ผื่นแพ้ผิวหนังเดอร์มาโทกราเฟีย (Dermatographia)

ความหมาย ผื่นแพ้ผิวหนังเดอร์มาโทกราเฟีย (Dermatographia)

Dermatographia เป็นผื่นแพ้ผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกหรือผื่นลมพิษเรื้อรัง ผิวหนังจะไวต่อสิ่งรบกวนมากผิดปกติ แม้ถูกรอยขีดข่วนเบา ๆ อาจทำให้ปฏิกิริยาเกิดขึ้นทันที โดยอาจเกิดเป็นรอยขีดขาวบนผิวหนัง หรือมีรอยแดงและนูนขึ้นตามรอยขีดข่วน แต่รอยนูนนี้จะค่อย ๆ ยุบลงเป็นปกติภายในเวลาประมาณ 30–60 นาที 

Dermatographia สามารถพบได้ทุกช่วงวัย แต่พบบ่อยในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยสาเหตุของผื่นชนิดนี้ไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อ การแพ้ การได้รับยาบางชนิด รวมทั้งอารมณ์และความเครียด ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่ได้เข้ารับการรักษาเนื่องจากอาการจะดีขึ้นได้เอง แต่หากมีอาการเรื้อรังจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจให้ยาแก้แพ้เพื่อช่วยบรรเทาอาการ

Dermatographic,Urticaria,(also,Known,As,Dermographism,,Dermatographism,Or,"skin,Writing")

อาการของ Dermatographia

โดยปกติแล้ว อาการของ Dermatographia จะไม่เกิดขึ้นเอง แต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของผิวหนังต่อการขีดข่วน เสียดสี หรือสัมผัสถูกสิ่งต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตนเองเป็นจนกว่าจะเกิดอาการบนผิวหนัง โดยอาการที่พบได้มีดังนี้

  • ผิวมีรอยแดง
  • ผิวมีรอยคล้ายกับการลากดินสอขีดเป็นเส้น
  • มีแผลลึก
  • มีรอยยาวบนผิวหนังคล้ายโรคลมพิษ
  • รู้สึกคันผิวหนังในบริเวณที่มีอาการ
  • ผิวหนังบวมหรืออักเสบ

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการไม่กี่นาทีหลังการเสียดสีหรือขีดข่วนที่ผิวหนัง แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเองภายใน 30 นาที ในบางกรณีอาการอาจคงอยู่หลายชั่วโมงหรือหลายวัน ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรังกินระยะเวลาหลายเดือนหรือหลายปี โดยจะมีอาการอีกครั้งเมื่อผิวหนังได้รับการกระตุ้นหรือการเสียดสี หากรู้สึกว่าอาการเหล่านี้ทำให้ไม่สบายตัวและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา

สาเหตุของ Dermatographia

สาเหตุของ Dermatographia ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการที่ร่างกายปล่อยสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมากกว่าปกติ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างฮิสตามีนขึ้นมาเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และทำให้ผิวหนังมีรอยเส้นนูนแดง

ทั้งนี้ ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเดอร์มาโทกราเฟียหรือทำให้อาการรุนแรงขึ้น ได้แก่

  • ความเครียดและความกังวล
  • สภาวะที่มีอุณหภูมิสูง อย่างการอาบน้ำหรือแช่น้ำร้อน
  • การสัมผัสกับอากาศเย็น
  • การออกกำลังกายที่ทำให้เกิดการเสียดสีของผิวหนัง เช่น ต่อยมวย รักบี้ หรือมวยปล้ำ เป็นต้น
  • แรงกดที่ผิวหนัง เช่น การปรบมือ การสวมเสื้อผ้า การเช็ดตัวหลังอาบน้ำ การนั่งหรือนอน และการทำงานที่ใช้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นต้น
  • การติดเชื้อบางอย่างที่ผิวหนัง
  • การใช้ยาบางชนิด อย่างยาเพนนิซิลิน (Penicillin)

นอกจากนี้ Dermatographia อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น สภาพผิวแห้ง ชอบเกาผิวหนัง มีประวัติของโรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) โรคไทรอยด์เป็นพิษ มีความผิดปกติของระบบประสาทหรือระบบอื่น ๆ ในร่างกาย และมีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

การวินิจฉัย Dermatographia

การวินิจฉัยภาวะเดอร์มาโทกราเฟีย แพทย์จะสอบถามอาการ การทำกิจกรรม หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย และตรวจผิวหนังด้วยการใช้ไม้กดลิ้นกดหรือขูดเบา ๆ บริเวณแขนหรือหลังของผู้ป่วยเพื่อตรวจดูรอยกดหรือเส้นนูนแดงบนผิวหนัง โดยทั่วไป อาการจะปรากฏให้เห็นภายในระยะเวลา 5–7 นาที ก่อนจะค่อย ๆ หายไป และแพทย์อาจตรวจผิวหนังบริเวณอื่นที่อาจมีอาการเพิ่มเติม โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดหรือเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยอาการ

การรักษา Dermatographia

เนื่องจากอาการของ Dermatographia จะหายได้เองภายในระยะเวลา 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจึงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ดังนี้

  • สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ และใส่สบาย 
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่ร้อนจัด และเช็ดตัวให้แห้งหลังอาบน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการเกาผิวหนัง
  • ใช้ครีมอาบน้ำและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีอ่อนโยนต่อผิว หรือมีส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น ข้าวโอ๊ต ว่านหางจระเข้ และทีทรี ออยล์ (Tea Tree Oil)
  • จัดการกับความเครียดด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นั่งสมาธิ และเล่นโยคะ
  • ในกรณีที่สงสัยว่ายาที่รับประทานอาจทำให้เกิดอาการของโรค ควรหยุดรับประทานยาและปรึกษาแพทย์ 

หากอาการของโรครุนแรงหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย แพทย์อาจแนะนำยาต้านฮิสตามีนชนิดทาหรือชนิดรับประทาน เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ เช่น ยาลอราทาดีน (Loratadine) ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) และยาเซทิริซีน (Cetirizine) ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 2–3 เดือน จึงจะช่วยป้องกันการเกิดอาการของโรคซ้ำ

ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้รังสีในการรักษาโรคผิวหนัง อย่างโรคสะเก็ดเงิน 

ภาวะแทรกซ้อนของ Dermatographia

โดยทั่วไป Dermatographia มักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการเรื้อรังไม่หายขาด และมีอาการคงอยู่เป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งจะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

การป้องกัน Dermatographia

Dermatographia อาจไม่มีวิธีป้องกันได้โดยตรง แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าหรือใช้เครื่องนอนที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง โดยเฉพาะผ้าใยสังเคราะห์หรือผ้าขนสัตว์ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป โดยควรอาบน้ำเย็นหรือน้ำอุ่น
  • ใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำที่ไม่ผสมน้ำหอม เนื่องจากอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้ง่ายขึ้น
  • ทามอยส์เจอไรเซอร์ อย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ทันทีหลังอาบน้ำจะช่วยให้ผิวชุ่มชื้นและไม่แห้งตึง
  • ใช้เครื่องทำความชื้นในห้องเมื่อรู้สึกว่าอากาศเย็นและแห้งจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการเกาผิวหนังเพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคได้ง่าย และหากมีผื่นหรือมีอาการคันผิวหนังควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา
  • หลีกเลี่ยงความเครียด และดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ