ถ่ายไม่ออกจากลำไส้แปรปรวน อาการกวนใจที่รักษาได้ไม่ยาก

โรคไอบีเอสหรือลำไส้แปรปรวนในกลุ่มอาการท้องผูก (Irritable Bowel Syndrome with Constipation: IBS-C) เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบเจอได้บ่อย หลายคนเลยหลงคิดไปว่า อาการถ่ายไม่ออก อุจจาระเป็นก้อนแข็ง ปวดท้อง หรือท้องอืดนั้นเป็นเรื่องธรรมดา จึงไม่ได้ให้ความสำคัญหรือหาวิธีดูแลตนเองมากนัก แต่แท้จริงแล้วปัญหาเรื่องการขับถ่าย โดยเฉพาะการถ่ายไม่ออกหรือท้องผูกอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้

แม้ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคลำไส้แปรปรวนในกลุ่มอาการท้องผูก แต่มีปัจจัยบางอย่างอาจไปเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ได้ เช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร การทำงานไม่ประสานกันระหว่างสมองและลำไส้ เป็นต้น ในเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการดูแลตนเองหรือใช้ยาระบายภายใต้คำแนะนำของเภสัชกรหรือแพทย์ผู้ดูแล

ถ่ายไม่ออก

อาการของลำไส้แปรปรวนในกลุ่มอาการท้องผูกมีอะไรบ้าง ?

โดยทั่วไป ลำไส้แปรปรวนในกลุ่มนี้มักก่อให้เกิดอาการหลัก คือ ท้องผูก ท้องเสียควบคู่ไปกับอาการอึดอัดท้องและปวดท้อง โดยผู้ป่วยอาจถ่ายไม่ออก ถ่ายไม่สุด ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรืออุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง จนอาจต้องปรับเปลี่ยนท่าทางในการขับถ่ายหรือกดนวดท้องเพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่าย และยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องอืดพร้อมอาการปวด แต่มักหายไปหลังจากขับถ่ายและสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ ลำไส้แปรปรวนในกลุ่มอาการท้องผูกจะไม่อืดท้องมากเหมือนกับอาการท้องผูกทั่วไปแต่อย่างใด และไม่ทำให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือมีน้ำหนักตัวลดลง หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

เคล็ดลับรักษาอาการท้องผูกจากลำไส้แปรปรวน

การดูแลและบรรเทาอาการจากโรคลำไส้แปรปรวนในกลุ่มอาการท้องผูกนั้นทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเน้นบริโภคอาหารที่มีกากใยสูง อย่างผัก ผลไม้ หรือถั่ว และหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ เพื่อให้อุจจาระนิ่มขึ้นและขับถ่ายออกมาได้ง่าย รวมถึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายระดับเบาหรือปานกลางเป็นประจำเพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ เป็นต้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายให้หนักขึ้นเพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้

นอกจากนี้ ยังอาจใช้ยาบางชนิดช่วยบรรเทาอาการถ่ายไม่ออก ท้องผูก และช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น เช่น

ยาระบายกลุ่มเส้นใยหรือไฟเบอร์ (Fiber Supplements)

ยากลุ่มนี้จะช่วยลดอาการท้องผูกเท่านั้น ไม่อาจบรรเทาอาการอื่น ๆ ของลำไส้แปรปรวนในกลุ่มอาการท้องผูกได้ โดยจะไปเพิ่มปริมาณน้ำและปริมาตรของอุจจาระ ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ใหญ่ได้ง่ายยิ่งขึ้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำตามในปริมาณมากเพื่อป้องกันอาการท้องอืดและลำไส้อุดตัน และควรระวังการรับประทานยาปริมาณสูง เพราะอาจก่อให้เกิดอาการปวดเกร็งหน้าท้อง ท้องอืด หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหารอย่างเฉียบพลัน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น รำข้าวสาลี ยาพอลิคาร์บอฟิล ( Polycarbophil) หรือยาไซเลียม (Psyllium) เป็นต้น

ยาระบายกลุ่มออสโมซิส (Osmotic Laxatives)

ตัวยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช่วยดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มนิ่ม ไม่เป็นก้อนแข็ง และถ่ายออกมาได้ง่าย แม้การใช้ยาในกลุ่มนี้จะค่อนข้างปลอดภัยในระยะยาว แต่ผู้ป่วยควรขอคำแนะนำในการใช้ยา ปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงข้อควรระวังจากแพทย์ก่อนหาซื้อยามาใช้เอง เพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โดยตัวยาในกลุ่มนี้ที่รู้จักกัน เช่น 

  • ยาแลคตูโลส (Lactulose) เป็นน้ำตาลสังเคราะห์ที่จะแตกตัวในลำไส้ใหญ่หลังการรับประทาน มีจำหน่ายในรูปแบบยาผงและยาน้ำ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามคำแนะนำบนฉลากยาหรือในปริมาณที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากรับประทานยาไปแล้วมีอาการแย่ลงหรือท้องเสียอย่างต่อเนื่อง ควรหยุดใช้ยาทันที
  • ยามาโครกอล (Macrogol) ปกติแล้วมักใช้ในการเตรียมลำไส้ก่อนการผ่าตัดหรือการตรวจลำไส้ แต่ก็ถูกนำมาใช้รักษาอาการท้องผูกในหลาย ๆ ประเทศเช่นกัน ซึ่งมักจะเป็นรูปแบบยาผงบรรจุซองที่สามารถนำมาละลายกับน้ำสะอาดแล้วดื่มได้ทันที และปริมาณการใช้ยาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ยา Macrogol 4000 สามารถใช้ในเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ให้รับประทานในปริมาณ 10-20 กรัม วันละ 1 ครั้ง และใช้ยาติดต่อกันเพียงแค่ 1 สัปดาห์ แต่สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ปี ควรใช้ยาตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

ทั้งนี้ ยานี้อาจทำให้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย หรือเจ็บบริเวณทวารหนัก แต่มักไม่มีอาการรุนแรงและจะดีขึ้นในเวลาไม่นาน รวมทั้งห้ามใช้ยา Macrogol ในผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารอย่างลำไส้อุดตัน ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ลำไส้ทะลุ และไม่ใช้เพื่อลดความอ้วนหรือลดน้ำหนักโดยเด็ดขาด หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงควรแจ้งให้แพทย์ทราบและรับการรักษาเพิ่มเติมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา หากทำตามวิธีดูแลตนเองและการใช้ยาดังข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาหรือการบำบัดที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพร่างกายมากที่สุด รวมทั้งขอคำแนะนำในการดูแลหรือควบคุมอาการอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างเป็นปกติมากขึ้น ในกรณีที่เกิดความผิดปกติ อย่างน้ำหนักตัวลดลง อุจจาระเป็นเลือด หรืออาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้