ถามแพทย์

  • เหงื่อชอบออกมือและเท้าทั้งๆที่อากาศ​เย็น เสี่ยงเป็นโรคอะไรไหม

  • เวลาที่อยู่ในโรงหนังเหงือชอบออกในเท้าจนต้องผ้ามาเช็ดออกเลยค่ะ ในมือเหมือนกันค่ะบาวครั่งจนเขียนหนังสือไม่ได้ทั้งๆที่อากาศ​เย็นแต่ก็ยังมีเหงื่อ​ออกมา เสี่ยงจะเป็นโรคอะไรไหมค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ ปรัชญาภร์ ประกอบศรี,

                        หากอาการเหงื่อออกที่มือและเท้า ไม่ได้สัมพันธ์กับอากาศที่ร้อน หรือเกิดจากการออกกำลังใช้แรง อาจเกิดจาก

                       1.มีภาวะหลั่งเหงื่อมากเฉพาะจุด หรือ primary focal hyperhydrosis เกิดจากการทำงานเพิ่มขึ้นของต่อมเหงื่อเฉพาะจุดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของต่อมเหงื่อ ซึ่งไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเหตุดังกล่าว แต่พบมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม และการเกิดอารมณ์วิตกตังวลและความเครียด

                       2.โรคอ้วน เนื่องจากมีชั้นไขมันใต้ผิวหนังหนา ทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดี จึงระบายออกทางเหงื่อมากขึ้น แต่อาการเหงื่อออกมากมักพบทั่วตัว ไม่ได้เป็นเฉพาะจุด

                        3.วัยทอง แต่นอกจากอาการมีเหงื่อออกในตอนกลางคืนแล้ว มักมีอาการอื่นๆ อีก เช่น ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ ผิวแห้ง หนังศีรษะบาง ผมร่วง ช่องคลอดแห้ง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ไม่มีอารมณ์ทางเพศ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ด อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล เป็นต้น

                   4. มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์เป็นพิษ แต่เหงื่อมักออกทั่วตัว และมีอาการอื่นๆ อีก เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นต้น

                   5. มีภาวะหัวใจวาย เนื่องจากร่างกายต้องใช้พลังงานในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายมากกว่าปกติ ความร้อนในร่างกายจึงสูงขึ้น ต้องเพิ่มการระบายความร้อนทางเหงื่อเพิ่มขึ้น 

                    6. โรคเบาหวาน 

                    7. โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค มาลาเรีย แต่จะมีอาการไข้ร่วมด้วยเป็นสำคัญ

                     8. โรคตื่นตระหนก

                     9. โรคมะเร็ง แต่จะทำให้มีอการเหงื่อออกทั่วตัว 

                      หากไม่มีอาการอื่นๆ นอกจากอาการเหงื่อออกที่มือและเท้า และอาการเริ่มเป็นมาตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น ก็น่าจะเกิดจากมีภาวะ primary focal hyperhydrosis ดังที่กล่าวไปในข้อแรกได้ ซึ่งไม่ได้อันตราย แต่หากเป็นมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งมีหลายวิธีทั้งยาทา ยากิน การฉีดโบท็อก การผ่าตัด เป็นต้น