Nitroglycerin (ไนโตรกลีเซอริน)

Nitroglycerin (ไนโตรกลีเซอริน)

Nitroglycerin (ไนโตรกลีเซอริน) คือ ยาขยายหลอดเลือดในกลุ่มไนเตรต ที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เพื่อลดภาวะขาดออกซิเจน รักษาและป้องกันอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ หรืออาจใช้รักษาควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง ในระหว่างการผ่าตัดด้วย

519 NitroglycerinRe

เกี่ยวกับยา Nitroglycerin

กลุ่มยา ไนเตรต
ประเภทยา ยาตามคำสั่งแพทย์
สรรพคุณ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาอมใต้ลิ้น ยาเม็ดรับประทาน ยาพ่น ยาฉีด

คำเตือนของการใช้ยา Nitroglycerin

  • ห้ามใช้ยาในผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ในยา Nitroglycerin
  • ห้ามใช้ยาในผู้ที่กำลังใช้ยา Avanafil (อะวานาฟิล) Riocituat (ไรโอซิก็อท) Sildenafil (ซิลเดนาฟิล) Tadalafil (ทาดาลาฟิล) และ Vardenafil (วาร์เดนาฟิล)
  • ห้ามใช้ยาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือมีภาวะเลือดออกในสมอง ถุงหุ้มหัวใจบวม หรือภาวะอื่น ๆ ที่รบกวนการไหลเวียนเลือดกลับสู่หัวใจ
  • ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่ใช้ยา Nitroglycerin เพราะแอลกอฮอล์อาจทำปฏิกิริยากับยาจนส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หรืออาจเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอกาสเกิดพิษจากแอลกอฮอล์จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เมื่อใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับ Nitroglycerin และยาชนิดอื่น เช่น Disulfiram (ไดซัลฟิแรม) Cephalosporin (เซฟาโลสปอริน) Furazolidone (ฟูราโซลิโดน) Metronidazole (เมโทรนิดาโซล) และ Monoamine Oxidase Inhibitors: MAOIs (ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอ็มเอโอไอ)
  • ห้ามขับขี่ยานพาหนะหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย หากใช้ยาแล้วเกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนหัว วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม มองเห็นเป็นภาพเบลอ
  • ในขณะใช้ยา ควรเคลื่อนไหวร่างกายในท่าลุกขึ้นนั่ง ยืน หรือนอนลงอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นสร้างผลกระทบต่อร่างกายเพิ่มมากขึ้นได้
  • การใช้ยา Nitroglycerin อาจรบกวนผลการตรวจค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ในตับได้
  • การใช้ยา Nitroglycerin ในผู้สูงอายุ อาจมีแนวโน้มในการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ง่ายขึ้น
  • ในระหว่างที่ใช้ยา ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจวัดระดับความดันโลหิตอยู่เสมอ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสียและความเสี่ยงต่อทารกก่อนการใช้ยา
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาอย่างถูกต้องตามคำสั่งแพทย์อยู่เสมอ ใช้ยาตามวิธีที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร และห้ามใช้ยาเกินกว่าหรือน้อยกว่าปริมาณที่แพทย์กำหนด
  • การใช้ยา Nitroglycerin ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลทำให้เกิดอาการดื้อยาได้ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากเกิดอาการดื้อยา หรือรักษาด้วยยาชนิดนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • ไม่ควรใช้ยาในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาทดลองที่แน่ชัดถึงประสิทธิผลของการใช้ยา Nitroglycerin ในเด็ก

ปริมาณการใช้ยา Nitroglycerin

รักษาอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  • ยาเม็ด อมยาปริมาณ 0.3-0.6 มิลลิกรัมไว้ใต้ลิ้นหรือในกระพุ้งแก้มให้ละลายในปาก โดยทั่วไปให้อม 1 เม็ดเมื่อมีอาการ หากไม่ดีขึ้นให้อมซ้ำอีก 1 เม็ดได้ทุก 5 นาที ปริมาณสูงสุดที่ใช้ยา 3 ครั้งภายใน 15 นาที หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากอมยาเม็ดที่ 2 ให้อมยาเม็ดที่ 3 แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที โดยผู้ป่วยห้ามกลืนยาทั้งเม็ด และพยายามอย่ากลืนน้ำลายจนกว่ายาจะละลายในปากจนหมด และควรอมยาในท่านั่ง
  • ยาพ่น พ่นยา 1-2 ครั้ง (0.4-0.8 มิลลิกรัม) ไปบนลิ้นหรือใต้ลิ้นทุก ๆ 5 นาที พ่นสูงสุดไม่เกิน 3 ครั้ง ภายในเวลา 15 นาที หากพ่นยาในปริมาณสูงสุดแล้ว อาการปวดยังคงอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาด้วยวิธีการอื่นที่เหมาะสมต่อไป โดยการพ่นยาควรทำในท่านั่ง และผู้ป่วยต้องไม่กลืนยาหรือสูดหายใจเอายาเข้าไป
  • ยาฉีด ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา Nitroglycerin แบบยาอมใต้ลิ้น หรือ ยาเบต้าบล็อคเกอร์ (Beta-Blockers) โดยเริ่มจากฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดปริมาณ 5 ไมโครกรัม/นาที แล้วให้ยาเพิ่ม 5 ไมโครกรัม/นาที ทุก ๆ 3-5 นาที ตามอาการ โดยสามารถใช้ยาในปริมาณสูงสุดที่ 20 ไมโครกรัม/นาที และให้ยาต่อจากนั้นเป็น 10-20 ไมโครกรัม/นาที ตามอาการ

ป้องกันการเกิดอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

  • ยาเม็ด อมยาปริมาณ 0.3-0.6 มิลลิกรัมไว้ใต้ลิ้นหรือในกระพุ้งแก้ม 5-10 นาที ก่อนทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ควรอมยาในท่านั่ง และผู้ป่วยต้องไม่เคี้ยวหรือกลืนยาเข้าไป
  • ยาพ่น พ่นยา 1-2 ครั้ง (0.4 - 0.8 มิลลิกรัม) ไปบนลิ้นหรือใต้ลิ้น 5-10 นาที ก่อนทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ควรพ่นยาในท่านั่ง และผู้ป่วยต้องไม่กลืนยาหรือสูดหายใจเอายาเข้าไป
  • ยาแคปซูล รับประทานยาปริมาณ 2.5-6 มิลลิกรัม 3-4 ครั้ง/วัน โดยแพทย์อาจวิเคราะห์เพิ่มปริมาณยาตามความเหมาะสม ปริมาณยาสูงสุดที่ใช้รักษาไม่เกิน 26 มิลลิกรัม 4 ครั้ง/วัน

การใช้ยา Nitroglycerin

ก่อนใช้ยา Nitroglycerin ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการใช้ยารักษา อาหารเสริม หรือสมุนไพรต่าง ๆ โดยเฉพาะก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือการรักษาทำหัตถการใด ๆ เพื่อปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้สารเหล่านั้นร่วมกับยา Nitroglycerin เนื่องจากในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ปรับยา หยุดใช้ยา หรืออาหารเสริมบางชนิด เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากการใช้ยาเหล่านั้นร่วมกับ Nitroglycerin โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยเคยมีประวัติการแพ้ยา Nitroglycerin สารประกอบตัวใดใน Nitroglycerin หรือแพ้ยาชนิดใดที่ใกล้เคียงกับ Nitroglycerin ในยาชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มไนเตรต

นอกจากประวัติการใช้ยา ก่อนใช้ยาผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ที่สำคัญ อย่างผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาหรือแพ้สารตัวใด กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ดื่มแอลกอฮอล์ เคยป่วยหรือกำลังป่วยด้วยโรคใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการป่วย เช่น โลหิตจาง ความดันโลหิตต่ำ มีปริมาณเลือดในร่างกายน้อย ภาวะขาดน้ำ ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ระบบการดูดซึมภายในลำไส้ไม่ดี ปวดเกร็งหน้าท้องบ่อย ๆ ท้องร่วง หัวใจโต หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน มีเลือดออกในสมอง ได้รับบาดเจ็บบริเวณสมอง

ยา Nitroglycerin เป็นยาที่ผู้ป่วยต้องใช้ภายใต้คำสั่งและการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยต้องใช้ยาตามปริมาณ และวิธีการใช้ยาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัดเท่านั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาและสอบถามแพทย์หากมีข้อสงสัย ห้ามใช้ยาร่วมกับบุคคลอื่น และห้ามใช้ยาน้อยกว่าหรือเกินกว่าปริมาณที่แพทย์สั่ง

เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจะเป็นผู้เก็บรักษายาตามวิธีการที่เหมาะสม ส่วนผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเอง ควรเก็บยาให้พ้นจากเด็กและสัตว์เลี้ยง

หลังจากใช้ยาไปแล้ว หากอาการป่วยไม่ดีขึ้น หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์ในระหว่างใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพื่อปรึกษาแพทย์และวางแผนรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Nitroglycerin

แม้มีประสิทธิผลทางการรักษา และยา Nitroglycerin มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วย หรืออาจเกิดผลข้างเคียงน้อยมากและไม่เป็นอันตราย รวมทั้งมีโอกาสพบได้น้อย ผู้ป่วยบางรายก็อาจเผชิญกับอาการป่วยรุนแรงได้เช่นกัน

โดยผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการใช้ยา Nitroglycerin คือ อาการปวดหัว เวียนหัว วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม และในกรณีที่ใช้ยาแบบฉีด อาจพบอาการระคายเคืองบริเวณที่ถูกฉีดยา ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์ หากพบว่าอาการป่วยดังกล่าวไม่ดีขึ้น ไม่หายไป หรือมีอาการทรุดหนักลง

ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย และควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์ทันที หากพบตัวอย่างอาการดังต่อไปนี้

  • อาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น มีผดผื่นขึ้น หรือคันตามผิวหนัง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หน้าบวม ลิ้นบวม ปากบวม หรือคอบวม
  • มีปัญหาในการมองเห็น มองเห็นเป็นภาพเบลอ
  • ปากแห้ง หน้ามืด เป็นลม
  • หัวใจเต้นแรง หรือใจเต้นผิดปกติ
  • หน้าแดง
  • มีเหงื่อออกมากผิดปกติ
  • ผิวซีด
  • กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข
  • อ่อนเพลีย เมื่อยล้า หมดแรงอย่างผิดปกติ
  • ปวดหัวรุนแรง หรือเวียนหัวอย่างรุนแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง หรือคลื่นไส้ อาเจียนอยู่ตลอด