-
ไวรัสตับอักเสบ
-
Mar 08, 2018 at 11:27 PM
รบกวนถามค่ะ ดิฉันเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี พึ่งมารู้ตอนตั้งท้องสอง ตอนท้องแรกที่ฝากท้องกับโรงพยาบาลรัฐเค้าไม่ได้บอกอะไรชัดเจน คือ ถ้าตอนท้องแรกคือ 7 ปีแล้ว โรคนี้เกิดจากอะไรค่ะ ควรปฎิบัติตัวอย่างไร สามารถเข้ารับการตรวจเช็คจากโรงพยาบาลรัฐได้รึเปล่าค่ะ เข่นตรวจค่าตับ จะหายได้เปล่าค่ะMar 09, 2018 at 06:21 AM
สวัสดีค่ะ คุณ Aon Sittikasorn,
โดนส่วนใหญ่ หากเพิ่งตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีเป็นครั้งแรก แพทย์จะนัดตรวจอีก 6 เดือนต่อมา เนื่องจากผู้ที่เพิ่งติดเชื้อส่วนใหญ่ประมาณ 90% สามารถหายได้เอง แต่หากยังคงตรวจพบว่ามีเชื้อนานเกิน 6 เดือน แสดงว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง หรือที่เรียกว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีค่ะ
เชื้อไวรัสตับอักเสบบีนั้นจะพบอยู่ในเลือด น้ำอสุจิ น้ำจากช่องคลอด น้ำมูก น้ำลาย ดังนั้นการติดต่อเกิดขึ้นได้โดย
- การติดต่อจากแม่สู่ลูก หากแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ลูกอาจเกิดการติดเชื้อได้ในระหว่างการคลอด
- จากการมีเพศสัมพันธ์
- การถูกเข็มหรือของมีคมซึ่งปนเปื้อนเชื้อจากสารคัดหลั่งต่างๆ ทิ่มแทงผ่านผิวหนัง เช่น พบในผู้ติดยาที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เข็มสักสายที่มีการใช้ซ้ำ อุบัติเหตุโดนเข็มทิ่มซึ่งมักพบในบุคลากรที่ทำงานกับผู้ป่วย การถูกมีดโกน กรรไกรตัดเล็บที่มีการใช้ร่วมกันบาด หรือแปรงสีฟันที่ใช้ร่วมกัน หากผู้ที่มีเชื้อมีเลือดออกตามไรฟันหรือมีแผลในช่องปาก ก็อาจแพร่เชื้อสู่ผู้ได้
แม้เชื้อจะพบได้ทางน้ำลาย แต่การติดต่อผ่านทางน้ำลายนั้นพบได้น้อยมาก ดังนั้นการใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม จาน ชาม การกินอาหารร่วมกัน ดื่มน้ำร่วมกัน โอกาสติดเชื้อจึงแทบไม่มี แต่หากร่างกายมีบาดแผลเปิด แล้วแผลสัมผัสกับน้ำลายที่มีเชื้อ ก็มีโอกาสที่จะติดได้
เมื่อตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังแล้ว สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้นี้ ได้แก่
- การตรวจเลือดเพื่อประเมินดูภาวะของโรค ได้แก่ HBeAg, HBeAb, และ HBV DNA
- ตรวจติดตามการทำงานของตับ โดยตรวจ ALT (alanine aminotranferase) ทุก 3-6 เดือน
- ตรวจประเมินระยะของโรคตับ ด้วยอัลตราซาวน์ หรือวัดความยืดหยุ่นตับ ด้วยเครื่อง transient elastography
หากการตรวจติดตามเป็นระยะดังกล่าว มีความผิดปกติที่เข้าเกณฑ์การรักษา แพทย์ก็จะจ่ายยาต้านไวรัสให้ค่ะ ซึ่งยาที่ใช้รักษามีทั้งชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังและยาทาน เช่น Interferon-alpha, lamivudine เป็นต้น
สำหรับการดูแลตนเองทั่วไป ได้แก่ การงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมถึงการสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ซื้อยาและอาหารเสริมรับประทานเอง ลดอาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ เช่น ถั่วลิสง พริกแห้งที่อาจปนเปื้อนเชื้อรา เนื้อสัตว์ปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม อาหารที่อาจใส่ดินประสิว เช่น ไส้กรอก เบคอน เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ของหมักดอง แหนม อาหารสุกๆดิบๆ เช่น ปลาร้า นอกจากนี้แนะนำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดไปตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีด้วยค่ะ
สำหรับลูกทั้ง 2 คน โดยปกติเมื่อทราบว่ามารดามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เด็กจะได้รับวัคซีนและอิมมูโนโกลบูลินต้านเชื้อไวรัสตั้งแต่แรกเกิด และนัดมารับวัคซีนอีกเป็นระยะ ซึ่งก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในระหว่างคลอดได้มากกว่า 90% ค่ะ
-
ถามแพทย์
-
ไวรัสตับอักเสบ