ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia)

ความหมาย ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia)

Anhedonia หรือภาวะสิ้นยินดี เป็นอาการผิดปกติทางจิตเวชที่ผู้ป่วยจะเฉยชาต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง มักพบได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์ แต่ก็อาจเป็นผลจากโรคทางกายหรือพบในคนปกติทั่วไปได้เช่นเดียวกัน อาการของภาวะนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และเพศหญิงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Anhedonia มากกว่าเพศชาย

ภาวะ Anhedonia สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social Anhedonia) ที่ผู้ป่วยไม่ต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และภาวะสิ้นยินดีทางร่างกาย (Physical Anhedonia) ที่ผู้ป่วยรู้สึกไม่มีความสุขหรือไม่เพลิดเพลินต่อการทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งในภาวะปกติสามารถสร้างความพึงพอใจให้ได้ เช่น การรับประทานอาหาร การอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น การทำกิจกรรม เป็นต้น

Side,View,Young,Woman,Looking,Away,At,Window,Sitting,On

อาการของ Anhedonia

อาการของ Anhedonia จะแตกต่างกันไปและผู้ป่วยอาจไม่สามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยทั่วไป ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะ Anhedonia จะแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • รู้สึกเฉื่อย ๆ เฉยชาหรือไม่มีความรู้สึกต่อสิ่งรอบข้าง
  • เก็บตัวหรือแยกตัวออกจากสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างน้อยลง
  • มีอาการของโรคกลัวสังคม (Social Anxiety)
  • เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง
  • มีความคิดด้านลบต่อตนเองและผู้อื่น
  • แสดงออกด้านอารมณ์ทั้งทางการกระทำและคำพูดน้อยลง
  • ไม่ยิ้มหรือมีความสุขกับสิ่งที่เคยชื่นชอบ
  • ฝืนที่จะต้องแสดงอารมณ์ต่าง ๆ 
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • เกิดความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายอยู่บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานานหรือสงสัยว่าตนเองอาจป่วยด้วยภาวะ Anhedonia ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

สาเหตุของ Anhedonia

ภาวะ Anhedonia คาดว่าอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสมองในการผลิตหรือตอบสนองอย่างผิดปกติต่อสารโดปามีน (Dopamine) ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกดีหรือพึงพอใจ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้หรือมีความสุข ส่วนใหญ่แล้วภาวะ Anhedonia จะพบได้มากในผู้ที่มีผิดปกติทางจิต เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นต้น รวมถึงผู้ที่ใช้ยาต้านเศร้า (Antidepressant) หรือยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) และอาจพบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือผู้ที่ใช้สารเสพติดด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ คือ เป็นเพศหญิง มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคการกินผิดปกติ (Eating Disorder) เคยมีประวัติการใช้สารเสพติด เคยถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้ง เพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่ตึงเครียดหรือกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เจ็บป่วยด้วยโรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตหรือป่วยด้วยโรคที่มีความรุนแรง

การวินิจฉัย Anhedonia

จิตแพทย์จะตรวจประวัติทางการแพทย์และสอบถามเกี่ยวกับอาการและอารมณ์ทั่วไปของผู้ป่วยเกี่ยวกับความคิด อารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมต่าง ๆ ก่อนจะตรวจร่างกายเพื่อหาโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ แพทย์อาจเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภาวะขาดวิตามินหรือปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เพราะอาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์ได้

การรักษา Anhedonia

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะ Anhedonia โดยตรง แต่ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง หากผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติด้านร่างกายหรือสงสัยว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติทางสุขภาพจิต แพทย์อาจส่งต่อการรักษาไปยังจิตแพทย์ นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการบำบัด โดยมีทั้งในรูปแบบของการพูดคุยหรือการรับประทานยา โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะ Anhedonia ร่วมกับโรคซึมเศร้ามีจะอาการดีขึ้นพร้อมกับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาเหล่านั้น แพทย์อาจรักษาโดยการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation: TMS) การใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve Stimulation: VNS) และการรักษาด้วยกระแสไฟฟ้าด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy: ECT) ซึ่งพบว่าได้ผลดีในการรักษาผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า 

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาเคตามีน (Ketamine) ในบางรายเนื่องจากมีการทดลองใช้ยาชนิดนี้แล้วพบว่าเป็นผลดีต่อผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การใช้เคตามีนในการรักษาภาวะ Anhedonia ยังอยู่ระหว่างการค้นคว้าและวิจัย

ภาวะแทรกซ้อนของ Anhedonia

หากไม่รับการรักษาที่เหมาะสม ภาวะ Anhedonia อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย มีปัญหาด้านอารมณ์และด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะ Anhedonia ร่วมกับปัญหาด้านสุขภาพจิต

การป้องกัน Anhedonia

โดยทั่วไปแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพจิตยังคงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถป้องกันได้ และอาจเกิดได้จากปัจจัยหลาย ๆ อย่างรวมกัน แต่หากสังเกตเห็นว่าอาการต่าง ๆ คล้ายกับภาวะ Anhedonia หรือปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาและหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม และรับความช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อน เพื่อให้คนรอบข้างสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมทั้งควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนอย่างเพียงพอ และดูแลสุขภาพจิตของตนเองอยู่เสมอ