ปวดไหล่

ความหมาย ปวดไหล่

ปวดไหล่ (Shoulder Pain) เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณไหล่ โดยเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวไหล่ที่อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ อย่างการเล่นกีฬา การทำงานที่ต้องออกแรง การเคลื่อนไหวในท่าเดิมซ้ำ ๆ รวมไปถึงการได้รับบาดเจ็บ ในบางกรณีอาจเกิดจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อนแล้วทำให้เกิดอาการปวดไหล่ตามมา เช่น โรคเกี่ยวกับกระดูกคอ ตับ และหัวใจ เป็นต้น

อาการปวดไหล่มักเกิดขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เนื่องจากเนื้อเยื่อรอบหัวไหล่อาจเสื่อมประสิทธิภาพไปตามวัย โดยทั่วไปอาการปวดไหล่สามารถบรรเทาได้ด้วยการดูแลตนเองที่บ้าน แต่บางกรณีอาจจำเป็นต้องรับประทานยาหรือเข้ารับการผ่าตัดร่วมด้วย

ปวดไหล่

หัวไหล่เป็นข้อต่อประเภทลูกกลมและเบ้า (Ball และ Socket Joint) ที่ประกอบด้วยกระดูก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ กระดูกต้นแขน (Humerus) กระดูกสะบัก (Scapula) และกระดูกไหปลาร้า (Clavicle) ซึ่งกระดูกทั้ง 3 ส่วนจะถูกรองด้วยกระดูกอ่อน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ข้อระหว่างหัวกระดูกต้นแขนกับเบ้าของกระดูกสะบัก (Glenohumeral Joint) และข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบัก (Acromioclavicular Joint) มักเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าข้อไหล่ ซึ่งเป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง ทำให้ไหล่สามารถเคลื่อนไปด้านหน้าและหลัง รวมถึงเคลื่อนที่เป็นวงกลมได้

อาการปวดไหล่

อาการปวดไหล่จะแตกต่างกันตามสาเหตุ บริเวณที่ปวด และสภาพทางกายภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ป่วยที่ปวดไหล่มักจะพบอาการเหล่านี้

  • ปวดเมื่อยหรือเจ็บแปลบบริเวณไหล่
  • รู้สึกชาหรืออ่อนแรง
  • มีอาการไหล่ติด ขยับบริเวณไหล่ได้ลำบาก
  • รูปร่างของไหล่ผิดแปลกไป ไม่สามารถขยับหรือยกแขนได้ตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากรู้สึกปวดไหล่หลังได้รับบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุ ขยับแขนหรือไหล่ได้ลำบาก หรืออาการเจ็บปวดบริเวณไหล่ยังไม่ทุเลาลงภายใน 2-3 สัปดาห์หลังการดูแลตนเองที่บ้าน

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่เฉียบพลันโดยไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือดได้ โดยอาจสังเกตได้จากอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เวียนศีรษะ เหงื่อออกมากผิดปกติ ปวดบริเวณคอและกราม รวมถึงในกรณีที่เกิดการบาดเจ็บบริเวณไหล่ หากมีอาการบวม ไหล่ผิดรูปไป รู้สึกชาบริเวณไหล่ ไหล่มีเลือดออกหรือมีแผล ก็ควรรีบไปพบแพทย์เช่นกัน

สาเหตุของอาการปวดไหล่

อาการปวดไหล่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แบ่งออกได้ ดังนี้

สาเหตุที่พบได้บ่อย

สาเหตุของอาการปวดไหล่ที่มักพบได้บ่อย ได้แก่

  • เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งอาจทำให้เส้นเอ็นเกิดการอักเสบจนผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดบริเวณไหล่ตามมา
  • การอักเสบของถุงน้ำบริเวณข้อต่อ อาจเกิดจากการขยับหรือเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ รวมถึงอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ภาวะไหล่ติดที่ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวไหล่ไม่สะดวกและเกิดอาการปวดไหล่ขึ้น เป็นต้น
  • เอ็นอักเสบ เป็นอาการบวมเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อที่อาจเกิดจากการเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณหนึ่งซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
  • ภาวะไหล่หลุด เป็นภาวะที่ข้อไหล่หลุดออกจากเบ้า ทำให้เกิดความเจ็บปวด จัดเป็นอาการร้ายแรงที่ต้องรีบไปพบแพทย์
  • ข้ออักเสบ เป็นภาวะที่ข้อต่อกระดูกเกิดการอักเสบ โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบมากที่สุดคือโรคข้อเสื่อมและโรครูมาตอยด์
  • การกดเบียดโครงสร้างภายในข้อไหล่ (Shoulder Impingement Syndrome) เป็นอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นไหล่ที่เกิดจากการถูกกระดูกหัวไหล่กดทับ
  • กระดูกไหล่ กระดูกไหปลาร้าหรือแขนหัก

สาเหตุอื่น ๆ

นอกเหนือจากความผิดปกติในข้างต้น อาการปวดไหล่อาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

  • การบาดเจ็บของกระดูกอ่อนที่บริเวณข้อต่อกระดูก (Torn Cartilage) 
  • อาการปวดร้าวที่เกิดจากอวัยวะส่วนอื่น (Referred Pain) เป็นผลจากการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น คอหรือกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน เป็นต้น
  • ภาวะหัวใจขาดเลือด จัดเป็นอาการร้ายแรงที่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • การเกิดเนื้องอก การติดเชื้อ หรือความผิดปกติของเส้นประสาท เช่น เส้นประสาทถูกกดทับบริเวณต้นคอหรือไหล่ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของอาการปวดไหล่ที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปตามช่วงวัย โดยในวัยเด็กหรือวัยรุ่น มักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ขณะที่วัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงานส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการใช้ข้อไหล่ทำงานหนัก จึงทำให้เกิดการเสียดสีและอักเสบของเอ็นและกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวไหล่ ส่วนอาการปวดไหล่ในวัยกลางคนและวัยสูงอายุมักเกิดจากการเสื่อมลงเนื่องจากการใช้งานข้อไหล่เป็นระยะเวลานาน

การวินิจฉัยอาการปวดไหล่

แพทย์จะสอบถามอาการเบื้องต้นและซักประวัติการรักษา เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ เช่น ตำแหน่งหรือบริเวณที่เกิดอาการปวดไหล่ กิจกรรมที่ทำก่อนจะมีอาการ ช่วงเวลาที่เริ่มมีอาการปวดไหล่ ลักษณะของอาการปวด ความถี่และระยะเวลาที่เกิดอาการ และอาการอื่นที่เกิดขึ้นร่วมด้วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การเอกซเรย์ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (EMG) การฉีดสารทึบสีเข้าไปในข้อไหล่ (Arthrogram) เพื่อช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพรายละเอียดความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไหล่ได้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งอาจใช้วิธีการส่องกล้องภายในข้อไหล่ (Arthroscopy) เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดไหล่

การรักษาอาการปวดไหล่

การรักษาอาการปวดไหล่จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการปวดไหล่ โดยอาจแบ่งวิธีการรักษาออกดังนี้

การดูแลตนเองที่บ้าน

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการในขั้นต้น การดูแลตนเองที่บ้านอาจช่วยรักษาอาการปวดให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ประคบเย็นบริเวณหัวไหล่วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที ทำต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 วัน อาจช่วยให้อาการปวดทุเลาลง โดยให้ใช้ถุงน้ำแข็งหรือนำผ้าขนหนูพันรอบก้อนน้ำแข็งก่อนทำการประคบ เนื่องจากการนำน้ำแข็งประคบลงบนผิวหนังโดยตรงอาจทำให้ผิวบาดเจ็บหรือทำให้ผิวไหม้ หรืออาจใช้การประคบร้อนด้วยกระเป๋าน้ำร้อนบริเวณที่ปวดแทน เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด แต่ควรหลีกเลี่ยงวิธีนี้หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อบริเวณข้อไหล่ 
  • หยุดพักการใช้งานบริเวณไหล่เป็นเวลา 2-3 วัน ก่อนการกลับมาทำกิจกรรมตามปกติ หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือการยกของหนักเหนือศีรษะ
  • ใช้ยาบรรเทาอาการปวดที่หาซื้อได้ทั่วไปอย่างพาราเซตามอล หรืออาจใช้ยาชนิดทาเพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณไหล่ โดยก่อนใช้ยาชนิดใด ๆ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ

การรักษาโดยการใช้ยา

ในบางกรณี แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดหรืออักเสบ หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ที่เป็นยาต้านการอักเสบ มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด

การรักษาโดยการผ่าตัด

หากมีอาการขั้นรุนแรงหรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดในการดูแลตนเองหลังการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดไหล่

เนื่องจากอาการปวดไหล่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงไม่สามารถระบุภาวะแทรกซ้อนที่แน่ชัดได้ แต่โดยทั่วไป อาการปวดไหล่อาจนำไปสู่อาการปวดเรื้อรังจากภาวะไหล่ติด ข้อเสื่อม ภาวะแคลเซียมเกาะเส้นเอ็นหัวไหล่ รวมถึงในกรณีที่มีอาการร้ายแรงอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นร่วมด้วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หรือเวียนศีรษะ เป็นต้น

การป้องกันอาการปวดไหล่

อาการปวดไหล่อาจช่วยป้องกันได้ด้วยการดูแลตนเองตามคำแนะนำต่อไปนี้  

  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและควรอบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกายทุกครั้ง หากไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเวลานาน ไม่ควรหักโหม ควรเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือเริ่มจากกิจกรรมเบา ๆ หากมีอาการปวดไหล่อาจใช้วิธีออกกำลังด้วยการยืดเส้นเพื่อป้องกันการปวดเมื่อยที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกได้
  • ขณะนั่ง ควรนั่งหลังตรง ยืดตัวขึ้นและไม่ห่อไหล่ โดยสามารถใช้เบาะรองนั่ง หมอนหนุนหลังและหมอนวางแขนขณะนั่ง รวมถึงปรับระดับเก้าอี้ให้เหมาะสมกับการทำงาน 
  • ขณะยืน ควรยืนให้ตรง ยืดตัวขึ้นและทิ้งไหล่ไปด้านหลังเล็กน้อย ไม่ยืนห่อไหล่
  • ขณะที่ทำงาน ควรหยุดพัก 2-3 นาที ทุก 1 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • หากจำเป็นต้องเอื้อมมือไปหยิบสิ่งของที่อยู่สูง ควรใช้อุปกรณ์ช่วย อย่างเก้าอี้หรือบันได หรืออาจย้ายสิ่งของที่ต้องใช้มาอยู่ใกล้มือเพื่อจะหยิบใช้ได้สะดวก