ปวดเต้านม (Mastalgia)

ความหมาย ปวดเต้านม (Mastalgia)

ปวดเต้านม (Mastalgia) เป็นอาการเจ็บปวดบริเวณเต้านมที่พบได้บ่อยในเพศหญิง อาการปวดมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนรุนแรง โดยอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือปวดต่อเนื่องขึ้นอยู่กับสาเหตุ ส่วนมากจะพบได้บ่อยในช่วงก่อนการมีประจำเดือน แต่อาจพบได้ในผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือน หรืออาจเกิดจากเนื้องอกบริเวณเต้านมได้เช่นกัน

สาเหตุของอาการปวดเต้านมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คืออาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือน (Cyclic Breast Pain) และอาการปวดเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน (Noncyclic Breast Pain) อย่างการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อบริเวณรอบเต้านม หรือการเกิดเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่เนื้อร้าย อย่างไรก็ตาม อาการปวดเต้านมส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุจากมะเร็งเต้านม

2583-ปวดเต้านม

อาการปวดเต้านม

อาการปวดเต้านมจะแตกต่างกันตามประเภทของอาการปวด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก

อาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือน 

เป็นประเภทของอาการปวดเต้านมที่พบได้บ่อย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงรอบเดือน พบมากในผู้ที่มีอายุ 20-30 ปี แต่ในบางกรณีอาจพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปี ที่กำลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการปวดมักไม่รุนแรงนัก แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยลักษณะอาการที่พบได้ ได้แก่

  • มีอาการปวดในลักษณะตื้อ ๆ หรือคัดเต้านม โดยอาจปวดเต้านมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • มีอาการบวมที่บริเวณเต้านมส่วนบน และอาจรู้สึกปวดลามไปยังบริเวณใต้รักแร้
  • อาการปวดเต้านมจะเริ่มในช่วงไข่ตก ซึ่งเป็นช่วงก่อนการมีประจำเดือนประมาณ 2 สัปดาห์ และอาการจะดีขึ้นหลังหมดประจำเดือนในรอบนั้น

อาการปวดเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน

เป็นอาการปวดที่ไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน เกิดจากความผิดปกติของเต้านม การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆ เต้านม จึงทำให้เกิดอาการปวดเต้านมตามมา มักพบในหญิงวัยหมดประจำเดือนหรือใกล้หมดประจำเดือน อาการที่อาจสังเกตได้มีดังนี้

  • มีอาการปวดในลักษณะตึงแน่นหรือปวดแสบร้อน
  • อาการปวดอาจปวดเป็นพัก ๆ หรือปวดเรื้อรัง 
  • อาการปวดมักเกิดบริเวณเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง และปวดเพียงตำแหน่งเดียว แต่บางครั้งอาจรู้สึกปวดรอบ ๆ เต้านมได้

นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดบริเวณเต้านมอีกชนิดหนึ่งที่อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าอาการปวดเกิดจากสาเหตุภายในเต้านม เรียกว่าอาการปวดนอกเต้านม (Extramammary Breast Pain) ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงกับหน้าอก อย่างกล้ามเนื้อหน้าอกหรือกระดูกซี่โครง จึงอาจทำให้รู้สึกปวดลามไปยังหน้าอก

แม้ว่าโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมจะพบได้ค่อนข้างน้อยในผู้หญิงที่มีอาการปวดเต้านม แต่หากมีอาการปวดเต้านมติดต่อกันทุกวันนานกว่า 2-3 สัปดาห์และปวดที่ตำแหน่งเดิมเสมอ หรือรู้สึกปวดมากขึ้นจนทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ลำบาก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

สาเหตุของอาการปวดเต้านม

สาเหตุของอาการปวดเต้านมอาจไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยร่วมกัน ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้นในช่วงรอบเดือน หรือเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนโพรแลกติน (Prolactin) ที่ทำให้เกิดอาการปวดเต้านม โดยอาการจะลดลงหรือหายไประหว่างตั้งครรภ์หรือหลังหมดประจำเดือน
  • การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างภายในเต้านม เช่น ท่อน้ำนม ต่อมน้ำนม รวมถึงการเกิดเนื้องอกภายในเต้านม 
  • อาการปวดจากการได้รับบาดเจ็บ การอักเสบ การแตกหัก หรือการติดเชื้อของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และกระดูกบริเวณหน้าอกบริเวณใกล้กับหัวใจและปอด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดลามมาที่เต้านม
  • ภาวะกรดไขมันในเซลล์ไม่สมดุล อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเต้านมไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • การใช้ยาบางชนิด ได้แก่ ยาปรับฮอร์โมน ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ยาต้านเศร้าบางชนิด ยารักษาภาวะมีบุตรยาก ในบางกรณี อาการปวดเต้านมอาจเป็นผลข้างเคียงจากการรับฮอร์โมนทดแทนหลังหมดประจำเดือน ยารักษาโรคหัวใจ หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ภาวะตั้งครรภ์ ผู้ให้นมบุตร ผู้มีประวัติเข้ารับการผ่าตัดบริเวณหน้าอก ผู้ที่มีขนาดหน้าอกใหญ่กว่าปกติ การสูบบุหรี่ เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการปวดเต้านม

แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติการรักษา และตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วยการตรวจดูความผิดปกติของเต้านมและต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอส่วนล่างและใต้รักแร้ นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจหัวใจ ปอด ทรวงอกและช่องท้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการปวดเต้านม 

หากพบความผิดปกติจากประวัติของผู้ป่วยหรือการตรวจร่างกายเบื้องต้น แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการเอกซเรย์ทรวงอกแบบพิเศษเพื่อตรวจหาตำแหน่งที่พบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยใช้ในกรณีที่แพทย์คลำพบก้อนเนื้อในเต้านมหรือพบว่าเต้านมหนาตัวผิดปกติ หรือตรวจหาตำแหน่งของอาการปวดบริเวณเนื้อเยื่อเต้านม 
  • การตรวจอัลตราซาวด์ โดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจหาตำแหน่งที่มีอาการปวด โดยมักตรวจควบคู่กับการตรวจแมมโมแกรม
  • การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งตรวจ จะใช้ในกรณีที่สงสัยว่ามีก้อนเนื้อในเต้านมหรือพบว่าเนื้อเยื่อบริเวณเต้านมหนาตัวผิดปกติจากการตรวจด้วยรังสี โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณเต้านมและส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ

การรักษาอาการปวดเต้านม

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมาก อาการปวดเต้านมอาจดีขึ้นได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจใช้วิธีรักษาแตกต่างกันตามอาการ ความรุนแรงของโรค อายุและประวัติสุขภาพของผู้ป่วย ดังนี้

การดูแลตนเองที่บ้าน

อาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือนและอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดเต้านมอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ภายใน 2-3 เดือน โดยสามารถทำได้ตามวิธีดังนี้

  • ประคบร้อนเฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • รับประทานยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป อย่างยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นเท่าที่จำเป็นและควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการรับประทานยาในระยะยาว
  • เลือกสวมใส่ชุดชั้นในให้เหมาะสมกับสรีระ และควรสวมชุดชั้นในสำหรับออกกำลังกายที่สามารถรองรับเต้านมได้พอดี
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างอาหารไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด และอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • รับประทานอาหารเสริม เช่น วิตามินอี (Vitamin E) น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose Oil) และโอเมก้า 3

การใช้ยา

แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยบางรายรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวดเต้านม ได้แก่ 

  • ยากลุ่ม NSAIDs ใช้เมื่อมีอาการปวดเต้านมรุนแรง ในบางกรณี แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยา NSAIDs ชนิดครีม สำหรับทาเฉพาะบริเวณที่มีอาการปวด
  • ยาปรับฮอร์โมน เช่น ยาโบรโมคริปทีน (Bromocriptine) ที่ช่วยลดระดับฮอร์โมนโพรแลกทิน ยาดานาซอล (Danazol) ยากลุ่มฮอร์โมนเพศชาย ยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์ ยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ที่ช่วยลดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน 

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยปรับลดปริมาณการรับประทานยาคุมกำเนิด และอาจลดหรือหยุดการรับฮอร์โมนทดแทนสำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดเต้านมได้ 

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการปวดเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน แพทย์จะพิจารณาการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเต้านม

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดเต้านม

โดยทั่วไป อาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับรอบเดือนมักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา แต่กรณีที่มีอาการปวดเต้านมจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน เช่น การได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอกหรือความผิดปกติของเต้านม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวของผู้ป่วย

การป้องกันอาการปวดเต้านม

อาการปวดเต้านมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและมักเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก จึงยากต่อการป้องกัน แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการรับประทานอาหารที่มีรสจัด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และเลือกสวมชุดชั้นในให้พอดีกับสรีระ 

ทั้งนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติยังแนะนำให้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป เรียนรู้วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง โดยตรวจอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจเต้านมจากแพทย์หรือบุคคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม

นอกจากนี้ อาจสังเกตอาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือน โดยการจดบันทึกวันและเวลาที่มีอาการปวดเต้านมอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการผิดปกติหรือรู้สึกปวดเต้านมโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป