ผักโขมมีสรรพคุณทางยา รักษาโรคได้จริงหรือ?

ผักโขม หรือ ผักขม ชื่อภาษาอังกฤษคือ Amaranth ทว่าหลายคนมักสับสนกับผักอีกชนิดที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน เรียกว่าปวยเล้ง (Spinach) โดยผักโขมหรือผักขมนี้ไม่ได้มีรสขมดังชื่อ ทั้งยังนิยมนำมาประกอบอาหารต่าง ๆ เช่น ผักโขมลวกจิ้มน้ำพริก ผัดผักโขม หรือแกงจืดผักโขม เป็นต้น

ผักโขม

นอกจากประโยชน์ในการทำอาหาร ผักโขมยังเป็นพืชที่เชื่อกันว่ามีสรรพคุณรักษาหรือป้องกันโรคบางชนิด เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง และลดระดับคอเลสเตอรอล ทว่าข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผักโขมในปัจจุบันกล่าวถึงสรรพคุณที่เชื่อกันเหล่านี้ว่าอย่างไรบ้าง

ลดคอเลสเตอรอล สรรพคุณยอดนิยมของผักโขมนั้นเชื่อกันว่าจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล เนื่องจากพืชในตระกูลผักโขมมีสารประกอบอย่างโทโคไตรอีนอล (Tocotrienols) และสควอลีน (Squalene) ที่น่าจะส่งผลต่อกลไกการสร้างคอเลสเตอรอลในร่างกาย ทำให้มีงานวิจัยบางชิ้นที่ทำการทดลองโดยใช้สัตว์ ซึ่งก็พบว่าสารดังกล่าวในผักโขมอาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลง

ตัวอย่างการศึกษาที่สนับสนุนคุณสมบัตินี้ของผักโขม พบว่าหนูที่ได้รับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลร่วมกับเมล็ดผักโขมหรือน้ำมันผักโขมต่างมีคอเลสเตอรอลในตับและระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลง และเมื่อทดลองฉีดสารละลายน้ำเกลือ สารสควอลีนจากผักโขม หรือสารสควอลีนจากตับฉลามในปริมาณเท่า ๆ กันให้กับหนูที่กินอาหารคอเลสเตอรอลสูง ผลชี้ว่าสารสควอลีนจากผักโขมอาจมีประสิทธิภาพในการลดระดับคอเลสเตอรอลด้วยการช่วยเพิ่มการขับถ่ายคอเลสเตอรอลและกรดน้ำดี ในขณะที่ไม่พบผลลัพธ์ในหนูที่ได้รับสารละลายน้ำเกลือหรือสารสควอลีนจากตับฉลาม

เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยที่ชี้ว่าน้ำมันผักโขมมีประสิทธิภาพช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในหนูที่กินอาหารมีคอเลสเตอรอลสูง ส่วนเมล็ดผักโขมนั้นให้ผลแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือนอกจากจะส่งผลให้ไขมันชนิดไม่ดีลดลงแล้วก็ยังเพิ่มไขมันชนิดดีด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ผลการศึกษาในสัตว์จะให้ผลดี แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุถึงประโยชน์ของผักโขมด้านนี้ในมนุษย์ได้ เพราะจำเป็นต้องใช้ข้อมูลการวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก

ต้านเบาหวาน ประโยชน์ของผักโขมต่อการรักษาหรือป้องกันโรคเบาหวานอย่างเฉพาะเจาะจงในคนยังไม่ปรากฎผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือนัก แต่มีงานวิจัยที่พบว่าผักโขมมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในหญิงวัยทอง และยังพบว่าผงสกัดจากใบผักโขมช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งต่อไปหากมีการพิสูจน์กับคนโดยตรงในด้านนี้แล้วยืนยันได้ว่าให้ผลดีจริง ก็ไม่แน่ว่าผักโขมอาจมีประโยชน์ในการช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้

การทดสอบคุณสมบัติของผักโขมต่อการต้านโรคเบาหวานโดยตรงในปัจจุบันมีเพียงการทดลองในสัตว์ โดยใช้สารสกัดด้วยเมทานอลจากใบของผักโขมหนาม ผักโขมแดง หรือผักโขมหัด ผลปรากฏว่าผักโขมทั้ง 3 ชนิดต่างมีคุณสมบัติต้านเบาหวานและการเกิดไขมันในเลือดสูง นับว่าเป็นแนวทางการศึกษาที่น่าสนใจเพื่อต่อยอดสู่การวิจัยในมนุษย์ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอให้มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

ลดความดันโลหิต ความเชื่อที่ว่าผักโขมอาจช่วยในการรักษาความดันโลหิตสูงอาจมีที่มาจากผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งทดลองให้ไก่กินน้ำมันผักโขมแล้วพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลดน้อยลง เนื่องจากน้ำมันผักโขมส่งผลให้เกิดการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและระดับความดันโลหิต ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ต่างเป็นปัจจัยให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ในการป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นยังมีความคลุมเครือสูงมาก เพราะไม่มีการวิจัยในมนุษย์ที่พอจะเชื่อถือได้

รักษาภาวะโลหิตจาง ผักโขมเป็นหนึ่งในพืชที่อุดมด้วยสารอาหารทรงคุณค่าหลากหลายชนิด เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ โปรตีน แคลเซียม กรดโฟลิก วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินซี รวมถึงธาตุเหล็ก ทำให้มีความเชื่อในบางกลุ่มกล่าวถึงคุณสมบัติในการบำรุงเลือดหรือรักษาภาวะโลหิตจาง

อย่างไรก็ตาม หลักฐานในด้านนี้ยังมีไม่มากและเป็นเพียงการศึกษาโดยใช้สัตว์ งานวิจัยหนึ่งทดลองรักษาหนูที่มีภาวะโลหิตจางด้วยสารสกัดจากผักโขม ผลปรากฏว่าสารสกัดจากผักโขมช่วยฟื้นฟูระดับเซลล์เม็ดเลือดแดง เซล์เม็ดเลือดขาว และฮีโมโกลบิน รวมถึงปริมาตรเม็ดเลือดแดงให้เพิ่มขึ้น ผู้วิจัยจึงคาดว่าผักโขมนั้นอุดมด้วยสารพฤกษเคมีที่จะช่วยในการสร้างเม็ดเลือด แต่แน่นอนว่าการศึกษาในสัตว์ย่อมไม่อาจรับประกันประสิทธิภาพและความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้กับมนุษย์ คงต้องรอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ที่น่าเชื่อถือเพียงพอเสียก่อนจึงจะสามารถระบุว่าผักโขมช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้หรือไม่

ต้านมะเร็ง  ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีอยู่สูงในผักโขมและเชื่อว่าสารนี้สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็ง ทำให้มีการศึกษาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการต่อต้านมะเร็งของผักโขมสวน ทั้งการศึกษาในห้องทดลองและการให้หนูกินผักโขมโดยตรง ซึ่งการศึกษาในห้องทดลองพบว่าหลังจากหยดสารสกัดสควอลีนจากผักโขมลงบนเซลล์มะเร็ง สารสกัดดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ เซลล์มะเร็งเต้านม และเซลล์มะเร็งสำไส้ใหญ่ได้ แต่ในเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่จะเห็นผลน้อยกว่าเซลล์มะเร็งอีก 2 ชนิด

ด้านการทดลองในหนูที่ได้รับสารก่อเกิดโรคมะเร็ง ปรากฏว่าการให้หนูกินอาหารเสริมสารสกัดสควอลีน 5%, 7.5% หรือ 10% จากผักโขม ต่างสามารถช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ก่อมะเร็ง โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดสควอลีน 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารเสริมต้านมะเร็งจากชะเอมตามปริมาณที่แนะนำ (0.005%) ก็ไม่พบว่าอาหารเสริมชะเอมมีประสิทธิภาพควบคุมหรือยับยั้งมะเร็งได้อย่างสารสกัดสควอลีนจากผักโขม

แม้ผลการศึกษาในสัตว์ที่พบจะดูเหมือนว่าผักโขมอาจมีคุณประโยชน์ด้านนี้จริง ทว่าการทดลองใด ๆ ก็ตามในสัตว์ถือว่าเป็นเพียงแนวทางในการเริ่มต้นเท่านั้น และยังไม่อาจนำผลลัพธ์ที่ได้มาสรุปว่าจะให้ผลลัพธ์และมีความปลอดภัยเช่นเดียวกัน ข้อมูลการวิจัยในมนุษย์จึงแม่นยำกว่า ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการศึกษากับมนุษย์ที่ให้คำตอบได้

รักษาสิว เมล็ดผักโขมหรือน้ำมันผักโขมนั้นประกอบด้วยไขมันที่มีคุณค่าสูงเพราะมีส่วนประกอบอย่างสควอลีน กรดไขมันไม่อิ่มตัว และวิตามินอีบางชนิดที่ไม่อาจพบในน้ำมันทั่วไป ซึ่งสารสควอลีนนั้นมีหน้าที่ในกระบวนการทำงานของผิวหนัง โดยไม่เพียงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและเพิ่มความชุ่มชื้น แต่ยังใช้รักษาโรคผิวหนังอย่างสิว ผิวหนังอักเสบชนิดเซบเดิร์ม สะเก็ดเงิน หรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการกล่าวถึงคุณประโยชน์ของการรับประทานผักโขมเพื่อลดการเกิดสิว อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของผักโขมด้านนี้เป็นเพียงเคล็ดลับความเชื่อที่ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรม แต่การลองรับประทานผักโขมเป็นอาหารโดยคาดหวังสรรพคุณการรักษาสิวก็น่าจะปลอดภัย หากรับประทานในปริมาณเหมาะสม

ความปลอดภัยของการใช้ผักโขมเพื่อประโยชน์ทางยา

เนื่องจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์ของผักโขมต่อการรักษาโรคยังมีไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ทำให้ไม่อาจแน่ใจถึงความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่อาจตามมา หากต้องการใช้เป็นยารักษาโรคใด ๆ ควรปฏิบัติตามฉลากคำแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัดและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้

ทั้งนี้ หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไม่มีข้อมูลที่รับรองได้ว่าจะไม่เป็นอันตรายหากใช้ผักโขมในฐานะยารักษาโรคขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยควรหลีกเลี่ยงการใช้เป็นดีที่สุด แต่หากต้องการลองใช้จริง ๆ ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ