ถามแพทย์

  • เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ตอนนี้กลับมาแน่นท้อง แสบท้อง เรอบ่อย ต้องทำอย่างไร กินยาลดกรดถือว่าเพียงพอไหม

  •  Gap Sittartip
    สมาชิก

    เนื่องจากเคยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว ซึ่งใช้ระยะการรักษาประมาณ 2 เดือน ถึงไม่มีอาการแน่นท้อง

     แต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎา โรคกระเพาะกลับมาอีกครั้งโดยมีอาการแน่นท้อง + แสบท้อง + เรอบ่อย ซึ่งเป็นมาแล้วเกือบ 2 อาทิตย์  แต่อาการไม่หนักเท่าเดิมปีที่แล้ว และ ส่วนมากจะแน่นตรงกลางหน้าท้องหรือแสบอก  มากกว่า  จากเดิมที่เคยเป็นที่แน่นช่วงท้องด้านขวา โดยส่วนมากที่เป็นมักเป็นหลังทานอาหาร หรือช่วงเวลาที่หิว  ซึ่งจะเป็นหนักสุดโดยเฉพาะ ช่วงเวลานั่งเก้าอี้ แต่ตอนยืนจะไม่ค่อยแน่นมากนัก ซึ่งก่อนที่กลับมาเป็นอีกครั้งได้มีการทานอาหารรสเผ็ด + น้ำอัดลมไป ครับ 

    อยากสอบถามว่า ในอาการเบื้องต้นจำเป็นต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมไหมครับ เพราะยังไม่ได้ไปหาหมอครับ เคยทำ  CT scan เมื่อ ตอนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน พฤศจิกายน ไม่มีอะไรผิดปกติ ยกเว้นจุดเล็กๆ ที่ตับ ครับ  และ การกลับมาของโรคกระเพาะ นั้นถือว่าปกติ ไหมครับ โดยปกติ ต้องคุมอาหาร หรือ ห้ามดื่มน้ำอัดลมประมาณกี่เดือนครับ

    ในส่วนของการรักษา ปัจจุบัน รับประทานยา คือ Miracid + ยาลดกรด กาวิสคอน + ผงกล้วยน้ำว้า ถือว่าเพียงพอไหมครับ ขอบคุณครับ





    Gap Sittartip  พญ.นรมน
    สมาชิก

     สวัสดีค่ะคุณ Gap Sittartip

    กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบหรือเกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันในระยะเวลารวดเร็ว เป็นในระยะสั้น ๆ และหายภายใน 1-2 สัปดาห์  หรือมีอาการบ่อยครั้งเป็นระยะเวลานานจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดแผล และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้

    อาการเช่นรู้สึกปวดบริเวณท้องส่วนบน ตั้งแต่บริเวณใต้ลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือ อาการอาจดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิมหลังรับประทานอาหาร อิ่มเร็ว รับประทานอาหารได้ไม่มาก เรอบ่อย มีอาการท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย 

    ซึ่งถ้าเป็นภาวะกระเพาะอาหารอักเสบควรจะตอบสนองดีต่อการปรับพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยาลดกรดภายใต้การดูแลของแพทย์ จะน่ากังวลหรือควรส่งตรวจเพิ่มเติมถ้ากินยาลดกรดติดต่อกันเกิน 1 เดือนไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีอาการอันตรายเช่นน้ำหนักลดเร็ว ถ่ายดำ คือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น

    แนะนำการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง รับประทานอาหารอ่อนๆย่อยง่าย มื้อไม่ใหญ่เกินไปให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารประเภทใดๆที่กระตุ้นให้มีอาการ เช่นอาหารรสจัด กาแฟ แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม อาจจะต้องหลีกเลี่ยงไปตลอดถ้ามีภาวะนี้จริงๆ หรือดื่มได้ในปริมาณที่น้อย