ถามแพทย์

  • ญาติเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ให้เคมีบำบัดมาหลายครั้งแล้ว แพทย์แจ้งว่าอาจต้องลดความแรงยาลง จะส่งผลทำให้โรคไม่หายขาดไหม

  •  danisa
    สมาชิก

    สวัสดีค่ะ ขออนุญาตสอบถามและขอความเห็นหน่อยนะคะ

    ญาติเป็นมะเร็งต่อมนํ้าเหลืองในกระเพาะค่ะ หมอแจ้งว่าต้องให้คีโมทั้งหมด 8 เข็ม และฉายแสงต่อ ตอนนี้ให้มา 6 เข็มแล้ว ระหว่างนี้มีภาวะซีดร่วมด้วยตลอด แต่อาการโดยรวมแข็งแรงดี ทำกิจวัตรประจำวันได้ ออกกำลังกายได้ สามารถขับรถไปทำงานได้ปกติ นํ้าหนักไม่ลดฮวบ มีบางช่วงที่ทานเยอะนํ้าหนักก็ขึ้นเรื่อยๆ และผมเริ่มขึ้น

    โดยตอนนี้กำลังจะให้คีโมเข็มที่ 7 ได้มีการพบคุณหมอเจาะเลือด ผลโดยรวมค่าไตยังโอเค เกล็ดเลือดปกติ แต่ที่น่าหนักใจคือยังมีภาวะซีดอยู่ ค่าเลือดเพียง 28 คุณหมอเลยแจ้งว่าจริงๆเลือดไม่ควรซีดแล้ว เพราะให้คีโมมาหลายเข็ม หมอเลยแจ้งว่า คีโมเข็มที่7-8 นี้คงจะต้องลดความแรงของยาลงแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยยังมีภาวะซีดไม่ดีขึ้นและอายุเยอะ (60ปี) ถ้าให้เต็มโดสกลัวจะสู้ยาไม่ไหว แต่ก็ต้องยอมรับว่าหากลดโดสยาก็คงจะไม่หายขาด

    -เลยอยากสอบถามและขอความเห็นค่ะ ว่าการลดโดสยาคีโมจากที่แรงๆให้เบาลง มันจะส่งผลให้ขึ้นขนาดไม่หายขาดเลยหรอคะ เพราะครอบครัวก็มีความหวังว่าเขาจะหายขาดได้ เนื่องจากอาการเขาก็ดูดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากเมื่อก่อนคีโมเข็ม1-5ออกกำลังกายไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ปั่นจักรยานประมาน5-7กิโลได้ หรือเดินเล่น1รอบใหญ่ของสนามกีฬาก็สามารถทำได้ มีเหนื่อยหอบอ่อนเพลียบ้าง ตามปะสาคนป่วย

    -หรือการที่เขายังมีภาวะซีดอยู่เกิดจากอะไรได้บ้างคะ เพราะยาบำรุงเลือดก็ให้ทาน อาหารก็ทานได้ ผักใบเขียวก็ได้ทานเยอะ

    -ถ้าอยากให้หายขาด จะไปลุ้นเอาตอนฉายแสงจะพอมีโอกาสอยู่ไหมคะ

    -หรือถ้าไม่หายขาดจริงๆ ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อคะ หรือเมื่อทราบแน่ๆแล้วว่าไม่หายขาดหมายความว่าคนไข้อาจจะอยู่ได้อีกไม่นานไหมคะ

     

    ขอบคุณมากๆนะคะ

    danisa  พญ.นรมน
    สมาชิก

     สวัสดีค่ะคุณ danisa

    มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นกับระบบน้ำเหลือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นระบบที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย ประกอบไปด้วยน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลือง ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรค โดยการทำลายสิ่งมีชีวิตที่ลุกล้ำเข้ามาในร่างกาย

    การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง และเป้าหมายในการรักษาเป็นหลัก โดยวิธีได้แก่ การใช้เคมีบำบัด ซึ่งการใช้เคมีบำบัดนั้นมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับตัวยาแต่ละชนิดที่ผู้ป่วยได้รับ บางชนิดมีลักษณะเป็นยาเม็ด บางชนิดต้องใช้การฉีดผ่านหลอดเลือดดำ การใช้ตัวยาชนิดอื่น เช่น การใช้ยาแบบมุ่งเป้า (Targeted Drugs) ซึ่งเป็นการใช้ยาเพื่อไปรบกวนการทำงานของโมเลกุลที่มีความจำเพาะต่อการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง หรือการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด การใช้รังสีรักษา การปลูกถ่ายไขกระดูก

    จากที่กล่าวมาการที่ต้องลดยาลง แพทย์ก็หวังเพื่อจะช่วยลดผลข้างเคียงจากยาไปด้วย เพราะอาจพิจารณาจากความฟิตของผู้ป่วยแล้วว่าอาจจะไม่สามารถทนยาเคมีบำบัดที่แรงระดับเดิมต่อไปได้ ซึ่งต้องชั่งกับผลที่จะเสียไป ก็คือการลดยาอาจทำให้โรคกำเริบ แต่ในบางครั้งการที่ผู้ป่วยได้ยาที่รุนแรงเกินไป กดภูมิมากเกินไป ผลเสียจากการติดเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้อาจจะรุนแรงกว่าการที่โรคไม่หายขาดมาก

    การดูแลตนเอง ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ภาวะซีดที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นจากตัวโรคเอง ซึ่งถ้ายังไม่ซีดมากจนถึงต้องให้เลือด แพทย์จะคอยติดตามค่าเลือดให้เป็นระยะ กินอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ ส่วนว่าพยากรณ์โรคจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องสอบถามกับแพทย์ผู้รักษาโดยตรง เนื่องจากมีความแตกต่างกันไปในแต่ละระยะ ชนิดย่อยของโรค และความแข็งแรงเดิมของตัวผู้ป่วยเอง