Ramucirumab (รามูซิรูแมบ)

Ramucirumab (รามูซิรูแมบ)

Ramucirumab (รามูซิรูแมบ) เป็นยารักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเซลล์ตับที่ลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ชะลอหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย แพทย์มักใช้ยานี้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยารักษามะเร็งชนิดอื่น และอาจนำมาใช้รักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

Ramucirumab

เกี่ยวกับยา Ramucirumab

กลุ่มยา ยาเคมีบำบัด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษามะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเซลล์ตับ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาใช้ภายนอก ยาฉีดทางหลอดเลือดดำ
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติ
ต่อทารกในครรภ์จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ
มารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ใน
กรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิตหรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่
สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ และไม่ควรให้นมบุตรในขณะที่ใช้ยานี้

คำเตือนในการใช้ยา Ramucirumab

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยมีประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคไต โรคตับ มีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ผ่านการผ่าตัดมาใหม่ ๆ และแผลยังไม่หายดี เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง 
  • ไม่ควรใช้ยารามูซิรูแมบในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้
  • ยารามูซิรูแมบอาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงผู้ติดเชื้ออย่างโรคอีสุกอีใส โรคหัด หรือไข้หวัดใหญ่ 
  • ผู้ป่วยไม่ควรรับการฉีดวัคซีนหากไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้ดูแล และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อเป็นมาก่อน อย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบพ่นจมูก
  • ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่มีการกระแทก และระมัดระวังขณะใช้งานของมีคมทุกชนิด เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ เกิดรอยแผลหรือฟกช้ำตามผิวหนัง
  • หากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อุจจาระปนเลือดหรือเปลี่ยนเป็นสีดำ ไอเป็นเลือด หรือมีภาวะเลือดออกที่ผิดปกติหรือเลือดออกมาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพราะยารามูซิรูแมบอาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออกผิดปกติอย่างรุนแรงได้
  • ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจเลือดหรือปัสสาวะบ่อยครั้งในขณะที่ใช้ยานี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดในระหว่างที่ใช้ยานี้
  • สตรีมีครรภ์หรือผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยานี้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ จึงควรมีการคุมกำเนิดขณะที่ใช้ยานี้หรืออย่างน้อย 3 เดือนหลังสิ้นสุดการรักษา 

ปริมาณการใช้ยา Ramucirumab

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาอาจแตกต่างกันไปตามโรคของผู้ป่วย โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

ตัวอย่างการใช้ยา Ramucirumab เพื่อรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

ผู้ใหญ่ ฉีดยาทางหลอดเลือดดำเพียงตัวเดียวหรือใช้ร่วมกับยาแพคลิแทกเซลเป็นรายสัปดาห์ในปริมาณ 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยค่อย ๆ ฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำนาน 60 นาทีขึ้นไป ทุก 2 สัปดาห์ จนกว่าจะพบการเปลี่ยนแปลงของโรคหรือหยุดใช้ยาเมื่อพบผลข้างเคียงที่รุนแรง

รักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก

ตัวอย่างการใช้ยา Ramucirumab เพื่อรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยค่อย ๆ ฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำนาน 60 นาทีขึ้นไป ในวันที่ 1 ของรอบเคมีบำบัด 21 วัน แล้วจึงฉีดยาโดซีแทคเซลตามหลัง จนกว่าจะพบการเปลี่ยนแปลงของโรคหรือหยุดใช้ยาเมื่อพบผลข้างเคียงที่รุนแรง

รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ตัวอย่างการใช้ยา Ramucirumab เพื่อรักษาโรคมะเร็งลำไส้

ผู้ใหญ่ ฉีดยาทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยค่อย ๆ ฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำนาน 60 นาทีขึ้นไป ทุก 2 สัปดาห์ จนกว่าจะพบการเปลี่ยนแปลงของโรคหรือหยุดใช้ยาเมื่อพบผลข้างเคียงที่รุนแรง   

รักษาโรคมะเร็งเซลล์ตับ

ตัวอย่างการใช้ยา Ramucirumab เพื่อรักษาโรคมะเร็งเซลล์ตับ

ผู้ใหญ่ ฉีดยาทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยค่อย ๆ ฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำนาน 60 นาทีขึ้นไป ทุก 2 สัปดาห์ จนกว่าจะพบการเปลี่ยนแปลงของโรคหรือหยุดใช้ยาเมื่อพบผลข้างเคียงที่รุนแรง

การใช้ยา Ramucirumab

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้

  • การใช้ยา Ramucirumab จะใช้การฉีดหรือหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยพยาบาลจะเป็นผู้ฉีดยาให้
  • ควรมาพบแพทย์ให้ตรงตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการงดรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม หรือการทำกิจกรรมบางชนิด
  • บางกรณีผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาชนิดอื่นเพื่อช่วยบรรเทาผลข้างเคียงจากยารามูซิรูแมบ 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ramucirumab

โดยทั่วไป ยารามูซิรูแมบอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีแผลหรือจุดสีขาวในปาก เหงือกบวมแดง มีปัญหาในการกลืนหรือการพูดคุย ปากแห้ง มีกลิ่นปาก รู้สึกเหนื่อยล้าหรืออ่อนแรง ท้องเสีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เลือดกำเดาไหล ระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น หากมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ตาม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากในระหว่างการฉีดยามีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ สั่น มีเหงื่อออก เจ็บหรือแน่นหน้าอก ปวดหลัง มีปัญหาในการหายใจ ชาหรือรู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง เป็นต้น ในกรณีที่มีอาการสั่น ปวดหลัง ปวดเกร็งหน้าท้อง แน่นหน้าอก หน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มที่ผิวหนัง หรือผิวหนังหลังการฉีดยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเช่นกัน  

ทั้งนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ทันทีหากผู้ป่วยเกิดอาการรุนแรงหลังการฉีดยา ดังนี้ 

  • มีสัญญาณอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
  • ปวดศีรษะ สับสน สภาพจิตใจเปลี่ยนไป สูญเสียการมองเห็น ชัก
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียอย่างรุนแรงหรือเป็นอย่างต่อเนื่อง 
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะบริเวณใบหน้าหรือช่วงลำตัว
  • ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นหรือการติดเชื้อมีอาการแย่ลง โดยอาจสังเกตได้จากอาการติดเชื้ออย่างมีไข้ สั่น เจ็บคอบ่อย ๆ หรือไอ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะเป็นฟอง ตาบวม เท้าหรือข้อเท้าบวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
  • มีอาการเลือดออกผิดปกติหรือมีสัญญาณของเลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น มีเลือดออกหรือฟกช้ำได้ง่าย อุจจาระปนเลือดหรือเป็นสีดำ อาเจียนออกมาเป็นสีน้ำตาลคล้ายกากกาแฟ ไอเป็นเลือด เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ เหนื่อยล้าหรืออ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นต้น   
  • แผลหายช้ากว่าปกติ
  • มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำจนทำให้เกิดอาการ เช่น มีไข้ มีแผลในปากหรือผิวหนัง ไอ หรือมีปัญหาในการหายใจ เป็นต้น
  • มีอาการของลิ่มเลือด เช่น แขนขาชาหรืออ่อนแรงฉับพลันข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มีปัญหาในการมองเห็นหรือการทรงตัว เป็นต้น
  • มีอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น แน่นหรือเจ็บหน้าอก อาการปวดร้าวไปยังขากรรไกรหรือหัวไหล่ มีเหงื่อออก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย หากผู้ป่วยมีความกังวลใจ รวมทั้งพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบด้วย