ออฟฟิศซินโดรม ปัญหาสุขภาพจากท่านั่งและการทำงานหนัก

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) คือ กลุ่มอาการที่อาจรวมถึงอาการปวดหัว ปวดหลัง ปวดตา หรือมือชา โดยเป็นผลมาจากการทำงานตลอดวันในออฟฟิศ และไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถหรือขยับร่างกายมากนัก เช่น นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือทำงานในท่าเดิมซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นต้น

อาการออฟฟิศซินโดรมของคนทำงานหนัก

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าออฟฟิศซินโดรมไม่เป็นอันตราย แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถหันคอ ก้ม หรือเงยหน้าได้ หากละเลยอาการเหล่านี้ ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือปรับท่าทางต่าง ๆ ในการทำงานให้เหมาะสม อาการดังกล่าวอาจส่งผลเรื้อรังและทวีความรุนแรงถึงขั้นทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกไปกดทับโดนเส้นประสาทได้

ออฟฟิศซินโดรม มีอาการอย่างไรบ้าง ?

อาการต่าง ๆ ของออฟฟิศซินโดรมมักสังเกตได้ ดังนี้

  • ปวดเมื่อยหลัง ไหล่ คอ สะบัก บ่า แขน ข้อมือ หรือมีอาการปวดแบบเรื้อรัง
  • ปวดตาหรือกระบอกตา ตาแห้ง ตาล้า ตาพร่า แสบตา หรือระคายเคืองตา
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง หรือเป็นไมเกรน
  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ
  • มีอาการชาบริเวณข้อมือ มือ หรือนิ้ว ซึ่งเป็นผลจากเอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท
  • เหยียดนิ้วตรงไม่ได้ นิ้วล็อค
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะเหมือนบ้านหมุน
  • ได้ยินเสียงดังในหู หูอื้อ
  • เครียด
  • หายใจไม่อิ่ม
  • เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
  • วูบ
  • หมอนรองกระดูกเสื่อมหรือกดทับเส้นประสาท

ออฟฟิศซินโดรม เกิดจากอะไร ?

ออฟฟิศซินโดรมอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • นั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่ขยับเขยื้อนร่างกายหรือไม่ปรับเปลี่ยนท่าทาง
  • นั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งหลังค่อม นั่งในลักษณะที่ต้องก้มหรือเงยคอมากเกินไป เป็นต้น
  • เพ่งจอคอมพิวเตอร์ เครื่องฉาย หรือจอโทรศัพท์ติดต่อกันนานเกิน 1 ชั่วโมง
  • ใช้แป้นพิมพ์หรือเมาส์ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่หยุดพัก
  • ใช้โต๊ะ เก้าอี้ หรืออุปกรณ์ในการทำงานอย่างไม่เหมาะสม ทำให้นั่งทำงานไม่สบาย
  • ทำงานในห้องที่มีอุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป หรือมีสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม
  • เกิดภาวะเครียดจากงาน อดอาหาร หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

รับมือและรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมอย่างไรดี ?

อาการต่าง ๆ จากออฟฟิศซินโดรมควรได้รับการรักษาและดูแลอาการอย่างเหมาะสม โดยวิธีการจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้ยารักษา ใช้วิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อและปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง แต่หากมีอาการรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยวิธีอื่นเสริมด้วย เช่น แพทย์อาจต้องผ่าตัดผู้ป่วยรายที่มีการกดทับเส้นประสาทอย่างมาก เพื่อเอาหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนหรือกระดูกที่งอกกดทับเส้นประสาทออก บางรายอาจต้องใช้โลหะดามกระดูกร่วมด้วย หรือหากมีอาการนิ้วล็อคจนขยับนิ้วมือได้ลำบากก็อาจต้องผ่าตัดรักษาด้วย เป็นต้น

ทั้งนี้ อาจนำหลักการการยศาสตร์ (Ergonomics) มาใช้เพื่อปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับผู้ทำงาน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำวิธีลดความเสี่ยงในการเกิดออฟฟิศซินโดรม และป้องกันอาการไม่ให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานและปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ดังนี้

  1. พักสายตา ควรพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุก ๆ 10 นาที โดยให้มองออกไปไกล ๆ กะพริบตาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง หรืออาจลองหลับตาประมาณ 3-5 วินาที เพื่อช่วยกระตุ้นน้ำตาให้ไหลเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกเคืองตา ปวดตา หรือแสบตา
  2. ขยับและปรับท่าทางบ่อย ๆ ปรับอริยาบทด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง และเปลี่ยนท่าทางการทำงานทุก 20 นาที โดยอาจบิดตัว ขยับซ้ายขวา ยืดเส้นยืดสาย หรือลุกขึ้นเดิน
  3. ปรับท่านั่ง ควรนั่งหลังตรง ให้หลังชิดขอบด้านในหรือพนักพิงของเก้าอี้ วางข้อมือในตำแหน่งตั้งตรง ไม่บิดหรืองอข้อมือขึ้นลง และวางเท้าลงบนพื้นโดยให้ขาทำมุม 90 องศา
  4. ปรับเก้าอี้ ควรปรับขอบเบาะเก้าอี้ให้ต่ำกว่าระดับเข่า โดยให้มีช่องว่างระหว่างขอบเก้าอี้กับขาด้านหลัง และปรับพนักพิงให้รองรับหลังส่วนล่างได้พอดี แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ให้ลองใช้หมอนหนุนบริเวณดังกล่าวแทน
  5. ปรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับเดียวกับสายตาหรือให้ตรงกับใบหน้า โดยให้จอคอมอยู่ห่างเท่าความยาวแขนในระยะที่อ่านจอแล้วสบายตา วางแป้นพิมพ์ให้อยู่ในระดับข้อศอกทำมุม 90 องศา และวางเมาส์ให้อยู่ในบริเวณที่เคลื่อนไหวได้สะดวก ไม่จำกัดพื้นที่จนเกินไป รวมทั้งขณะที่ใช้เมาส์ควรพักข้อศอกไว้บนที่รองแขน
  6. ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ควรทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ หากเกิดการชำรุดหรือเสียหายควรซ่อมแซมให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ
  7. ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง