ภาวะปอดรั่ว (Pneumothorax)

ความหมาย ภาวะปอดรั่ว (Pneumothorax)

Pneumothorax หรือภาวะปอดรั่ว คือภาวะที่มีอากาศเข้าไปแทรกอยู่ภายในช่องปอดจนเบียดเนื้อปอด เป็นเหตุให้ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่และทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อการหายใจของผู้ป่วย เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

Pneumothorax

Pneumothorax แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • ภาวะ Pneumothorax จากอุบัติเหตุ มีสาเหตุมาจากการได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนทำให้ลมจากภายนอกเข้าสู่ช่องปอด ภาวะนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมักทำให้มีอาการรุนแรงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
  • ภาวะ Pneumothorax จากสาเหตุอื่น อาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยซึ่งส่งผลกระทบต่อปอดโดยตรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง การติดเชื้อ โรคมะเร็งปอด โรคทางพันธุกรรมบางชนิด หรือโรคหอบหืด บางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุหรือสัญญาณเตือนใด ๆ

อาการของภาวะปอดรั่ว

ภาวะ Pneumothorax จะมีอาการแสดงให้เห็นทันที โดยอาจเกิดขึ้นหลังจากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุก็ได้ และในบางกรณีภาวะนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยอาการหลัก ๆ ของ Pneumothorax ที่พบได้ คือ หายใจไม่อิ่ม และมีอาการเจ็บแปลบบริเวณหน้าอกข้างที่มีความผิดปกติ โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้า แต่บางรายอาจมีอาการน้อยมากจนผู้ป่วยไม่ได้สังเกต ทำให้ไม่รู้ว่าตนเองมีความผิดปกติจนกระทั่งผ่านไปหลายวันแล้ว

ทั้งนี้ หากมีอากาศแทรกอยู่ภายในช่องปอดเป็นบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจะยิ่งมีอาการที่รุนแรงขึ้น ได้แก่

  • แน่นหน้าอก
  • หายใจถี่หรือหายใจหอบเหนื่อย
  • ผิวหนังบางบริเวณเขียวคล้ำเนื่องจากขาดออกซิเจน
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ
  • อ่อนเพลียง่าย
  • วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นผิดปกติ
  • เกิดภาวะช็อก

หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ควรพาไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สาเหตุของภาวะปอดรั่ว

ภาวะ Pneumothorax เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ อาการเจ็บป่วย หรือเกิดขึ้นเนื่องจากการรักษาทางการแพทย์ สาเหตุที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • การบาดเจ็บบริเวณหน้าอกเนื่องจากอุบัติเหตุ เช่น ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรงบริเวณหน้าอก เป็นต้น
  • การถูกอาวุธหรือของมีคม การถูกยิงหรือถูกแทงบริเวณปอด
  • การรักษาทางการแพทย์ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างปอดรั่ว เช่น การผ่าตัด การส่องกล้อง การใส่ท่อระบายของเหลวในทรวงอก เป็นต้น
  • โรคเกี่ยวกับปอด ผู้ป่วยโรคปอดที่มีเนื้อเยื่อปอดเสียหายเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ปอดบวม การติดเชื้อที่ปอด โรคมะเร็งปอด โรคหืด และโรคไอกรน
  • การดำน้ำลึกหรือการขึ้นที่สูง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้ เนื่องจากในน้ำลึกและบนที่สูงนั้นมีแรงดันอากาศเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะนี้ตามมา

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ปัจจัยต่อไปนี้อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิด Pneumothorax มากขึ้น

  • เพศชาย มีแนวโน้มเกิดภาวะนี้สูงกว่าเพศหญิงมาก
  • อายุ 20-40 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เสี่ยงเกิดถุงลมในปอดแตกมากที่สุด และหากมีรูปร่างสูงและผอมมากก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • ลักษณะทางพันธุกรรม ภาวะ Pneumothorax บางชนิดอาจถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้
  • สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จัดติดต่อกันเป็นเวลานานมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้สูง แม้จะไม่มีอาการของโรคถุงลมโป่งพองก็ตาม
  • โรคปอด เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงเกิดรอยรั่วที่ปอดได้
  • การใช้เครื่องช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้เองอย่างเต็มที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะ Pneumothorax ชนิดรุนแรงได้ เพราะเครื่องช่วยหายใจอาจทำให้แรงดันอากาศภายในทรวงอกผิดปกติ เป็นเหตุให้เยื่อหุ้มปอดเกิดความเสียหายได้
  • เคยมีภาวะ Pneumothorax มาก่อน ผู้ป่วยภาวะนี้มีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำ แม้จะรักษาจนหายดีแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีแรกหลังจากมีอาการ

การวินิจฉัยภาวะปอดรั่ว

ภาวะ Pneumothorax ไม่สามารถวินิจฉัยได้โดยประเมินจากอาการที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอกอย่างเฉียบพลัน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที

ในเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายโดยใช้อุปกรณ์หูฟังเพื่อฟังเสียงการหายใจ หากปอดบริเวณใดมีอากาศแทรกจะส่งผลให้ได้ยินเสียงหายใจไม่ชัดเจนหรือไม่มีเสียงเลย หรืออาจตรวจด้วยการคลำปอดเพื่อดูว่าขณะหายใจเข้าและออกนั้น ปอดมีการขยายออกเท่ากันทั้ง 2 ข้างหรือไม่ หากตรวจพบบริเวณปอดที่มีปัญหาหรือสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะ Pneumothorax แพทย์จะให้ผู้ป่วยเข้ารับการเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย และอาจใช้วิธีตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับออกซิเจนในเลือด การมีระดับออกซิเจนในเลือดน้อยและมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าปกติอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติภายในปอด
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจหาความผิดปกติของปอดที่อาจส่งผลต่อหัวใจ
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการทำอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจเพื่อแยกโรคที่ไม่ใช่สาเหตุ รวมทั้งตรวจดูความผิดปกติของเนื้อปอดและอวัยวะข้างเคียงเพื่อประเมินความรุนแรงของโรค ช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในบางกรณีอาจใช้ในการระบุสาเหตุของภาวะนี้ได้

การรักษาภาวะปอดรั่ว

เป้าหมายของการรักษาภาวะ Pneumothorax จะมุ่งเน้นไปที่การทำให้ปอดกลับมาทำงานได้ตามปกติและป้องกันการเกิดภาวะนี้ซ้ำ วิธีรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ความรุนแรงของอาการ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย การรักษาที่แพทย์อาจนำมาใช้ ได้แก่

  • การพักรักษาตัวบนเตียง หากเกิดความเสียหายที่ปอดไม่มากหรือมีอาการไม่รุนแรง ร่างกายจะดูดซึมอากาศส่วนเกินในช่องปอดออกไปได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่แพทย์จะให้ผู้ป่วยหยุดทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากและนอนพักรักษาตัวบนเตียงเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในระหว่างนี้ แพทย์จะสั่งเอกซเรย์ปอดเป็นระยะเพื่อดูว่าอากาศที่แทรกอยู่ภายในปอดลดลงและปอดกลับมาขยายตัวเต็มที่แล้วหรือยัง ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีภาวะขาดออกซิเจนร่วมด้วย แพทย์จะให้ออกซิเจนเพิ่มเพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอและช่วยเร่งอัตราการดูดกลับของลมในช่องปอด ทำให้ปอดฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • การสอดท่อหรือเข็มเข้าไปในช่องปอด หากมีอากาศแทรกเข้าไปในปอดเป็นบริเวณกว้าง แพทย์จะใช้วิธีสอดท่อหรือเข็มเข้าไปในช่องปอดเพื่อระบายอากาศส่วนเกิน โดยจะพิจารณาเลือกวิธีการระบายอากาศตามความรุนแรงและสถานการณ์ของผู้ป่วย วิธีนี้เป็นการรักษาที่ปลอดภัยและไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ผู้ป่วยอาจต้องสอดท่อทิ้งไว้ในร่างกายติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง
  • การเชื่อมเยื่อหุ้มปอด เป็นอีกหนึ่งวิธีในการรักษาภาวะ  Pneumothorax ทำได้โดยการฉีดสารบางชนิดเพื่อช่วยให้เยื่อหุ้มรอบปอดทั้ง 2 ชั้นเชื่อมเข้าหากัน ทำให้อากาศหรือของเหลวที่คั่งอยู่ระหว่างเยื่อหุ้มปอดหมดไป ปอดจึงกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่วิธีนี้มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำ
  • การผ่าตัด ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจหรือมีการกลับมาเป็นซ้ำหลายรอบ แพทย์อาจใช้การผ่าตัดโดยสอดกล้องเข้าไปภายในปอดเพื่อดูความเสียหาย หากอยู่ในระดับที่ซ่อมแซมได้ แพทย์อาจเย็บเยื่อหุ้มปอดเข้าด้วยกันเพื่อปิดรอยรั่วหรือทำให้เยื่อหุ้มปอดทั้ง 2 ชั้นเชื่อมกันสนิทเพื่อกำจัดอากาศ แต่ในกรณีที่รุนแรง แพทย์อาจต้องตัดกลีบปอดที่มีปัญหาทิ้ง

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะปอดรั่ว

ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ในระหว่างรับการรักษาภาวะนี้ โดยหากมีการติดเชื้อ การอักเสบ การบาดเจ็บที่ปอดอย่างรุนแรง หรือมีของเหลวคั่งในปอด อาจนำไปสู่ภาวะช็อกซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันภาวะปอดรั่ว

ภาวะ Pneumothorax ไม่สามารถป้องกันได้ ผู้ที่เคยมีภาวะนี้มาก่อนมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การเลิกสูบบุหรี่และการปฏิบัติตามคำแนะนำในการดำน้ำอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันความเสียหายของปอด อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Pneumothorax และการกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยที่เคยมีภาวะนี้ได้