ตาเขียว

ความหมาย ตาเขียว

ตาเขียว (Black Eye) เป็นอาการช้ำรอบดวงตาที่เกิดขึ้นจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้าหรือหัว โดยการสะสมของเลือดและของเหลวอื่น ๆ จะทำให้เกิดอาการบวมบริเวณผิวเปลือกตา และรอบเบ้าตาเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือม่วงเข้ม ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือเหลืองในภายหลัง

แม้ว่าตาเขียวมักเป็นผลจากการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรงและอาจดีขึ้นเองภายใน 2–3 วัน แต่ก็อาจเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เช่น ภาวะเลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้า (Hyphema) ความดันภายในลูกตาสูงขึ้นหรือกะโหลกศีรษะแตกร้าว เป็นต้น ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่รุนแรงร่วมกับตาเขียว ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด

ตาเขียว

อาการของตาเขียว

ผู้ป่วยที่มีอาการตาเขียวจะรู้สึกเจ็บตา บวมรอบดวงตา โดยอาการบวมอาจค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นและทำให้ไม่สามารถลืมตาได้ตามปกติ ตามัว ผิวรอบดวงตาเปลี่ยนเป็นสีคล้ายรอยช้ำ โดยจะเกิดรอยแดงในตอนแรกก่อนสีจะค่อย ๆ เข้มขึ้นแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วง เหลือง เขียวหรือดำ โดยทั่วไป อาการตาเขียวจะดีขึ้นภายใน 2–3 วันหลังการประคบน้ำแข็งหรือใช้ยาแก้ปวด ซึ่งรอยช้ำในบริเวณดังกล่าวจะจางลงและอาการบวมจะลดลงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการรุนแรงและควรนำส่งโรงพยาบาล ได้แก่ ผู้ที่มองเห็นภาพซ้อน สูญเสียการมองเห็นหรือไม่สามารถขยับลูกตาได้ มีเลือดออกบนพื้นผิวดวงตา หมดสติ มีของเหลวหรือเลือดไหลออกจากจมูกหรือหู ปวดหัวอย่างต่อเนื่องหรือปวดหัวอย่างรุนแรง ง่วงซึม เวียนหัว มีอาการหลงลืม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อที่ดวงตา ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ อาทิ มีไข้ ตัวร้อน มีรอยแดงหรือมีหนองไหลออกจากตา 

สาเหตุของตาเขียว

โดยทั่วไปอาการตาเขียวมักเกิดจากการได้รับการกระแทกบริเวณดวงตา จมูก หรือหัว ทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กแตกและมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ผิวบริเวณรอบดวงตาจึงเปลี่ยนสีหรือเกิดรอยช้ำในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ตาเขียวส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง แต่อาการตาเขียวในบางกรณีอาจเป็นผลมาจากกะโหลกศีรษะแตก ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่ควรนำตัวผู้ป่วยส่งพยาบาลโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ตาเขียวอาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดบางประเภท เช่น การผ่าตัดศัลยกรรมจมูกหรือการศัลยกรรมบริเวณใบหน้า เป็นต้น และอาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดบริเวณจมูกหรือหน้าผากไปยังบริเวณใต้ตาเนื่องจากแรงโน้มถ่วงได้เช่นกัน

การวินิจฉัยตาเขียว

แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกายและสอบถามเกี่ยวกับการได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งตรวจหาการบาดเจ็บหรืออาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นแพทย์จะส่องไฟไปที่ตาของผู้ป่วยเพื่อตรวจดูรูม่านตา การบาดเจ็บภายในดวงตา ตรวจหาสิ่งแปลกปลอมและรอยถลอกบริเวณดวงตา ทดสอบการเคลื่อนไหวของลูกตาและตรวจกระดูกใบหน้ารอบดวงตา

นอกจากนี้แพทย์ยังอาจสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างการเอกซเรย์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หากสงสัยว่ามีการแตกหักของกระดูกใบหน้าหรือความผิดปกติบริเวณรอบดวงตา ในกรณีที่พบความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาหรือการมองเห็น แพทย์อาจส่งต่อการรักษาให้กับแพทย์เฉพาะทางอย่างจักษุแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสมต่อไป

การรักษาตาเขียว

ผู้ป่วยสามารถบรรเทาตาเขียวในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • พักผ่อนและประคบเย็นหลังได้รับบาดเจ็บด้วยผ้าสะอาดห่อน้ำแข็งหรือเจลประคบเย็นประมาณ 20 นาทีทุก ๆ 1 ชั่วโมงในวันแรก เพื่อลดอาการบวมและการสะสมของของเหลวรอบดวงตา ทั้งนี้ต้องระวังไม่ให้ที่ประคบกดทับดวงตาหรือประคบนานเกินไป และไม่ควรให้น้ำแข็งหรือของเย็นสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง
  • ประคบอุ่นหรือร้อนหลังอาการบวมคงที่ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการตาเขียวได้ โดยผู้ป่วยควรประคบซ้ำหลายครั้งเป็นเวลา 1–2 วัน
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บจนกว่าตาจะหายเป็นปกติ
  • หากมีการมองเห็นผิดปกติอย่างตามัวหรือเห็นภาพซ้อน มีอาการเจ็บตาอย่างรุนแรง เกิดรอยช้ำรอบดวงตา มีเลือดออกภายในดวงตา มีเลือดหรือของเหลวใสไหลออกจากจมูก มีเลือดในตาขาวหรือตาดำ ควรไปพบแพทย์โดยทันที

ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรงหรือไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจแนะนำให้ปกป้องดวงตาส่วนที่ได้รับบาดเจ็บด้วยการสวมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยปกป้องดวงตาหรือหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องปะทะร่างกาย และรับประทานยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น แต่ในผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือพบภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจส่งให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง อาทิ จักษุแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก หรือส่งต่อการรักษาให้กับแพทย์แผนกศัลยกรรมตกแต่งด้านใบหน้า ช่องปาก และขากรรไกรในกรณีที่กระดูกใบหน้าของผู้ป่วยแตกหัก เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของตาเขียว

ตาเขียวที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น ภาวะกระดูกเบ้าตาแตก จอประสาทตาลอก หรือโรคต้อหินที่อาจเกิดขึ้นทันทีหรือเกิดขึ้นหลายปีหลังจากได้รับบาดเจ็บ ภาวะเลือดออกในช่องลูกตาด้านหน้าเนื่องจากการสะสมของเลือดบริเวณช่องหน้าลูกตาอาจทำให้เนื้อเยื่อภายในดวงตาได้รับความเสียหาย รวมทั้งภาวะม่านตาอักเสบที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการม่านตาแดง เจ็บตาเมื่อมองไปที่แสงสว่าง รูม่านตาเล็กหรือมีรูปทรงผิดปกติ เห็นจุดดำลอยไปมาหรือตามัว ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น

การป้องกันตาเขียว 

ตาเขียวสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บ อาทิ

  • ตรวจดูสิ่งของต่าง ๆ ภายในบ้านที่อาจทำให้ล้มอย่างพรมที่ไม่ยึดเกาะกับพื้นหรือสิ่งของต่าง ๆ บนพื้น 
  • นักกีฬาและผู้ที่ต้องทำงานอุตสาหกรรมควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมขณะเล่นกีฬาหรือในระหว่างการทำงาน
  • สวมแว่นตากันลมหรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตาชนิดอื่น ๆ ขณะทำงาน ทำสวนหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจทำให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บ 

คาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถและสวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่รถจักรยานยนต์