญหาในการพูด การใช้รังสีในการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยออกเสียงได้ไม่ชัดเจน ซึ่งเกิดจากรังสีส่งผลต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก ลิ้น ฟัน และเพดานอ่อน เป็นต้น
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยอาจเกิดปัญหาทางด้านอารมณ์ในระหว่างที่กำลังป่วย โดยเฉพาะภาวะโรลเลอร์โคสเตอร์ (Roller Coaster Effect) ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่บ่อยครั้ง บางรายจึงอาจเกิดภาวะซึมเศร้า หรือมีผลกระทบต่อจิตใจด้านอื่น ๆ ได้ด้วย
  • มะเร็งแพร่กระจายไปบริเวณอื่น มะเร็งลิ้นในระยะลุกลามอาจนำไปสู่การแพร่กระจายไปยังบริเวณอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย

การป้องกันมะเร็งลิ้น

แม้อาจยังไม่มีวิธีการป้องกันที่แน่ชัด แต่อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลิ้น ดังนี้

  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี
  • ไม่สูบบุหรี่ หรือไม่เคี้ยวยาสูบ
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
  • รักษาความสะอาดภายในช่องปาก เช่น ดูแลสุขภาพฟันและเหงือก เป็นต้น
  • หากใส่ฟันปลอม ควรใส่ให้พอดีกับฟัน
  • ควรไปพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน
  • เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ควรป้องกันเสมอ โดยเฉพาะการออรัลเซ็กส์หรือการร่วมเพศทางปาก
  • เพิ่มปริมาณการรับประทานผักหรือผลไม้ให้มากขึ้น