ถามแพทย์

  • เลี้ยงกระต่าย แล้วตั้งครรภ์อยู่ ในอุจจาระของกระต่ายจะมีโรคขี้แมวไหม จะติดเชื้อไหม

  •  Banthita Khanthachai
    สมาชิก
    กำลังตั้งครรภ์เลยอยากรู้เกี่ยวกับโรคขี้แมวค่ะ คือเราเลี้ยงกระต่ายมาหลายปีแล้วและล่าสุดเราตั้งครรภ์อยู่ได้อ่านมาว่าในอุจจาระของสัตว์มีเชื้อโรคอยู่ที่เรียกว่าโรคขี้แมว แฟนก็เลยเป็นคนเก็บอุจจาระปัสสาวะทำความสะอาดกรงกระต่ายให้แทน แต่อุจจาระของกระต่ายก็ได้นำไปทิ้งในถังขยะเดียวกับที่เราทิ้งขยะทั่วไป อยากรู้ว่าถ้าเราที่ตั้งครรภ์อยู่นำขยะไปทิ้งในถังขยะนั้นแล้วมือโดนถังขยะจะเป็นอะไรจากการปนเปื้อนของโรคขี้แมวมั้ย มันจะปนเปื้อนอยู่กับถังขยะได้หรือเปล่าคะถ้าหากอยู่ได้จะอยู่ได้นานแค่ไหน แล้วหากเราทิ้งขยะแล้วล้างมือด้วยแอลกอฮอล์จะสะอาดมั้ยคะ แล้วการจะเป็นโรคขี้แมวได้เกิดจากอะไรบ้าง เชื้อจะอยู่แค่กับอุจจาระของสัตว์ใช่มั้ยคะ แล้วเรายังสามารถจับกระต่ายของเราได้อยู่มั้ยคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Banthita,

                       โรคท็อกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis) จากการติดเชื้อโปรโตซัว ซึ่งพบว่ามีสัตว์หลายชนิดสามารถติดเชื้อนี้ได้ โดยแมวเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในวงจรชีวิตของเชื้อ (จึงอาจเรียกว่าโรคขี้แมว) ส่วนสัตว์ชนิดอื่น เป็นแค่พาหะชั่วคราว ได้แก่ แพะ แกะ หนู กระต่าย และอาจพบในสุนัขได้ด้วย โดยสัตว์ที่ติดเชื้อจะปล่อยขับไข่ของเชื้อโปรโตซัวออกมาในอุจจาระ เมื่อสัตว์ตัวอื่นกินไข่ไปโดยบังเอิญ เช่น จากการเล็มหญ้า ก็จะติดเชื้อไป หรืออาจติดเชื้อโดยการกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่มีเชื้ออยู่ เช่น แมวกินหนู ส่วนคนก็จะสามารถติดได้จากการกินไข่ของเชื้อที่ปนอยู่ในผักดิบหรือเนื้อที่ปรุงไม่สุก และอาจติดเชื้อจากการสัมผัสอุจจาระของแมวที่ติดเชื้อ

                      เมื่อได้รับเชื้อแล้ว ส่วนใหญ่ประมาณ 80%-90% ของผู้ที่ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันปกติดี จะไม่มีอาการอะไร เพียงส่วนน้อยที่จะมีอาการ ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต อาจพบที่รักแร้ หลังศีรษะ ไหปลาร้าได้ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว เป็นต้น อาการต่างๆ เหล่านี้ จะหายไปได้เอง โดยใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน

                        แต่หากเกิดการติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์ เชื้อจะเข้าสู่ทารกในครรภ์และมีผลทำให้ทารกเกิดความพิการได้ ดังนั้น หากกำลังตั้งครรภ์ และมีการสัมผัสใกล้ชิดกับแมว อาจตรวจหาการติดเชื้อเป็นระยะๆ โดยการตรวจเลือดหาแอนติบอดี้ (IgG และ IgM) จากเลือด รวมถึงตรวจอัตราซาวด์ประเมินความปกติของทารกในครรภ์เป็นระยะๆ ค่ะ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นกระต่าย โอกาสที่จะพบเชื้อและติดโรคนี้จากกระต่ายพบได้น้อยมากๆ ค่ะ ดังนั้น หากจะเลี้ยงกระต่าย ก็สามารถเลี้ยงได้ตามปกติ เพียงแค่ต้องแยกพื้นที่ในการเลี้ยง ไม่ให้มาปะปนกับเขตของห้องครัวและห้องทานอาหาร และเมื่อจับกระต่ายหรือทำความสะอาดอุจจาระและปัสสาวะกระต่ายแล้ว ก็ให้ล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่ เชื้อโรคก็จะตายไปค่ะ โอกาสติดเชื้อก็แทบไม่มีค่ะ