ประจำเดือนมาน้อย

ความหมาย ประจำเดือนมาน้อย

ประจำเดือนมาน้อย คือ ภาวะที่มีเลือดประจำเดือนไหลออกมาน้อยกว่าปกติ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และไม่ใช่สัญญาณอันตรายเสมอไป ส่วนใหญ่มักเกิดกับวัยรุ่นและผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

ประจำเดือนมาน้อย

ส่วนผู้ที่มีรอบเดือนตามปกติ แต่มีเลือดประจำเดือนไหลในช่วงสั้น ๆ อาจเป็นเพราะกำลังอยู่ในช่วงวัยที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงมีผลต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมรอบเดือน หรืออาจเกิดจากสาเหตุปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้เช่นกัน ดังนั้น หากประจำเดือนมาน้อย และประจำเดือนขาดบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาให้ประจำเดือนมาตามปกติ

อาการประจำเดือนมาน้อย

โดยทั่วไป รอบเดือนของผู้หญิงอยู่ในช่วง 21-35 วัน และมีช่วงเวลาที่ประจำเดือนมาแต่ละครั้งประมาณ 3-5 วัน แต่บางรายอาจมีประจำเดือนประมาณ 2-7 วัน ซึ่งเป็นภาวะปกติ โดยเลือดที่ไหลออกมานั้น อาจมีปริมาณมาก ปานกลาง หรือน้อยแตกต่างกันไป

ผู้ป่วยอาจมีภาวะประจำเดือนมาน้อยโดยไม่มีสาเหตุ อาจเผชิญปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อยู่ หรืออาจเกิดภาวะเลือดออกในช่องคลอด ดังนั้น ควรสังเกตอาการ และไปปรึกษาแพทย์ทันที หากมีภาวะต่อไปนี้

  • ประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 วัน
  • มีเลือดประจำเดือนน้อยมาก หรือเป็นหยดเลือดเพียงเล็กน้อย
  • ประจำเดือนมาน้อยเป็นประจำ โดยเกิดขึ้นบ่อยกว่าการมีรอบเดือนตามปกติ
  • มีภาวะประจำเดือนขาด

สาเหตุประจำเดือนมาน้อย  

หากเคยมีเลือดประจำเดือนไหลปกติ หรือประจำเดือนมามากอย่างสม่ำเสมอมาก่อน อาการประจำเดือนมาน้อยอาจเป็นสัญญาณอันตรายได้ และอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • การตกไข่ แม้การตกไข่จะเป็นกระบวนการปกติที่ทำให้ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีประจำเดือน แต่ในบางครั้งก็อาจทำให้มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดในช่วงกลางรอบประจำเดือน หรือในช่วงตกไข่ได้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือนปกติที่มาน้อย
  • ตั้งครรภ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจมีเลือดออกจากช่องคลอดแบบกะปริบกะปรอย ซึ่งอาจเป็นเลือดล้างหน้าเด็ก ที่เกิดหลังการปฏิสนธิ เนื่องจากตัวอ่อนเคลื่อนไปยึดเกาะฝังตัวที่ผนังมดลูก โดยจะมีเลือดออกเพียง 1-2 วันเท่านั้น ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเลือดประจำเดือนได้ อาจเกิดจากการคุมกำเนิดที่ผิดพลาด หรือไม่ได้คุมกำเนิดในขณะมีเพศสัมพันธ์ จึงควรตรวจการตั้งครรภ์หากพบอาการดังกล่าว
  • การให้นมบุตร ในระยะให้นมบุตร ฮอร์โมนที่ช่วยสร้างการผลิตน้ำนมจะยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเพศ ทำให้ไข่ตกช้าและเกิดภาวะประจำเดือนขาด โดยจะใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะกลับมามีประจำเดือนตามปกติ ทั้งนี้ อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ในระยะนี้ได้ เนื่องจากจะเกิดการตกไข่ 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนครั้งแรกหลังคลอด หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันในระยะนี้ และมีภาวะเลือดออกกะปริบกะปรอย ควรทดสอบการตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าเลือดที่ออกมานั้นไม่ใช่เลือดล้างหน้าเด็ก
  • คุมกำเนิด การคุมกำเนิดประเภทต่าง ๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด วงแหวนคุมกำเนิด อาจมีผลยับยั้งกระบวนการตกไข่ในเพศหญิง ทำให้ผนังมดลูกบางลง เป็นเหตุให้ประจำเดือนมาน้อย หรือเกิดภาวะประจำเดือนขาดได้ โดยอาจเผชิญภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ หากเพิ่งเริ่มหรือเพิ่งหยุดใช้ยาคุมกำเนิดไม่นาน และประจำเดือนจะกลับมาเป็นปกติได้หลังหยุดใช้การคุมกำเนิดไปแล้ว
  • ช่วงวัย วัยรุ่นเป็นช่วงวัยแรกของการมีประจำเดือน ร่างกายที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่อาจมีผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมการเกิดประจำเดือน โดยจะมีปริมาณและระยะห่างของรอบเดือนที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน อาจเผชิญภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เริ่มลดลง จึงเกิดการตกไข่น้อยลงทำให้ประจำเดือนมาน้อย จนประจำเดือนจะหมดไปในที่สุดหลังผ่านวัยนี้ โดยช่วงอายุที่ผู้หญิงมักเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และทำให้เผชิญกับปัญหาประจำเดือนมาน้อย คือ ช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี
  • ความเครียด เมื่อเกิดภาวะเครียด สมองจะปรับเปลี่ยนฮอร์โมนที่ควบคุมรอบเดือน ส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยหรือไม่มาเลย แต่จะกลับมามีประจำเดือนตามปกติหลังหายจากภาวะเครียดแล้ว
  • น้ำหนักตัว น้ำหนักตัวและไขมันในร่างกายอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ หากมีน้ำหนักตัวน้อยมาก หรือน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขาดแคลอรี่ที่ช่วยสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นในกระบวนการตกไข่ ซึ่งอาจทำให้ประจำเดือนมาน้อยได้ ส่วนน้ำหนักตัวที่มากเกินไปหรือมีภาวะอ้วน อาจส่งผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาดได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเสมอ
  • ออกกำลังกายมากเกินไป ปกติแล้วการออกกำลังกายทั่ว ๆ ไป ไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะประจำเดือนผิดปกติ แต่หากเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงมาก หรือออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันนานหลายชั่วโมง อาจเผชิญภาวะประจำเดือนมาน้อย มาในช่วงสั้น ๆ มานานกว่าปกติ หรือประจำเดือนขาดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย หรือไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเพียงพอ นักกีฬาหรือผู้ที่ต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเหมาะสม หรือวิธีที่จะช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติอยู่เสมอ
  • โรคการกินผิดปกติ เช่น โรคคลั่งผอม (Anorexia) และโรคล้วงคอ (Bulimia) เพราะโรคการกินผิดปกติเหล่านี้ส่งผลให้น้ำหนักตัวลด ซึ่งอาจทำให้ฮอร์โมนที่ควบคุมรอบเดือนเปลี่ยนแปลงไป เป็นเหตุให้ประจำเดือนมาน้อย
  • PCOS หรือกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ผู้ป่วยที่เผชิญภาวะนี้อาจมีประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาดได้ เนื่องจากภาวะ PCOS ส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง และรบกวนการตกไข่ อาจทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ เช่น เป็นสิว มีขนขึ้นบนใบหน้า น้ำหนักเปลี่ยนแปลง น้ำหนักตัวเกิน มีบุตรยาก เป็นหมัน เป็นต้น
  • โรคไทรอยด์ ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากหรือน้อยเกินไปอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรืออาจเกิดภาวะประจำเดือนขาดติดต่อกันนานหลายเดือน หากสาเหตุของโรคไทรอยด์เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน อาจส่งผลให้ต่อมต่าง ๆ รวมทั้งรังไข่ทำงานผิดปกติ และอาจกระตุ้นให้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนได้เร็วขึ้นด้วย
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ประจำเดือนที่มาไม่ปกติอาจเกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกตัวเข้าไปในกล้ามเนื้อผนังมดลูก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีประจำเดือนมามากหรือน้อยกว่าปกติได้
  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือการสะสมของเชื้อโรคจนเกิดการติดเชื้อลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ ตั้งแต่ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ ไปจนถึงรังไข่ ทำให้เกิดภาวะมีเลือดออกที่อาจเข้าใจว่าเป็นเลือดประจำเดือนได้
  • การเจ็บป่วยอื่น ๆ บางโรคหรือบางภาวะอาจทำให้มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด จนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเลือดประจำเดือนได้ เช่น เนื้องอกในมดลูก ภาวะท้องนอกมดลูก ภาวะแท้ง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งที่เกิดกับอวัยวะในระบบสืบพันธุ์

นอกจากนี้ อาจมีภาวะเลือดออกจากช่องคลอดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเลือดประจำเดือนที่มาน้อยกว่าปกติได้ เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในช่องคลอด ดังนั้น หากผู้ป่วยพบความผิดปกติของประจำเดือน หรือสงสัยว่าเลือดที่ไหลออกมาอาจไม่ใช่เลือดประจำเดือน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

การวินิจฉัยประจำเดือนมาน้อย

แม้ประจำเดือนมาน้อยอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ แต่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบสัญญาณที่อาจเป็นปัญหาสุขภาพได้ เช่น ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ได้ตั้งครรภ์ คาดว่าอาจกำลังตั้งครรภ์อยู่ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ก่อนมีประจำเดือน มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน หรือมีอาการปวดระหว่างรอบเดือน

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจวินิจฉัยหาสาเหตุของประจำเดือนมาน้อยด้วยการซักประวัติการเจ็บป่วยหรือการรักษาก่อนหน้า ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวในปัจจุบัน ความผิดปกติของรอบเดือน อาการที่เกิดขึ้น ปัญหาทางอารมณ์ที่เผชิญอยู่ ยาที่กำลังรับประทาน ปริมาณการออกกำลังกาย และอาจมีการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • ตรวจการตั้งครรภ์ เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยตั้งครรภ์หรือไม่ เนื่องจากอาจมีเลือดออกมาทางช่องคลอดหลังตัวอ่อนฝังตัวที่โพรงมดลูก
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจาง ปัญหาการแข็งตัวของเลือด และตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของประจำเดือนมาน้อยได้
  • ตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ และตรวจหาเซลล์มะเร็ง
  • ตรวจอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกราน เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก รังไข่ และกระดูกเชิงกราน
  • ตรวจอัลตราซาวด์น้ำเพื่อดูสภาพในมดลูก (Sonohysterogram) เป็นการอัลตราซาวด์ร่วมกับการฉีดของเหลวเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อช่วยประมวลภาพให้แพทย์เห็นโพรงมดลูก ตรวจหาติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกในมดลูกได้
  • ตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Biopsy) แพทย์อาจขูดเนื้อเยื่อภายในโพรงมดลูกออกมาตรวจวินิจฉัย และอาจส่องกล้องตรวจดูมดลูกภายใน ด้วยการสอดกล้องเข้าไปทางปากมดลูก และตัดเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจ
  • CT Scan หรือ MRI Scan ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้เข้ารับการสแกนสมอง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของต่อมใต้สมอง ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนสืบพันธุ์ที่ทำให้เกิดกระบวนการตกไข่และมีประจำเดือน

การรักษาประจำเดือนมาน้อย

ประจำเดือนมาน้อยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และอาจไม่ใช่สัญญาณปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่หากภาวะประจำเดือนมาน้อยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุดตามสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น

ส่วนกรณีที่ประจำเดือนมาน้อยโดยไม่มีสาเหตุ และเป็นติดต่อกันยาวนาน แพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนยา และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตบางอย่าง นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิด เพื่อปรับฮอร์โมนร่างกายให้ประจำเดือนมาตามปกติ

การป้องกันประจำเดือนมาน้อย

การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ จะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติ และอาจช่วยป้องกันประจำเดือนมาน้อยได้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยระมัดระวังไม่ให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วจนเกินไป
  • ออกกำลังกายอย่างพอดี ไม่หักโหมเกินไป หรือหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้แรงมาก  
  • รู้จักควบคุมผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นั่งสมาธิ เล่นโยคะ ออกกำลังกายที่ได้ฝึกสมาธิอย่างไทชิ และฝึกทักษะการรับมือจัดการความเครียดด้วยตนเอง เป็นต้น
  • หมั่นสังเกตว่าประจำเดือนมาเป็นปกติหรือไม่ เพราะบางกรณี ประจำเดือนที่มาน้อย มาผิดปกติ หรือมีอาการป่วยอื่น ๆ เกิดขึ้นพร้อมกับประจำเดือน อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพภายใน หรืออาจเป็นภาวะเลือดไหลจากการเจ็บป่วย ไม่ใช่เลือดประจำเดือน