ชวนรู้จักกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และวิธีลดความเสี่ยงด้วยตัวเอง

NCDs (Noncommunicable Diseases) หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรก ๆ ของผู้ป่วยในประเทศไทยและทั่วโลก แต่รู้หรือไม่ว่าเราอาจลดความเสี่ยงการเกิดโรค NCDs ที่มีสาเหตุจากการใช้ชีวิตของเราได้ เพียงกลับมาสนใจดูแลสุขภาพของตัวเองให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ

โรค NCDs เป็นผลมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ สภาพแวดล้อมรอบตัว ร่างกายที่เสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้น ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเอง อย่างการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ หรือรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารรสชาติหวานจัด เค็มจัด

ชวนรู้จักกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และวิธีลดความเสี่ยงด้วยตัวเอง

โดยกลุ่มโรค NCDs ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคอ้วน และโรคไตเรื้อรัง โรคเหล่านี้เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักพบมากในหมู่ผู้สูงอายุ และยังมีแนวโน้มจะพบในคนอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วย  

วิธีลดความเสี่ยงต่อโรค NCDs

การลดความเสี่ยงหรือป้องกันโรค NCDs ในเบื้องต้นนั้นเน้นไปที่ปัจจัยทางด้านพฤติกรรมที่เราสามารถควบคุมหรือปรับเปลี่ยนได้ เพียงอาศัยความอดทนและทำให้เป็นนิสัยเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่น

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และควันบุหรี่มือสอง

การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากบุหรี่มีส่วนผสมของสารพิษอย่างนิโคติน ทาร์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ อันเป็นต้นเหตุของโรค NCDs และปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวาน วัณโรค โรคในระบบทางเดินหายใจ หรือระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ  

อันตรายจากบุหรี่ไม่เพียงเกิดกับคนที่สูบบุหรี่เท่านั้น แต่คนที่สูดดมควันบุหรี่ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านี้เช่นกัน โดยเฉพาะเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว การสูบบุหรี่และควันบุหรี่จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรหลีกเลี่ยง

สำหรับผู้สูบบุหรี่เป็นประจำที่ต้องการเลิกบุหรี่สามารถไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือติดต่อสายด่วน 1600 เพื่อวางแผนการเลิกบุหรี่อย่างถูกต้องและปลอดภัย นอกจากนั้น กำลังใจและการสนับสนุนจากบุคคลรอบตัวก็เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ เพราะจะช่วยเพิ่มความมุ่งมั่นในการเลิกบุหรี่ ทำให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น  

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ร่างกายคนเราต้องการอาหารเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการทำงานต่าง ๆ แต่ใช่ว่าเราจะสามารถรับประทานอาหารทุกชนิดได้ตามใจปาก เพราะการรับประทานอาหารบางชนิดในปริมาณมากเกินไปเป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอาหารโซเดียมสูง และอาหารน้ำตาลสูง

การรับประทานอาหารโซเดียมสูงอย่างอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง หรืออาหารกระป๋อง อาจไปเพิ่มระดับความดันโลหิตให้สูงขึ้น ในระยะยาวอาจเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ ในกรณีของอาหารน้ำตาลสูงอย่างซีเรียล น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้บางชนิด หากรับประทานมาก ๆ อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนอาจนำไปสู่โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคมะเร็งในท้ายที่สุด

ดังนั้น เราจึงควรรับประทานอาหารในปริมาณที่พอดีพอเหมาะ โดยพิจารณาจากพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 1,200–1,600 กิโลแคลอรี แล้วเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ รวมทั้งควบคุมหรือปรับปริมาณโซเดียมและน้ำตาลในแต่ละมื้ออาหารให้น้อยลง

ทำกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น

ประโยชน์ของการทำกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายนั้นมีมากมาย ที่เห็นได้ชัดคือช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและควบคุมน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลให้ความเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs อย่างโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจอาจลดน้อยลงไปด้วย   

โดยกิจกรรมทางกายนั้นไม่ได้หมายถึงแค่การออกกำลังกายอย่างวิ่ง ว่ายน้ำ หรือขี่จักรยานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกายในระหว่างวันอย่างการเดินขึ้นลงบันไดหรือทำสวนด้วย เราจึงสามารถเริ่มต้นจากการทำกิจกรรมทางกายง่าย ๆ แล้วค่อยขยับไปสู่การออกกำลังกาย เมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้วควรหมั่นออกกำลังกายที่มีความหนักระดับกลางขึ้นไปวันละอย่างน้อย 30 นาที เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว    

หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคตับ ปัญหาในระบบย่อยอาหาร ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ปัญหาด้านความทรงจำ พิษสุราเรื้อรัง ไปจนถึงปัญหาสังคม ความรุนแรง และอุบัติเหตุ

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราควรเลิกดื่มแอลกอฮอล์ถาวร แต่หากเลิกไม่ได้อาจค่อย ๆ ปรับลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งผู้ชายควรดื่มไม่เกินวันละ 2 หน่วยบริโภค ส่วนผู้หญิงควรดื่มไม่เกินวันละ 1 หน่วยบริโภค

โดย 1 หน่วยบริโภคของแอลกอฮอล์แต่ละชนิดจะมีปริมาณต่างกันไป เช่น เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% จะเท่ากับ 350 มิลลิลิตร ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 12% จะเท่ากับ 150 มิลลิลิตร และสุราที่มีแอลกอฮอล์ 40% จะเท่ากับ 45 มิลลิลิตร

นอกเหนือจากวิธีการเสริมสร้างสุขภาพดังข้างต้น การหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอและไปตรวจสุขภาพเป็นประจำตามที่แพทย์แนะนำก็มีส่วนช่วยให้เราห่างไกลจากโรค NCDs และปัญหาสุขภาพอื่นได้ด้วย และหากพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดโอกาสเกิดโรคร้ายแรงในอนาคต