ผื่นรูปเหรียญ (Nummular Dermatitis)

ความหมาย ผื่นรูปเหรียญ (Nummular Dermatitis)

ผื่นรูปเหรียญ (Nummular Dermatitis) เป็นโรคเรื้อรังทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีผิวแห้ง โดยรอยโรคจะมีลักษณะเป็นผื่นนูนรูปวงกลมคล้ายเหรียญ อาจเป็นสีแดง ชมพู หรือน้ำตาล และมักมีอาการคันผิวหนังร่วมด้วย

ผื่นรูปเหรียญเป็นโรคผิวหนังที่พบในเพศชายได้มากกว่าเพศหญิง ถึงแม้ว่าการรักษาจะช่วยให้อาการดีขึ้นและหายได้ แต่ผู้ป่วยมักกลับมาเป็นซ้ำอีก โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณเดิมที่เคยเกิดอาการ

ผื่นรูปเหรียญ (Nummular Dermatitis)

อาการของผื่นรูปเหรียญ

ผื่นรูปเหรียญมักพบได้บริเวณขา แขนส่วนล่าง และหลังมือ โดยในระยะแรกเริ่มจะเกิดผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ หรือแผลพุพองตามผิวหนัง จากนั้นจะเริ่มตกสะเก็ดและเกาะรวมกันเป็นกลุ่มในลักษณะวงกลมคล้ายเหรียญ ซึ่งสีของผื่นในช่วงนี้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสีผิวของผู้ป่วย โดยผู้ที่มีผิวขาวจะพบว่าผื่นมีสีออกชมพูหรือแดง ส่วนผู้ที่มีผิวเข้มจะพบว่าผื่นมีสีออกน้ำตาลเข้มหรืออาจมีสีอ่อนกว่าสีผิวหนังรอบข้าง

หลังจากนั้นผื่นจะเริ่มบวม พุพอง และมีน้ำเหลืองซึมออกมา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการคันขั้นรุนแรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน จากนั้นแผลจะเริ่มยุบ แห้ง ตกสะเก็ด แตกออก และค่อย ๆ ดีขึ้น โดยบริเวณตรงกลางแผลมักเป็นบริเวณที่หายก่อน และสีของผิวหนังที่เคยเกิดแผลจะแตกต่างจากสีผิวปกติไป

ผู้ที่มีอาการข้างต้นหรือเกิดผื่นบวมที่มีอาการคันร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนังอื่นได้เช่นกัน เช่น โรคกลากหรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการอื่นที่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น รอยตกสะเก็ดสีเหลือง บวม พบรอยเส้นสีแดง หรือสีน้ำตาลบนผิวหนัง มีอาการปวด หรือมีหนอง 

สาเหตุของผื่นรูปเหรียญ

ทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดผื่นรูปเหรียญ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลค็อคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) หรือมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น เช่น

  • มีสภาพผิวแห้ง หรือใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้ผิวแห้ง เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) ยาไรบาวิริน (Ribavirin) หรือกลุ่มยาสแตติน (Statins) 
  • สภาพอากาศที่แห้ง ร้อน และชื้น
  • ผิวหนังติดเชื้อ
  • ผิวหนังเกิดแผล หรือถูกแมลงกัดต่อย
  • ความเครียดระดับรุนแรง
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป

นอกจากนี้ โรคผื่นรูปเหรียญยังมักพบได้ในกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม เช่น ผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปี ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 30 ปี เด็กที่ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังขั้นรุนแรง ผู้ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองไวเกินต่อสารปรอทหรือโลหะในสารอุดฟัน มีประวัติของคนในครอบครัวป่วยเป็นไข้ละอองฟาง โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และโรคหืด

รวมถึงผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) หรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า (Stasis Dermatitis) 

การวินิจฉัยผื่นรูปเหรียญ

แพทย์จะตรวจดูบริเวณที่เกิดผื่น ร่วมกับสอบถามประวัติทางด้านสุขภาพของผู้ป่วยก็เพียงพอจะวินิจฉัยได้ เนื่องจากลักษณะของผื่นรูปเหรียญมีความจำเพาะและค่อนข้างแตกต่างจากโรคผื่นชนิดอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีตรวจทางการแพทย์บางอย่างร่วมด้วยในบางกรณี เพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น การนำเนื้อเยื่อตัวอย่างไปตรวจ (Biopsy) การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง และการเก็บตัวอย่างเยื่อเมือกบริเวณผื่นไปตรวจ (Swab Test)

การรักษาผื่นรูปเหรียญ

ในการรักษาผื่นรูปเหรียญ แพทย์จะมุ่งเน้นไปที่การรักษารอยผื่นและบรรเทาอาการต่าง ๆ อย่างอาการผิวแห้ง อาการอักเสบ รวมถึงการรักษาตามอาการของผู้ป่วย โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น

  • การใช้สารเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง (Emollients) เช่น การทาครีมที่มีสารช่วยให้ผิวชุ่มชื้น (Moisturizer) หรือการใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่แพทย์แนะนำ 
  • การใช้ยาสเตียรอยด์ ทั้งในรูปแบบยาทา ยารับประทาน และยาฉีด
  • ยาแก้แพ้หรือแอนติฮิสตามีน (Antihistamines) เพื่อบรรเทาอาการคันผิวหนัง
  • การใช้ยารับประทาน เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) 

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันร่วมด้วย เช่น หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน จัดการกับความเครียด และหลีกเลี่ยงการเการอยผื่น

ทั้งนี้ เนื่องจากผื่นรูปเหรียญเป็นโรคเรื้อรังที่ใช้เวลาในการรักษา และในบางกรณีแพทย์อาจปรับเปลี่ยนวิธีการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่แพทย์เห็นว่าผื่นอาจมีสาเหตุมาจากปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

ภาวะแทรกซ้อนของผื่นรูปเหรียญ

ผู้ป่วยผื่นรูปเหรียญที่เกาแผลอาจส่งผลให้แผลเปิด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจอยู่ตามเล็บหรือผิวหนังที่สัมผัสกับแผลได้

การป้องกันผื่นรูปเหรียญ

การป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดผื่นรูปเหรียญอาจทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารช่วยให้ผิวชุ่มชื้น อย่าง Moisturizer แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอม และสารก่อภูมิแพ้เป็นส่วนผสม
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่ร้อนจนเกินไป
  • ใช้เครื่องทำความชื้นในที่พักอาศัย
  • ควบคุมความเครียด
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงหรือควบคุมปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้