ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

ความหมาย ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

TIA (Transient Ischemic Attack) หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว เกิดจากเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ชั่วขณะ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง แต่ต่างกันตรงที่ TIA มักไม่ทำให้สมองเกิดความเสียหายอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนก่อนเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตันได้ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการของภาวะนี้ ผู้ป่วยต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที

TIA

อาการของภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

อาการของ TIA ขึ้นอยู่กับบริเวณที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง ดังนี้

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา เป็นเหน็บ ทรงตัวลำบาก หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีกบริเวณใบหน้าและแขนขา
  • พูดไม่รู้เรื่อง พูดลำบาก ไม่เข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูด
  • มองเห็นภาพซ้อน ตาบอดข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง
  • เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ความดันโลหิตสูงหรือรู้สึกเหนื่อยอย่างฉับพลัน
  • ไม่มีสติ สับสน ความจำเสื่อมชั่วคราว บุคลิกภาพเปลี่ยนไป

แม้อาการเหล่านี้มักหายได้เองภายในไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมง และมักไม่มีอาการรุนแรงเท่ากับโรคหลอดเลือดสมองซึ่งมักเป็นนานกว่า 24 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการข้างต้น เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงและอันตรายต่อชีวิต

สาเหตุของภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

TIA เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงสมองในชั่วขณะ ซึ่งส่งผลให้สมองขาดสารอาหารและออกซิเจน โดยการเจ็บป่วยที่มักเป็นปัจจัยทำให้หลอดเลือดแดงอุดตันจนนำไปสู่ TIA ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพริ้ว โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว และโรคเบาหวาน เป็นต้น

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อ TIA มีดังนี้

  • มีอายุมากกว่า 40 ปี
  • ผู้ชายมีสถิติเป็นภาวะนี้บ่อยกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า
  • มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน โดยมีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่า 25 ร่วมกับมีรอบเอวมากกว่า 35 นิ้วในผู้หญิง หรือ 40 นิ้วในผู้ชาย
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันและเกลือในปริมาณมาก
  • รับประทานยาคุมกำเนิดบางชนิด
  • ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก สูบบุหรี่ ติดสารเสพติดอย่างโคเคน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งเคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ลิ่มเลือดอุดตัน มีการอุดตันของหลอดเลือดแดงแคโรติดอาเทอรี ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่อยู่บริเวณคอและมีหน้าที่นำเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมอง หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจติดเชื้อ หัวใจพิการ หัวใจล้มเหลว หรือเบาหวาน เป็นต้น
  • มีระดับสารโฮโมซิสเตอีนในเลือดสูง ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดความเสียหายของหลอดเลือดแดง แต่การตรวจหาระดับของสารนี้ยังไม่ใช่แนวทางที่เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัย TIA

การวินิจฉัยภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

TIA ต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที เพื่อหาสาเหตุและวางแผนรักษา โดยแพทย์อาจตรวจร่างกายและวินิจฉัยด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ตรวจหาความเสี่ยงต่อภาวะ TIA หรือโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลืิอดสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • ตรวจหาความผิดปกติของการไหลเวียนเลือด แพทย์จะใช้เครื่องตรวจหูฟังเพื่อฟังเสียงการไหลเวียนที่ผิดปกติในหลอดเลือด ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงภาวะผนังหลอดเลือดแดงแข็ง
  • ตรวจดูลิ่มเลือดในจอตา แพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจในตาเพื่อหาการอุดตันของคอเลสเตอรอลหรือเกล็ดเลือดในหลอดเลือดเล็ก ๆ ภายในจอตา
  • ตรวจเลือด แพทย์อาจตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและวัดเวลาการแข็งตัวของเลือด
  • ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก แพทย์จะเอกซเรย์บริเวณทรวงอกเพื่อตรวจดูขนาด รูปร่าง และความผิดปกติของหัวใจหรือปอด
  • ตรวจเอกซเรย์หลอดเลือดแดง เพื่อดูการอุดตันของเส้นเลือดแดงในสมอง ซึ่งต้องฉีดสีผ่านสายสวนเข้าหลอดเลือดบริเวณขาหนีบและหลอดเลือดแดงหลัก รวมทั้งหลอดเลือดแดงแคโรติดอาเทอรีหรือหลอดเลือดแดงเวอร์ทีบรอลอาร์เทอรีด้วย โดยวิธีนี้จะใช้ตรวจเฉพาะในบางกรณีเท่านั้น
  • ตรวจซีที สแกน เพื่อดูสมองและความผิดปกติอื่น ๆ อย่างการเกิดเนื้องอก และอาจตรวจด้วยการฉีดสารทึบแสงร่วมด้วย (Computerized Tomography Angiography: CTA) เพื่อดูหลอดเลือดแดงบริเวณสมองและคอ
  • ตรวจเอ็มอาร์ไอ เพื่อดูโครงสร้างของสมองและความผิดปกติอื่น ๆ รวมทั้งอาจตรวจดูหลอดเลือดแดงบริเวณคอและสมองด้วยวิธีสร้างภาพภายในหลอดเลือดจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วยเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Angiography: MRA)
  • ตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจหาการตีบหรือการอุดตัันของหลอดเลือดแดงแคโรติดอาเทอรีบริเวณคอ รวมทั้งตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ หรือการเกิดลิ่มเลือดบริเวณหัวใจ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการใช้ขั้วไฟฟ้าติดบริเวณหน้าอกแล้วดูจังหวะการเต้นของหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิด TIA

การรักษาภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

การรักษา TIA มุ่งเน้นไปที่การควบคุมสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดปกติร่วมกับป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

การรับประทานยา ยาแต่ละชนิดที่เลือกใช้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง สาเหตุ ระดับความรุนแรง และรูปแบบของของการเกิด TIA ซึ่งอาจต้องใช้ยาหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่

  • ยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อลดความเสี่ยงการรวมตัวของเกล็ดเลือดจนเป็นลิ่มเลือดที่อาจเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดเสียหาย โดยยาส่วนใหญ่ที่นิยมใช้ คือ แอสไพริน ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยและมีราคาถูก โดยในบางกรณีแพทย์อาจให้ยารักษาร่วมกันระหว่างแอสไพรินกับไดไพริดาโมลหรือยาโคลพิโดเกรล เพื่อลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หากใช้ยาวาร์ฟาริน ผู้ป่วยสามารถใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ แต่ยาเฮพารินต้องใช้เฉพาะในระยะเวลาสั้น ๆ และผู้ป่วยต้องระมัดระวังในการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้
  • ยาสลายลิ่มเลือด ใช้ในบางกรณีเท่านั้น หากผู้ป่วยมีอาการของ TIA นานหลายนาทีและรู้สึกไม่ดีขึ้น แพทย์จะจ่ายยานี้เพื่อสลายลิ่มเลือดที่อุดตันการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง เช่น การใช้ยาแอลทีเพลสเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดสมองในรายที่เพิ่งแสดงอาการผิดปกติภายในไม่กี่ชั่วโมง เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดความดันโลหิต ยาลดคอเลสเตอรอลในเลือดกลุ่มสแตติน และยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

การผ่าตัดหลอดเลือดแดงแคโรติดอาเทอรี (Carotid Endarterectomy) แพทย์อาจแนะนำผู้ป่วยให้เข้ารับการผ่าตัดเปิดหลอดเลือดแดงบริเวณคอ เพื่อกำจัดคราบไขมันออกจากหลอดเลือด การรักษาด้วยวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดแดงตีบระดับปานกลางจนถึงรุนแรง โดยต้องคำนึงถึงอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยร่วมกับระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นด้วย

การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Coronary Angioplasty) แพทย์จะสอดท่อทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ ข้อมือ หรือแขนให้เข้าไปถึงบริเวณหลอดเลือดหัวใจที่มีการอุดตัน จากนั้นจึงใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดแดงที่อุดตันและใส่ขดลวดเพื่อให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายออก ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะพิจารณาใช้ในบางกรณีเท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

TIA อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองได้ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหลอดเลือดสมองหลังเผชิญภาวะนี้ ได้แก่

  • อายุมากกว่า 60 ปี
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ หรือเป็นโรคเบาหวาน
  • มีปัญหาในการพูด มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีกฉับพลัน หรือมีอาการป่วยของภาวะนี้นานกว่า 1 ชั่วโมง

นอกจากนี้ TIA ยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะหัวใจขาดเลือดและภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นการป่วยที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย รวมทั้งเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมองด้วย

การป้องกันภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

ผู้ป่วยต้องรู้จักดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิด TIA ซึ่งปฏิบัติได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์จำพวกผักผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้ได้รับสารอาหารมีประโยชน์ เช่น ใยอาหาร โพแทสเซียม โฟเลต สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
  • รับประทานเนื้อปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะปลาที่มีโอเมก้า 3 ในปริมาณมาก เช่น ซาร์ดีน แซลมอน หรือแมกเคอเรล เป็นต้น
  • ลดการบริโภคอาหารไขมันสูงอย่างพวกไขมันคอเลสเตอรอล ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ เพราะอาจช่วยลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดงได้
  • ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง เพราะอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงได้
  • ลดหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ให้เกิน 1-2 ดื่มมาตรฐาน/วัน
  • เลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่เพื่อไม่ให้สูดดมควันเข้าสู่ร่างกาย
  • ไม่ใช้สารเสพติดทุกประเภท
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยการออกกำลังกายเป็นประจำอาจช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงได้ด้วย
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งอาจช่วยลดความดันโลหิตและควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งต้องดูแลทั้งด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งการใช้ยารักษาอย่างเหมาะสม
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องรักษาอาการป่วยของตน รับประทานยา ปฏิบัติตามตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และปรึกษาแพทย์ทันทีหากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติใด ๆ