ติดการพนัน (Compulsive Gambling)

ความหมาย ติดการพนัน (Compulsive Gambling)

โรคติดการพนัน เป็นหนึ่งในความผิดปกติของกลุ่มอาการขาดความยับยั้งชั่งใจในการกระทำ (Impulse Control Disorders) โดยผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมความต้องการเล่นการพนันของตนเองได้ โกรธเคืองง่ายเมื่อต้องลดหรือหยุดเล่นการพนัน เล่นการพนันจนส่งผลกระทบต่อการเรียนหรือการทำงาน และอาจก่อให้เกิดความต้องการหรือพยายามฆ่าตัวตายจากความเครียดที่เกิดขึ้น

โรคติดการพนันอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกตินี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สามารถบำบัดและรักษาผู้ที่ติดการพนันได้ด้วยหลายวิธีร่วมกัน หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการคล้ายติดการพนัน ควรเข้ารับการรักษาและบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้กลับมาใข้ชีวิตได้อย่างปกติ 

ติดการพนัน

อาการของโรคติดการพนัน

ผู้ที่ติดการพนันจนเข้าข่ายป่วยเป็นโรคติดการพนันมักจะมีอาการต่อไปนี้

  • หมกมุ่นกับการเล่นพนันทุกชนิด คิดหาทางเพื่อให้ได้เงินมาเล่นการพนันมากขึ้น 
  • เพิ่มจำนวนเงินในการเล่นพนันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองความตื่นเต้นเร้าใจ
  • ไม่สามารถลด ควบคุม หรือหยุดเล่นการพนันได้แม้จะพยายามแล้ว
  • หากไม่ได้เล่นการพนันจะรู้สึกหงุดหงิดหรือกระสับกระส่าย
  • เล่นการพนันเพื่อสร้างความผ่อนคลายหรือหนีออกจากความรู้สึกผิด ไร้ค่า วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
  • เล่นการพนันมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินที่เสียไปกลับคืน
  • โกหกครอบครัวหรือคนรอบว่าไม่ข้องเกี่ยวกับการเล่นพนัน
  • การเล่นพนันส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงานและความสัมพันธ์
  • เกิดความรู้สึกผิดหลังเล่นการพนัน
  • ฉ้อโกงหรือขโมยเพื่อนำเงินไปเล่นการพนัน
  • ต้องการความช่วยเหลือด้านปัญหาการเงิน

หากพบว่าตนเองมีพฤติกรรมที่ได้กล่าวไปข้างต้นหรือได้รับการตักเตือนจากเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้างเกี่ยวกับการเล่นพนัน ควรเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาและขอคำแนะนำ

สาเหตุของโรคติดการพนัน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าพื้นที่สมองส่วนอินซูลาในผู้ป่วยโรคติดการพนันทำงานมากกว่าปกติหรือมีการทำงานของสารโดปามีนในสมองมากขึ้น จึงอาจส่งผลให้เกิดกระบวนการคิดที่บิดเบือนไป ทำให้ผู้ป่วยยังคงเล่นพนันต่อไปเรื่อย ๆ และอาการก็จะยิ่งรุนแรงตามไปด้วยหากผู้ป่วยเล่นการพนันมากขึ้น ซึ่งการตอบสนองของสมองในรูปแบบนี้เป็นรูปแบบเดียวกับสมองของผู้ที่ติดสุราหรือยาเสพติด 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคติดการพนันได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเป็นผลจากปัจจัยทางชีวภาพ กรรมพันธุ์ และสภาพแวดล้อมรวมกัน หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น 

  • อุปนิสัย เช่น ชอบการแข่งขัน กระสับกระส่าย ทำงานหนักเกินไป หุนหันพลันแล่นและเบื่อง่าย เป็นต้น
  • การใช้สารเสพติดหรือมีความผิดปกติทางจิต เช่น ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติ ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล โรคไบโพลาร์ โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) หรือโรคสมาธิสั้น (ADHD) เป็นต้น
  • เพศ โรคติดการพนันพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ลักษณะอาการติดการพนันทั้งเพศชายและเพศหญิงมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน
  • อายุ มักพบผู้ป่วยโรคติดการพนันอยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน โดยเฉพาะผู้ที่เล่นการพนันตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยรุ่นจะมีความเสี่ยงเป็นโรคติดการพนันในอนาคต
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome: RLS) อย่างยาเสริมโดปามีน เป็นต้น
  • ได้รับอิทธิพลจากเพื่อนหรือครอบครัว

การวินิจฉัยโรคติดการพนัน

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจใดที่นำมาใช้การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชได้ แต่แพทย์จะมีการประเมินและตรวจร่างกายเนื่องจากอาการของบางโรคหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้มีนิสัยที่ไม่คงที่ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และทำให้ติดการพนัน 

ในกรณีที่อาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการพูด รูปแบบความคิด อารมณ์และความจำของผู้ป่วย แพทย์จะต้องตรวจสุขภาพจิตอย่างครอบคลุมร่วมด้วยเพื่อประเมินอาการ และอาจใช้เกณฑ์การวินิจฉัยของ DSM-5 มาเป็นเครื่องมือในการตรวจด้วยเช่นกัน โดยแพทย์จะสอบถามผู้ป่วย เพื่อนหรือครอบครัวเกี่ยวกับการติดการพนันของผู้ป่วย เช่น 

  • ช่วงอายุที่เริ่มเล่นการพนัน 
  • มีสมาชิกในครอบครัวหรือคนรู้จักติดการพนันหรือมีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ หรือไม่ 
  • ระยะเวลาและความถี่ในการเล่นหรือคิดเกี่ยวกับการพนัน 
  • จำนวนเงินที่ใช้ในการเล่นพนันหรือเสียพนัน 
  • สามารถต้านทานที่จะไม่เล่นการพนันได้หรือไม่ 

การรักษาโรคติดการพนัน

แพทย์จะให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยเพื่อให้รับรู้สาเหตุที่ตนเองต้องเข้ารับการรักษา พร้อมกับใช้หลายวิธีบำบัดโรคติดการพนัน ดังนี้

การบำบัด

การทำพฤติกรรมบำบัดจะมีแนวทางให้ผู้ป่วยได้รับรู้ถึงพฤติกรรมของตนเองและสอนให้ผู้ป่วยมีทักษะในการลดแรงกระตุ้นที่ทำให้เล่นพนัน หรือการบําบัดทางความคิดและพฤติกรรมที่จะมุ่งเน้นไปยังการแยกแยะความเชื่อในด้านลบ สิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การกระทำที่ไม่เหมาะสม และเปลี่ยนแปลงให้ผู้ป่วยมีสุขภาพกายและใจที่ดี อีกทั้งครอบครัวสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดผู้ป่วยได้ด้วยการทำครอบครัวบำบัด และการทำกิจกรรมกลุ่มบำบัดอาจเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของการรักษา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พูดคุยกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน

การใช้ยา

แพทย์อาจใช้ยาต้านเศร้า (Antidepressants) ยาควบคุมอารมณ์ (Mood Stabilizers) ยาต้านกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids Antagonist) หรือยาแก้ปวดชนิดเสพติดในการรักษาอาการที่เกิดขึ้นควบคู่กับการติดการพนัน อย่างภาวะซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) หรือโรคสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งยาบางชนิดอาจมีประสิทธิภาพช่วยลดการติดการพนันได้

ทั้งนี้ การรักษาและบำบัดโรคติดการพนันทำได้ทั้งแบบการบำบัดฟื้นฟูในโรงพยาบาล (Inpatient Program) การบำบัดฟื้นฟูนอกโรงพยาบาล (Outpatient Program) สถานบำบัด 

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอาจช่วยให้ผู้ที่ติดการพนันมีอาการดีขึ้น โดยให้ผู้อื่นที่ไว้ใจเข้ามาช่วยควบคุมด้านการเงิน หลีกเลี่ยงการเข้าถึงสถานที่หรือสถานการณ์ที่อาจกระตุ้นความต้องการที่จะเล่นการพนัน โดยเฉพาะคาสิโนหรือสถานที่ที่มีการจัดการแข่งขันกีฬา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ติดพนันที่ได้รับการรักษาแล้วสามารถกลับมาติดการพนันได้อีกครั้งเช่นกัน หากผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองต้องการเล่นพนันอีกครั้ง ควรแจ้งให้จิตแพทย์หรือผู้ดูแลทราบเพื่อป้องกันการกลับไปติดการเล่นพนันซ้ำ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดการพนัน

ผู้ติดการพนันมีแนวโน้มจะมีความสัมพันธ์​กับโรคทางจิตเวชและกระทบต่อสุขภาพทางกาย เช่น อาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ มีความบกพร่องทางพฤติกรรม เกิดความเครียดหรือภาวะซึมเศร้า ต้องการหรือพยายามที่จะฆ่าตัวตาย เป็นต้น นอกจากนี้ โรคติดการพนันอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว อาทิ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ การทำร้ายร่างกายเด็ก ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาด้านการทำงาน ปัญหาด้านกฎหมายหรือการจำคุก 

การป้องกันโรคติดการพนัน

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดการพนันควรหลีกเลี่ยงการเล่นพนันทุกรูปแบบ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสังสรรค์กับผู้ที่เล่นพนันหรือไปยังสถานที่ที่มีการเล่นพนัน หากมีพฤติกรรมเข้าข่ายติดการพนันควรไปพบจิตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัย ซึ่งการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะช่วยป้องกันผู้ป่วยไม่ให้มีอาการที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม