กระเนื้อ

ความหมาย กระเนื้อ

 

กระเนื้อ (Seborrheic Keratosis) เป็นก้อนเนื้อชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อขนาดเล็กคล้ายหูดนูนขึ้นมาจากผิวหนัง มักพบตามใบหน้า หน้าอก ไหล่ และหลัง ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและไม่จำเป็นต้องรักษา ยกเว้นในรายที่กังวลเรื่องความสวยงาม ซึ่งพบได้บ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ

กระเนื้อ

อาการของกระเนื้อ

ลักษณะหรืออาการของกระเนื้อสังเกตได้จาก

  • เป็นก้อนเนื้อรูปร่างทรงกลมหรือวงรีคล้ายแปะติดอยู่กับผิวหนัง
  • ขนาดของกระเนื้อส่วนมากมีขนาดเล็กไปจนถึงประมาณ 1 นิ้ว (2.5 เซนติเมตร)
  • มีหลายสี พบได้ตั้งแต่น้ำตาลอ่อนหรือเข้มไปจนถึงสีดำ
  • พื้นผิวของกระอาจมีลักษณะเรียบมันหรือขรุขระ ค่อนข้างแบนหรือนูนขึ้นมาเล็กน้อย
  • พบได้บ่อยตามใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก ไหล่ ท้อง และหลัง มักเกิดเป็นกระจุกมากกว่าจุดเดียว แต่จะไม่พบตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้า
  • อาจมีอาการคันหรือเกิดการระคายเคือง แต่ไม่มีอาการเจ็บ
กระเนื้อส่วนใหญ่ไม่ค่อยก่อปัญหาใด ๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและบริเวณที่เกิด ทั้งนี้ ไม่ควรถู ขูด หรือดึงผิวหนังบริเวณที่เกิดกระเนื้อ เพราะอาจทำให้เลือดออก บวม หรือติดเชื้อตามมา แต่พบได้น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อสังเกตเห็นว่ากระเนื้อขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น เกิดการระคายเคืองหรือเลือดออกเมื่อเสียดสีโดนกับเสื้อผ้า หรือผิวหนังบริเวณนั้นเกิดความผิดปกติตามมา เช่น รูปร่างของรอยโรคผิดแปลกไปจากเดิม ก้อนเนื้อที่คาดว่าเป็นกระเนื้อเกิดบาดแผล มีขนาดใหญ่ขึ้น ขอบก้อนเนื้อไม่เรียบ หรือเลือดออกจากก้อนเนื้อ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งผิวหนัง จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ

สาเหตุของกระเนื้อ

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของกระเนื้อ แต่เชื่อว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเกิดมีดังนี้

  • อายุ อายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดกระเนื้อได้มากตามวัย โดยพบบ่อยในผู้สูงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปได้ถึง 90% และมักเกิดกับผู้ใหญ่วัยกลางคนอายุระหว่าง 30-40 ปีเช่นกัน ซึ่งอัตราการเกิดในเพศชายและหญิงเท่ากัน และไม่ค่อยพบในคนอายุน้อยกว่า 20 ปี
  • พันธุกรรม บุคคลที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นกระเนื้อมักมีเกิดกระเนื้อสูงกว่าคนทั่วไปจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม 
  • แสงแดด ผู้ที่ตากแดดเป็นเวลานานหรือชอบอยู่กลางแจ้งมีโอกาสเกิดกระเนื้อมากขึ้น
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น เป็นโรคผิวหนัง การติดเชื้อไวรัส การกลายพันธุ์ของยีน
การวินิจฉัยกระเนื้อ

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยกระเนื้อได้ทันทีจากการสังเกตที่ผิวหนังด้วยตาเปล่า การสอบถามประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย แต่ในรายที่บอกไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากกระเนื้อมีความคล้ายคลึงกับโรคทางผิวหนังหรือโรคมะเร็งผิวหนังหลายชนิด เช่น ชนิดเมลาโนมา (Malignant Melanoma) ชนิดเบซาลเซลล์หรือเรียกย่อว่า บีซีซี (Basal Cell Carcinoma) ชนิดสะความัส (Squamous Cell Carcinoma) ทำให้ต้องตรวจเพิ่มเติมจากวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย ได้แก่

  • การส่องกล้องตรวจผิวหนัง (Dermatoscopy) เพื่อดูโครงสร้างผิวหนังและความผิดปกติของเม็ดสีผิว ซึ่งวิธีนี้ยังใช้ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังเช่นกัน
  • การเก็บตัวอย่างของผิวหนังบริเวณที่เกิดกระเนื้อ เพื่อส่งตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา โดยการส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Skin Biopsy)
การรักษากระเนื้อ

กระเนื้อไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ยกเว้นผู้ป่วยต้องการกำจัดกระเนื้อออกด้วยเหตุผลด้านความสวยงาม หรือผิวหนังบริเวณนั้นส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต เช่น เกิดการระคายเคืองหรือเลือดออกเมื่อเสียดสีกับเสื้อผ้า

ในกรณีที่แพทย์ไม่ต้องการส่งชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยาและต้องการกำจัดกระเนื้อออก การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งอาจใช้วิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกัน

  • การผ่าตัดด้วยความเย็นจัดหรือการจี้เย็น (Cryosurgery) เป็นวิธีรักษาที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้ไนโตรเจนเหลวแช่แข็งทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออก แต่อาจส่งผลให้เกิดรอยด่างบริเวณที่เกิดกระเนื้อ และไม่ค่อยได้ผลดีกับกระเนื้อที่มีลักษณะนูน
  • การขูดเอาเนื้อเยื่อที่เป็นกระเนื้อออกโดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่า Curettage เพื่อให้ผิวหนังบริเวณนั้นบางหรือเรียบลง โดยอาจใช้ควบคู่กับวิธีการผ่าตัดด้วยความเย็นจัด หรือการจี้ด้วยไฟฟ้า
  • การจี้ไฟฟ้า (Electrocautery) แพทย์จะทายาชาเฉพาะที่ก่อนใช้เครื่องจี้ไฟฟ้ากับผิวหนังบริเวณที่เกิดกระเนื้อ แพทย์อาจใช้วิธีนี้เพียงวิธีเดียวหรือทำควบคู่กับการขูดเอาเนื้อเยื่อออก หากทำไม่ถูกวิธีหรือแพทย์ที่ไม่ชำนาญอาจก่อให้เกิดรอยแผลเป็นตามมา และค่อนข้างใช้เวลานานกว่าวิธีการรักษาอื่น
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Ablative Laser Surgery) ซึ่งมีเลเซอร์อยู่หลายชนิดที่ช่วยให้กระเลือนลงได้
  • การจี้ด้วยสารเคมี (Focal Chemical Peel) เช่น กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic Acid)
แต่หากต้องการส่งตรวจตัวอย่างจากกระเนื้อ แพทย์จะทำการตัดก้อนกระเนื้อออกด้วยมีดผ่าตัดหรือมีดโกนผ่าตัด โดยการรักษากระเนื้อจะเน้นการปรับสีผิวที่เข้มกว่าผิวปกติหรือกำจัดเม็ดสีผิวให้น้อยลง ส่วนใหญ่แพทย์สามารถกำจัดกระเนื้อออกได้ภายในครั้งเดียว ซึ่งทุกวิธีล้วนมีข้อดีและข้อเสีย ก่อนการรักษาจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงผลที่ตามมา อย่างไรก็ตาม หลังการรักษาก็อาจมีโอกาสเกิดกระเนื้อขึ้นในส่วนอื่นของร่างกาย แต่มักไม่ค่อยกลับมาเป็นซ้ำในจุดเดิม

ภาวะแทรกซ้อนของกระเนื้อ

กระเนื้อเป็นเนื้องอกผิวหนังชนิดไม่ร้ายแรง ส่วนมากจะส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้เกิดความวิตกกังวล อับอาย หรือเครียด บางรายอาจเกิดการระคายเคือง บวมอักเสบ ผิวแตกจนเป็นแผล มีเลือดออก รู้สึกไม่สบายตัว อาจมาจากตัวโรคเองหรือเป็นผลข้างเคียงหลังจากการรักษา

อย่างไรก็ตาม กระเนื้อที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจนมีลักษณะคล้ายผื่นในบางกรณีอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งผิวหนัง เนื้องอกชนิดอะดีโนคาซิโนมาในทางเดินอาหาร (Gastric Adenocarcinoma) หรือกลุ่มอาการที่เป็นผลจากโรคมะเร็ง (Paraneoplastic Syndrome) แต่พบได้น้อย จึงจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคให้ออกจากกัน เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

การป้องกันกระเนื้อ

ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดกระเนื้ออย่างแน่ชัด จึงป้องกันได้ยาก เพราะบางสาเหตุมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ นอกจากนั้นก็อาจลดความเสี่ยงได้โดยหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด เช่น สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดอย่างขายาว แขนยาว หรือหมวก หลีกเลี่ยงการตากแดดในช่วงเวลาประมาณ 10 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่แดดแรง และทาครีมกันแดด ที่มี SPF 50 เป็นอย่างน้อย เพื่อปกป้องผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด