เนโฟรติก ซินโดรม (Nephrotic Syndrome)

ความหมาย เนโฟรติก ซินโดรม (Nephrotic Syndrome)

Nephrotic Syndrome (เนโฟรติก ซินโดรม) หรือกลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เป็นกลุ่มอาการโรคไตที่ทำให้ร่างกายขับโปรตีนออกทางปัสสาวะมาก ผู้ป่วยจะมีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะบริเวณเท้า ข้อเท้า และอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา ซึ่งสาเหตุเกิดจากความผิดปกติที่ผนังหลอดเลือดในไตทำให้ไม่สามารถกรองโปรตีนหรือไข่ขาวได้ จึงมีไข่ขาวรั่วออกมากทางปัสสาวะจำนวนมาก กลุ่มอาการนี้เกิดขึ้นได้กับทุกวัย โดยจะพบมากในเด็กอายุ 2-5 ปี และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง  

1544 Nephrotic Syndrome Resized

อาการของเนโฟรติก ซินโดรม

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน และบางรายอาจไม่รู้ว่าตนเองกำลังป่วยเป็นกลุ่มอาการ  Nephrotic Syndrome จนกระทั่งได้รับการตรวจปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการป่วยปรากฏขึ้น มักพบอาการในลักษณะต่อไปนี้

  • มีอาการบวมบริเวณรอบดวงตา ท้อง แขน ขา ข้อเท้า และเท้า
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ปัสสาวะเป็นฟอง
  • ปวดปัสสาวะน้อยมาก
  • อ่อนเพลีย
  • เบ่ื่ออาหาร
  • ท้องเสีย

สาเหตุของเนโฟรติก ซินโดรม

สาเหตุที่ทำให้เกิด Nephrotic Syndrome นั้นมีทั้งชนิดปฐมภูมิซึ่งเกิดจากโรคที่ส่งผลกระทบต่อไต และชนิดทุติยภูมิซึ่งเกิดจากโรคที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะหลายส่วนในร่างกายรวมทั้งไตด้วย

โดยปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้กรวยไตเกิดความเสียหายจนไตขับโปรตีนออกมาทางปัสสาวะเป็นปริมาณมาก มีดังนี้

  • กรวยไตเป็นแผล ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคบางชนิด ความบกพร่องทางพันธุกรรม หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ
  • การกรองไตผิดปกติ จึงส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่เมื่อตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบความผิดปกติน้อยมาก
  • เยื่อบุผิวภายในกรวยไตหนาตัวขึ้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากบางโรค เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ บี  ฃโรคมาลาเรีย และโรคมะเร็ง เป็นต้น
  • กลุ่มอาการอะมีลอยโดซิส (Amyloidosis) เกิดขึ้นเมื่อมีการสะสมของสารโปรตีนอะมีลอยด์ในไต (Amyloid) จนส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ
  • โรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เพราะโรคนี้อาจส่งผลกระทบต่อไตอย่างร้ายแรงได้
  • โรคไตจากเบาหวาน เพราะโรคเบาหวานอาจทำให้ไตถูกทำลาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกรวยไตได้
  • ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดไต
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบ และยาต้านการติดเชื้อ เป็นต้น

การวินิจฉัยเนโฟรติก ซินโดรม

แพทย์มักเริ่มวินิจฉัยอาการ Nephrotic Syndrome ด้วยการสอบถามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ตรวจประวัติการเจ็บป่วย ตรวจร่างกาย และตรวจปัสสาวะโดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจปริมาณของโปรตีนที่ปนอยู่ในน้ำปัสสาวะ

หากวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็น Nephrotic Syndrome แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อหาระดับโปรตีนในเลือดด้วย นอกจากนี้ แพทย์อาจต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไปส่งตรวจ เป็นต้น เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของไตต่อไป

การรักษาเนโฟรติก ซินโดรม

การรักษาอาการ Nephrotic Syndrome นั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยกระบวนการรักษาหลัก คือ การรักษาด้วยยา ซึ่งแพทย์จะใช้ยารักษาตามอาการ ดังนี้

  • ยาขับปัสสาวะ เช่น ฟูโรซีไมด์ สไปโรโนแลคโตน และไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ เป็นต้น เพื่อลดอาการบวมโดยช่วยกระตุ้นให้ไตระบายของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย
  • ยากดภูมิคุ้มกัน อย่างยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งอาจช่วยลดการอักเสบของโรคบางชนิดได้ เช่น โรคพุ่มพวง และกลุ่มอาการอะมีลอยโดซิส เป็นต้น
  • ยาลดคอเลสเตอรอล กลุ่มยาสแตติน เช่น อะทอร์วาสแตติน ฟลูวาสแตติน และโลวาสแตติน เป็นต้น ซึ่งยากลุ่มนี้จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้
  • ยาควบคุมความดันโลหิต แพทย์อาจให้ยากลุ่มแองจิโอเทนซิน 2 รีเซพเตอร์ บล็อกเกอร์ ยาลอซาร์แทน ยาวาลซาร์แทน และยาต้านเอนไซม์ เอซีอี เช่น บีนาซีพริล แคปโตพริล อีนาลาพริล เป็นต้น เพื่อช่วยลดความดันโลหิตและลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ
  • ยาเจือจางเลือด แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านการจับตัวของเลือด เช่น เฮพาริน วาฟาริน และดาบิกาทราน เป็นต้น เพื่อไม่ให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มในหลอดเลือด และลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด

หากอาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือมีอาการป่วยที่รุนแรงมาก อาจต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อฉีดโปรตีนอัลบูมินเข้าหลอดเลือดดำ และอาจต้องได้รับการฟอกไตเพื่อกำจัดของเสียที่สะสมอยู่ในเลือดออกไป เนื่องจากไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของเนโฟรติก ซินโดรม

กลุ่มอาการ Nephrotic Syndrome อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดอุดตัน ภาวะขาดสารอาหาร ภาวะไตวายเฉียบพลัน โรคไตเรื้อรัง และอาจเกิดการติดเชื้อ เป็นต้น

การป้องกันเนโฟรติก ซินโดรม

แม้ Nephrotic Syndrome จะไม่มีวิธีการป้องกันโดยตรง แต่การปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้กรวยไตเสี่ยงเกิดความเสียหายน้อยลง

  • ควบคุมความดันโลหิตเพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงจนเป็นอันตราย
  • ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน
  • รับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามจำนวนและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดไว้
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบหรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ