Sulfasalazine (ซัลฟาซาลาซีน)

Sulfasalazine (ซัลฟาซาลาซีน)

Sulfasalazine (ซัลฟาซาลาซีน) เป็นยาในกลุ่มยาซัลฟาที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยช่วยลดการอักเสบหรือบวมที่เกิดขึ้นในร่างกาย นำมาใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ยา Sulfasalazine มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

Sulfasalazine

เกี่ยวกับยา Sulfasalazine

กลุ่มยา ยาซัลฟา
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาเหน็บ

คำเตือนในการใช้ยา Sulfasalazine

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ ยาในกลุ่มซัลฟา รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือยามีประสิทธิภาพลดลง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากป่วยเป็นโรคลำไส้อุดตัน โรคพอร์ฟิเรีย โรคหืด หรือมีปัญหาในการปัสสาวะ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหืดซึ่งจะมีความไวต่อยานี้มาก
  • ผู้ที่มีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) ให้ใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะตามที่แพทย์สั่ง
  • การใช้ยานี้อาจทำให้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการบางชนิดคลาดเคลื่อน ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้
  • ยานี้อาจทำให้ปัสสาวะหรือผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มได้ แต่อาการดังกล่าวไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
  • การใช้ยานี้อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับอสุจิของเพศชาย ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการมีบุตร แต่อาจกลับมาสู่ภาวะปกติเมื่อหยุดใช้ยา
  • เด็กและผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ให้ใช้ยานี้อย่างระมัดระวังและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงสูง
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Sulfasalazine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ยารับประทาน

  • ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาครั้งละ 1-2 กรัม วันละ 4 ครั้ง จนกว่าอาการจะทุเลา ปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ คือ 2 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
  • เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป เริ่มรับประทานยาปริมาณ 40-60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน ปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ คือ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน

ยาเหน็บ

  • ผู้ใหญ่ ใช้ยาเหน็บครั้งละ 0.5-1 กรัม ในตอนเช้าและก่อนนอน โดยใช้ร่วมกับยาชนิดรับประทานได้ กรณีสวนทวาร ใช้ยาปริมาณ 3 กรัม ในเวลาก่อนนอนและสวนยาค้างไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  • เด็ก อายุ 5-8 ปี ใช้ยาเหน็บปริมาณ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
    อายุ 8-12 ปี ใช้ยาเหน็บปริมาณ 500 มิลลิกรัม ในตอนเช้า และปริมาณ 1 กรัม ในเวลาก่อนนอน
    อายุ 12-18 ปี ใช้ยาเหน็บครั้งละ 1 กรัม วันละ 2 ครั้ง
    กรณีสวนทวาร ให้สวนยาค้างไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ในเวลาก่อนนอน
    อายุ 2-7 ปี ใช้ยาสวนทวารปริมาณ 1-1.5 กรัม
    อายุ 7-12 ปี ใช้ยาสวนทวารปริมาณ 1.5-2.25 กรัม
    อายุ 12-18 ปี ใช้ยาสวนทวารปริมาณ 3 กรัม

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ผู้ใหญ่ รับประทานยาเม็ดชนิดแตกตัวในลำไส้ปริมาณเริ่มต้น 500 มิลลิกรัม/วัน ในสัปดาห์แรก และเพิ่มปริมาณอีก 500 มิลลิกรัม ในสัปดาห์ต่อไป รับประทานยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 3 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 2-4 ครั้ง

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก

เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป รับประทานยาเม็ดชนิดแตกตัวในลำไส้ปริมาณ 30-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง เริิ่มต้นใช้ยาปริมาณ 1/4 ถึง 2/3 ของปริมานยาสำหรับควบคุมอาการ และเพิ่มปริมาณยาทุกสัปดาห์จนถึงปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการใน 1 เดือน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม/วัน

การใช้ยา Sulfasalazine

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ควรรับประทานยาหลังอาหารและระวังไม่ให้ลืมรับประทานยา เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของยา
  • ใช้ยาให้ครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป ไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ในที่แห้ง ห่างจากความชื้น พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีเก็บยาและวิธีกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Sulfasalazine

การใช้ยา Sulfasalazine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง แสบร้อนกลางอก ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Sulfasalazine ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
  • ไตทำงานผิดปกติ ทำให้มีอาการ เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนแปลง ปัสสาวะมีเลือดปน หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก
  • ตับทำงานผิดปกติ อาจทำให้รู้สึกไม่อยากอาหาร อาเจียน อ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง ปัสสาวะสีเข้ม หรืออุจจาระสีซีด
  • อาการของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอมาก เจ็บหู เจ็บไซนัส ไอ มีเสมหะมากขึ้น เสมหะเปลี่ยนสี เจ็บเมื่อปัสสาวะ เป็นแผลในปาก แผลหายช้า เป็นต้น
  • อาการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น บวม แดง มีแผลพุพอง ผิวซีดพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ ตาแดงหรือระคายเคืองตา มีแผลในปาก คอ จมูก หรือตา
  • ปวดท้องมาก อุจจาระปนเลือด
  • เหนื่อยหรืออ่อนเพลียมาก
  • เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • เจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีปัญหาในการทรงตัว
  • แสบ เป็นเหน็บ มีอาการชาตามร่างกายผิดปกติ
  • ชัก
  • หายใจไม่อิ่ม
  • เวียนศีรษะอย่างรุนแรง
  • เกิดรอยช้ำหรือมีเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน