โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea)

ความหมาย โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea)

Rosacea หรือโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย เป็นภาวะทางผิวหนังที่พบบ่อย โดยจะเกิดรอยแดงและมองเห็นเส้นเลือดบนใบหน้าได้ชัดเจน อาจเกิดตุ่มหนองหรือตุ่มสีแดงขนาดเล็ก ซึ่งอาจเกิดอาการอย่างมากในช่วงระยะเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนแล้วจึงค่อย ๆ บรรเทาลง อาการที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเป็นสิว มีอาการแพ้ทางผิวหนัง หรือเป็นความผิดปกติทางผิวหนังอื่น ๆ ได้ และภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่มักเกิดกับเพศหญิงวัยกลางคนที่มีผิวขาวเป็นส่วนใหญ่   

อาการของโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

ผู้ป่วย Rosacea อาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • เกิดรอยแดงที่ใบหน้า โดยมักทำให้เกิดรอยแดงอย่างถาวรบริเวณกลางใบหน้า
  • เส้นเลือดที่จมูกและแก้มมักขยายตัวจนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
  • มีตุ่มแดงบวมคล้ายสิว บางรายอาจมีหนองและรู้สึกร้อนหรือมีอาการกดเจ็บที่ผิวหนังด้วย
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา เช่น ตาแห้ง ตาบวมแดงและระคายเคือง เปลือกตาแดง เป็นต้น โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่ตาก่อนจะเกิดอาการทางผิวหนัง ซึ่งอาจกระทบต่อการมองเห็นด้วย
  • จมูกอาจขยายใหญ่ขึ้นและผิวหนังบนจมูกอาจหนาขึ้น แต่ก็พบได้ค่อนข้างน้อย และเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • รู้สึกแสบหรือชาที่ผิวหนัง
  • ผิวแห้ง ผิวหยาบกร้านขรุขระ และรูขุมขนกว้าง

ทั้งนี้ โรค Rosacea อาจเกิดขึ้นและหายไป โดยมักแสดงอาการเป็นเเวลาไม่กี่สัปดาห์และค่อย ๆ หายไปเอง แต่ก็อาจกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหากผู้ป่วยพบว่าเป็นรอยแดงที่ใบหน้าและอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้นหรือหายไป ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

1798 Rosacea rs

สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของโรค Rosacea ได้ โดยสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากกรรมพันธุ์และปัจจัยแวดล้อมรวมกัน

โดยปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ ได้แก่

  • การดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนหรือแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหารรสเผ็ด
  • การสัมผัสลม แสงแดด หรืออยู่ในอุณหภูมิแบบสุดขั้ว
  • หลอดเลือดบริเวณใบหน้ามีความผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อถูกแสงแดดก็อาจทำให้อาการแย่ลงได้
  • มีตัวไรเดโมเด็กซ์ ฟอลลิคิวโลรัม (Demodex Folliculorum) อาศัยอยู่บนผิวหนังเป็นจำนวนมาก ซึ่งโดยปกติจะไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่หากมีเป็นจำนวนมากก็อาจทำให้ระคายเคืองผิวได้
  • การติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori)
  • สภาพอารมณ์
  • การออกกำลังกายอย่างหนัก
  • การใช้เครื่องสำอาง
  • การใช้ยาที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว หรือยารักษาความดันโลหิตบางชนิด

นอกจากนี้ ยังมีบางปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรค Rosacea ได้ คือ เป็นเพศหญิง มีผิวขาว โดยเฉพาะมีผิวที่เสียหายจากแสงแดด มีอายุ 30-50 ปี เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นสิวอย่างรุนแรง หรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้

การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

สำหรับการตรวจโรค Rosacea นั้น ยังไม่มีวิธีการทดสอบโดยเฉพาะ แพทย์จึงต้องซักประวัติและสอบถามลักษณะอาการ รวมทั้งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • ตรวจดูบริเวณผิวหนัง โดยผู้ป่วยที่มีอาการของโรคนี้มักมีหลอดเลือดขยายตัว บางรายแพทย์อาจต้องทดสอบเพื่อจำแนกโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกันด้วย เช่น สิว รคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ และโรคลูปัส เป็นต้น
  • ตรวจชิ้นเนื้อ แพทย์อาจต้องนำตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ป่วยบางรายไปตรวจ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้
  • ตรวจตา หากผู้ป่วยมีความผิดปกติเกี่ยวกับตา แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยให้ไปรับการตรวจกับจักษุแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสมต่อไป   

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

เนื่องจากโรค Rosacea ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเกิดอาการซ้ำได้บ่อยครั้ง ดังนั้น การรักษาจึงเป็นการควบคุมอาการด้วยการดูแลสุขภาพผิวและการรักษาทางการแพทย์ร่วมกัน ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของอาการด้วย

โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามอาการของผู้ป่วย ดังนี้

  • การใช้ยา แพทย์อาจใช้ยาลดอาการแดงและตุ่ม เพื่อช่วยออกฤทธิ์ช่วยให้หลอดเลือดหดตัว โดยอาจเห็นผลได้ภายใน 12 ชั่วโมงหลังใช้ยา เช่น กรดอะซีลาอิก และยาเมโทรนิดาโซล เป็นต้น รวมถึงอาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อช่วยลดเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ เช่น ยาด็อกซีไซคลิน ยาเมโทรนิดาโซล และยาอิริโทรมัยซิน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจให้ยาไอโซเตรทติโนอิน เพื่อช่วยลดตุ่มคล้ายสิวที่เกิดขึ้น ซึ่งแพทย์อาจใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมากและผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ แต่ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เด็กพิการแต่กำเนิดได้
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ อาจใช้เพื่อลดอาการแดงจากการขยายตัวของหลอดเลือด
  • การกรอผิว (Dermabrasion) เป็นเทคนิคการขัดผิวที่ใช้เครื่องมือหมุนเพื่อขจัดผิวหนังชั้นนอก
  • การทำ IPL (Intense Pulsed Light Therapy) เป็นการฉายแสงความเข้มข้นสูงและใช้ความยาวช่วงคลื่นแสงแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อรักษาผิวบริเวณที่มีอาการ
  • การใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า เพื่อรักษาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภาวะไรโนฟีมา (Rhinophyma) ที่ส่งผลให้จมูกบวม และรักษาเส้นเลือดที่ขึ้นจนเห็นได้ชัดเจน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซึ่งพบได้น้อย อาจพบว่าเกิดภาวะไรโนฟีมา ซึ่งเป็นภาวะที่ต่อมไขมันบริเวณจมูกและแก้มขยายใหญ่ขึ้น อันเกิดจากการอักเสบอย่างเรื้อรัง โดยภาวะแทรกซ้อนนี้มักเกิดกับผู้ชายและเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ในระยะเวลาเป็นปี

การป้องกันโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย

แม้โรค Rosacea เป็นการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองและป้องกันอาการกำเริบรุนแรงขึ้นได้ในเบื้องต้น ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่เป็นสาเหตุ เช่น แสงแดด อากาศเย็น ลมแรง บุหรี่ อาหารบางชนิด การออกกำลังกายอย่างหนัก และความเครียด เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการออกกลางแจ้งเวลากลางวัน หรือใส่หมวกและใช้ร่มเมื่อต้องออกกลางแจ้ง และใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันรังสียูวี (SPF) 30 ขึ้นไป
  • ดูแลผิวหน้าอย่างอ่อนโยน อย่าขัดหรือสัมผัสผิวหน้ามากเกินไป โดยใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิวหน้าอยู่เสมอ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์หรือสารที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง
  • ใช้เครื่องสำอางในการช่วยปกปิดรอยแดงที่เกิดขึ้น และหลีกเลี่ยงการใช้เครืองสำอางบริเวณดวงตา แต่หากต้องการใช้เครื่องสำอางก็ต้องแน่ใจว่าเป็นชนิดที่สามารถล้างออกได้ง่าย
  • หากเปลือกตาอักเสบจากโรค Rosacea ให้ดูแลและบรรเทาอาการด้วยการทำความสะอาดเปลือกตาด้วยน้ำอุ่นทุกวัน