ภูมิแพ้ผิวหนัง รักษาได้ไม่ยากหากรู้สาเหตุ

ภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นการอักเสบของผิวหนังที่ทำให้เกิดผื่นตามบริเวณต่าง ๆ สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในวัยเด็กมากกว่าช่วงอื่น ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรัง อาการกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อยครั้ง

ทารกที่ป่วยเป็นภูมิแพ้ผิวหนังอาจมีผื่นแดง ผิวลอก ตุ่มพองและตกสะเก็ดบริเวณแก้ม หนังศีรษะ รวมทั้งแขนและขา ส่วนในเด็กและผู้ใหญ่มักพบผื่นคันตามผิวหนังบริเวณส่วนท้ายทอย ข้อพับ และข้อศอก ซึ่งอาจลุกลามไปส่วนอื่นๆ เช่น ใบหน้า แขน ข้อมือ เป็นต้น ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการรุนแรงแตกต่างกัน หากมีอาการเพียงเล็กน้อยอาจพบเพียงผิวแห้งจุดเล็ก ๆ และอาการคันเป็นบางครั้ง หากอาการรุนแรง อาจส่งผลให้ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เกิดผื่นแดงทั่วร่างกาย และมีอาการคันอย่างต่อเนื่อง 

ภูมิแพ้ผิวหนัง

กลไกของการเกิดภูมิแพ้ผิวหนัง

ภาวะภูมิแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ มากผิดปกติ จึงกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทานออกมาต่อต้านและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ภายในร่างกาย ส่งผลให้มีอาการแพ้และระคายเคืองเกิดขึ้นตามผิวหนัง โดยที่ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีลักษณะอาการ ตำแหน่งรอยโรค และความรุนแรงแตกต่างกันไป

หลายคนอาจสงสัยว่าภูมิแพ้ผิวหนังกับผิวหนังแพ้ง่ายเหมือนกันหรือไม่ ซึ่งแท้จริงแล้ว ผิวหนังแพ้ง่ายเป็นภาวะที่ผิวหนังไวต่อการกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าบางประเภท ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอย่างสบู่ ครีมอาบน้ำ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว เป็นต้น ซึ่งหลายคนอาจทราบว่าตนเองมีผิวหนังที่แพ้ง่ายก็ต่อเมื่อเกิดอาการหลังสวมใส่เสื้อผ้าหรือใช้ผลิตภัณฑ์ตามที่กล่าวมาข้างต้น

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ผิวหนัง

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคภูมิแพ้ผิวหนังได้ เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวผู้ป่วยเอง โรคประจำตัวในครอบครัว รวมถึงการอยู่อาศัยในบริเวณที่มีอากาศเย็นหรือมลภาวะสูง ทั้งนี้ การแพ้อาหารไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนัง แต่โรคดังกล่าวอาจไปเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้อาหารมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้อาจไปกระตุ้นให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

  • อาหารบางประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์นม ไข่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์บางชนิด เป็นต้น
  • เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะที่ทำจากขนสัตว์หรือมีลักษณะหยาบอาจจะทําให้เกิดการคันเพิ่มขึ้น
  • สบู่ ครีม โลชั่น และผงซักฟอกที่ใช้อยู่เป็นประจํา เพราะอาจมีส่วนประกอบที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองแก่ผิวหนัง ทําให้เกิดอาการคัน มีผื่นแพ้ ผิวหนังอักเสบได้ง่าย
  • เชื้อโรคอย่างแบคทีเรียหรือเชื้อรา อาจทําให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนัง ส่งผลให้ผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิมมีอาการรุนแรงมากขึ้น
  • การเปลี่ยนฤดกาล โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่มีอากาศแห้งและเย็น บางรายอาจมีอาการรุนแรงในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากมีเหงื่อออกมาก จึงทำให้เกิดผื่นแพ้และอาการคันตามมา
  • สารก่ออาการแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ไรฝุ่น เป็นต้น
  • ควันบุหรี่
  • ยางที่ใช้ผลิตขวดนมและจุกนม หรือลูกโป่ง
  • เครื่องสำอาง หรือน้ำหอม
  • ความเครียดและอาการวิตกกังวล

ภูมิแพ้ผิวหนังรักษาได้อย่างไร

ในเบื้องต้น ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการคันได้โดยงดรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งหากเกิดขึ้นกับเด็กหรือทารกควรปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการก่อนเสมอเพื่อไม่ให้ลูกน้อยขาดสารอาหารที่จำเป็นในแต่ละวัน หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิร้อนหรือเย็นจัด หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศร้อน หรือหันมาใช้ออยล์ ครีม หรือขี้ผึ้งบำรุงผิวหนังให้คงความชุ่มชื้นอยู่เป็นประจำ

หากปฎิบัติตามวิธีการเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย กรณีพบว่าป่วยเป็นโรคนี้จริง แพทย์อาจรักษาด้วยยาทาภายนอกอย่างครีมหรือขี้ผึ้งที่มีไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ฤทธิ์อ่อน ช่วยลดอาการคันและการอักเสบ ทั้งนี้ ควรอ่านฉลากก่อนใช้งานทุกครั้งและไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด เพราะอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ 

สำหรับผู้ป่วยที่กังวลเรื่องผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์ หรือผู้ป่วยเด็กทารกที่แพทย์แนะนำให้เลี่ยงการใช้ยาประเภทดังกล่าว อาจเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสเตียรอยด์ซึ่งอาจมีส่วนผสมดังนี้

  • ครีมที่มีส่วนประกอบของเซราไมด์ (Ceramide) การเสริมสร้างชั้นไขมัน (Lipid Lamella) ด้วยเซราไมด์ ช่วยฟื้นฟูเกราะป้องกันให้กับผิวหนัง กักเก็บความชุ่มชื้นภายในผิวหนัง ป้องกันผิวแห้ง ระคายเคืองหรือคัน และปกป้องผิวหนังชั้นนอกจากผลกระทบของสภาพอากาศหรือมลพิษ  
  • ครีมที่มีส่วนผสมของโปรวิตามิน บี5 (Provitamin B5) มีคุณสมบัติต้านอาการอักเสบ ช่วยเสริมสร้างกระบวนการฟื้นฟูผิว เพิ่มความชุ่มชื้นและยืดหยุ่นของผิว และอาจบรรเทาอาการแดงหรือระคายเคืองตามผิวหนัง 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่อาการจากภูมิแพ้ผิวหนังไม่ทุเลาลงหลังใช้ผลิตภัณฑ์ข้างต้น มีการติดเชื้อแทรกซ้อนเกิดขึ้นตามผิวหนัง หรืออาการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการนอนหลับและกิจกรรมระหว่างวัน  ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมและรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว