ไซอาติก้า (Sciatica)

ความหมาย ไซอาติก้า (Sciatica)

Sciatica หรือไซอาติก้า เป็นอาการปวดจากการระคายเคืองของเส้นประสาทไซอาติก ส่งผลให้เส้นประสาทอักเสบและเกิดอาการปวดตามมา ส่วนใหญ่จะปวดบริเวณหลังส่วนล่างหรือเอว ก้น และขาเพียงซีกใดซีกหนึ่ง โดยอาการปวดลักษณะนี้มักเกี่ยวข้องกับโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท และโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

Sciatica

อาการไซอาติก้า

อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • อาการเด่นของ Sciatica เป็นอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างหรือเอวลามไปยังก้นและด้านหลังขา แต่อาการปวดสามารถเกิดได้ทุกจุดที่มีเส้นประสาทไซอาติกผ่าน โดยเฉพาะบริเวณขาและเท้า ทั้งนี้ อาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบด้วย
  • ลักษณะการปวดของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป อาจเป็นอาการปวดไม่มาก ปวดแบบเจ็บแปลบ ปวดอย่างรุนแรงจนรู้สึกทรมาน หรือบางคนอาจปวดเหมือนโดนไฟช็อตหรือกล้ามเนื้อกระตุก  
  • บางรายอาจมีอาการปวดร่วมกับอาการชา เคลื่อนไหวขาลำบาก รู้สึกเจ็บปวดคล้ายถูกเข็มทิ่มหรือปวดแบบแสบร้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • อาการของผู้ป่วยจะแย่ลงเมื่อไอ จาม หรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ

อาการปวด Sciatica มักคงอยู่สักพักแล้วดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์ แต่บางรายก็อาจรุนแรงจนกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดนานกว่า 1 สัปดาห์ ปวดอย่างฉับพลันหรือรุนแรงบริเวณหลังส่วนล่างหรือขา รู้สึกชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ขา ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระได้ หรืออาการปวดเกิดขึ้นหลังจากได้รับอุบัติเหตุรุนแรง

สาเหตุของไซอาติก้า

Sciatica เกิดจากเส้นประสาทไซอาติกถูกกดทับที่จุดใดจุดหนึ่งในร่างกาย จนทำให้เส้นประสาทเกิดการระคายเคืองและอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือเคลื่อนไปทับเส้นประสาท และโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น

  • ได้รับบาดเจ็บที่หลังหรือกระดูกสันหลังช่วงเอว
  • ตั้งครรภ์
  • กล้ามเนื้อที่หลังหรือก้นหดเกร็ง
  • เกิดเนื้องอกเบียดเส้นประสาท
  • ติดเชื้อที่เส้นประสาทกระดูกสันหลังหรือบริเวณใกล้เคียง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังและกระตุ้นให้เกิดอาการปวด Sciatica ตามมา ได้แก่

  • อายุมาก การเปลี่ยนแปลงหรือความเสื่อมที่เพิ่มตามอายุสามารถนำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่กระทบต่อเส้นประสาทได้ง่าย
  • น้ำหนักตัวมากเกินไป น้ำหนักตัวมากสามารถสร้างแรงกดทับต่อเส้นประสาทและเสี่ยงเกิดอาการปวด
  • ท่าทางที่ไม่เหมาะสม เชื่อว่าการอยู่ในท่าทางการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานอาจมีส่วนทำให้เกิดอาการปวด Sciatica เช่น ต้องเอี้ยวตัวบ่อย ๆ ยกของหนัก หรือก้มตัวเป็นเวลานาน เป็นต้น แต่ก็ยังไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัด
  • ไม่ค่อยขยับร่างกาย คนที่นั่งเป็นเวลานานหรือมีวิถีชีวิตเฉื่อยชามีแนวโน้มในการเกิดอาการปวด Sciatica ได้มากกว่าคนที่กระฉับกระเฉง
  • โรคเบาหวาน ความผิดปกติของร่างกายในผู้ป่วยเบาหวานอาจทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย ซึ่งเอื้อต่อการเกิดอาการปวดในลักษณะนี้
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมรองเท้าส้นสูงเป็นประจำ เป็นต้น

การวินิจฉัยไซอาติก้า

แพทย์จะวินิจฉัยอาการปวด Sciatica เบื้องต้นด้วยวิธีการ ดังนี้

การตรวจร่างกาย

แพทย์จะสอบถามประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อและการตอบสนองทางระบบประสาทของร่างกาย แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทดลองเดินบนปลายเท้าหรือส้นเท้า ให้นอนลงแล้วลุกขึ้น หรือยกเท้าทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน เพราะการทำกิจกรรมเหล่านี้มักส่งผลให้อาการปวดแย่ลง

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงหรือไม่หายขาดภายใน 2-3 สัปดาห์ แพทย์จะตรวจหาความผิดปกติให้ชัดเจนมากขึ้นจากการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

การเอกซเรย์

เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อม หรือมีภาวะแคลเซียมพอกกระดูกสันหลังเกินกว่าปกติและไปกดทับโดนเส้นประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่อาการปวด

  • การฉีดสีเพื่อตรวจระบบไขสันหลัง (Myelogram) เป็นการตรวจระบบประสาทไขสันหลัง โดยแพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าที่โพรงกระดูกสันหลังก่อนจะสแกนดูไขสันหลัง เส้นประสาท และความผิดปกติโดยรอบ เพื่อหาสาเหตุของโรค
  • เอ็มอาร์ไอ แพทย์จะสแกนบริเวณหลังของผู้ป่วยโดยใช้คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อสร้างภาพตัดขวางของกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณนั้น ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดได้อย่างชัดเจนขึ้น
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เป็นการตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้าที่สร้างจากเส้นประสาทและเกิดการตอบสนองของกล้ามเนื้อ ซึ่งช่วยวินิจฉัยภาวะเส้นประสาทถูกกดทับ

การรักษาไซอาติก้า

ส่วนใหญ่แล้ว อาการปวด Sciatica จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยควรพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานยาแก้ปวด ออกกำลังกายและยืดกล้ามเนื้อ โดยหลีกเลี่ยงการกระโดด เหวี่ยง หรือบิดตัวแรง ๆ บางรายแพทย์อาจให้ประคบเย็นในบริเวณที่มีอาการปวดนาน 20 นาที วันละหลาย ๆ ครั้ง ประมาณ 2-3 วัน ก่อนจะสลับมาประคบร้อนด้วยวิธีการเดียวกัน

แต่หากอาการปวดรุนแรงมาก ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ระยะเวลาในการปวด ยาที่รับประทานอยู่ ประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ การเกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุด หรือข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุและวางแผนการรักษาขั้นต่อไป ดังนี้

  • การรับประทานยา ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยากลุ่มที่มีฤทธิ์แรงมากขึ้น เช่น ยาแก้ปวดร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบกลุ่มเอ็นเสด ยากันชัก ยาแก้ปวดชนิดเสพติด ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก เป็นต้น
  • กายภาพบำบัด หลังจากอาการปวดทุเลาลง แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดอาจแนะนำวิธีการออกกำลังกายและการยืดกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นและป้องกันการบาดเจ็บในอนาคต
  • การฉีดยาระงับการอักเสบ แพทย์อาจฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เข้าสู่ช่องสันหลัง เพื่อช่วยลดอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบรอบ ๆ เส้นประสาท แต่ผลการรักษามักคงอยู่ไม่กี่เดือน และจำเป็นต้องจำกัดจำนวนครั้งในการฉีด เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ค่อนข้างสูงหากใช้ยานี้บ่อยครั้งเกินไป
  • การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังนานกว่า 3 เดือน รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล หรือมีอาการรุนแรงมาก เช่น ปวดอย่างรุนแรงมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาทางเลือกอื่น ๆ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดให้น้อยลง เช่น การฝังเข็ม ไคโรแพรกทิค (Chiropractic) ที่เป็นศาสตร์ใหม่ในการรักษาและบำบัดผู้ป่วยโรคกระดูก การเล่นโยคะ หรือการฝึกพิลาทีส เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของไซอาติก้า

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาให้หายขาดมักจะมีอาการปวดอย่างเรื้อรัง เส้นประสาทถูกทำลายจนได้รับความเสียหายถาวร จนอาจทำให้ขาข้างที่มีอาการปวดเริ่มไม่มีความรู้สึก กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง และไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะหรืออุจจาระได้

การป้องกันไซอาติก้า

บางสาเหตุของอาการปวด Sciatica ก็อาจป้องกันได้ เช่น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน อาการปวดหลังจากการตั้งครรภ์ หรือการลื่นล้ม เป็นต้น ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บบริเวณหลังได้ด้วยคำแนะนำต่อไปนี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยควรเน้นการยืดกล้ามเนื้อลำตัวและหลัง เพราะเป็นส่วนที่ช่วยพยุงแกนกลางลำตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หากมีความจำเป็นควรยกของด้วยท่าทางที่ถูกต้อง โดยย่อเข่าลงให้หลังอยู่ในลักษณะตั้งตรงเป็นระนาบเดียวกับสะโพกและขา ส่วนสิ่งของที่ยกก็ควรอยู่ใกล้ลำตัว หรืออาจหาคนช่วยยกเพื่อกระจายน้ำหนักออกไป
  • ปรับท่าทางในการนั่ง ยืน หรือนอนให้เหมาะสม ไม่ควรอยู่ในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน เพื่อช่วยลดแรงกดทับที่เส้นประสาท