Montelukast (มอนเทลูคาสท์)

Montelukast (มอนเทลูคาสท์)

Montelukast (มอนเทลูคาสท์) คือ ยารักษาโรคหอบหืด บรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ และป้องกันอาการหอบหืดจากการออกกำลังกาย เนื่องจาก Montelukast เป็นยาในกลุ่มยาลูโคไตรอีน รีเซพเตอร์ แอนทาโกนิสต์ ชนิดรับประทาน (Oral Leukotriene Receptor Antagonist) ซึ่งมีสารที่ออกฤทธิ์ช่วยต้านอาการภูมิแพ้

Montelukast

เกี่ยวกับยา Montelukast

กลุ่มยา ลูโคไตรอีน รีเซพเตอร์ แอนทาโกนิสต์
ประเภทยา ยาตามคำสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาและป้องกันอาการหอบหืด บรรเทาอาการโรคภูมิแพ้
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก และผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน


คำเตือนของการใช้ยา Montelukast

  • ห้ามใช้ยาในผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ในยา Montelukast
  • ห้ามใช้ยาผิดจุดประสงค์ ผิดวิธี หรือนอกเหนือจากคำสั่งแพทย์ และห้ามใช้ยาร่วมกับบุคคลอื่น
  • ห้ามขับขี่ยานพาหนะหรือใช้เครื่องจักรในขณะใช้ยา เพราะการใช้ยา Montelukast อาจทำให้ง่วงนอนหรือวิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ยาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุได้
  • Montelukast ไม่สามารถยับยั้งภาวะจับหืดเฉียบพลันได้ ผู้ป่วยโรคหอบหืดต้องพกยาหอบหืดอื่น ๆ ที่ใช้ระงับอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันติดตัวเสมอ
  • ห้ามเพิ่ม ลดปริมาณยา หรือหยุดใช้ยาด้วยตนเอง โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ในกรณีที่มีอาการภูมิแพ้สัมพันธ์กับการใช้ยาแอสไพริน หรือ NSAID  เช่น ไอบูโพรเฟน เพราะยาอาจส่งผลให้อาการหอบหืดแย่ลงได้ หรือปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ
  • Montelukast อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และระบบประสาท ที่อาจนำไปสู่ความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายได้ ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยจึงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอหากเคยหรือกำลังเผชิญกับสภาวะทางจิตต่าง ๆ เช่น มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย มีท่าทีไม่เป็นมิตรก้าวร้าว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน นอนไม่หลับ ฝันแปลก ๆ ละเมอเดิน ตัวสั่น ประสาทหลอน เป็นต้น
  • หากต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ จากแพทย์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยา Montelukast อยู่
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียและประโยชน์ทางการรักษาด้วยยา Montelukast เพื่อประกอบการตัดสินใจวางแผนรักษาด้วยยานี้

ปริมาณการใช้ยา Montelukast

การใช้ยา Montelukast  เพื่อรักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง

ผู้ป่วยในทุกช่วงวัยต้องรับประทานยาในช่วงเวลาตอนเย็นเสมอ โดยมีปริมาณการใช้ยา ดังนี้

ผู้ใหญ่

รับประทานยาเม็ดเคลือบฟิล์ม วันละครั้ง ครั้งละ 10 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2 ปี

รับประทานยาแบบผง วันละครั้ง ครั้งละ 4 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 2-5 ปี

รับประทานยาแบบผง หรือยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 4 มิลลิกรัม  

เด็กอายุ 6-14 ปี

รับประทานยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 5 มิลลิกรัม  

เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป

รับประทานยาเม็ดเคลือบฟิล์ม วันละครั้ง ครั้งละ 10 มิลลิกรัม

การใช้ยา Montelukast  เพื่อป้องกันอาการหอบหืดจากการออกกำลังกาย

ผู้ป่วยต้องรับประทานยาก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และห้ามรับประทานยาครั้งถัดไปหากเวลายังผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง โดยมีปริมาณการใช้ยา ดังนี้

ผู้ใหญ่

รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 2-5 ปี

รับประทานยาแบบผง หรือยาเม็ดแบบเคี้ยว ครั้งละ 4 มิลลิกรัม  

เด็กอายุ 6-14 ปี

รับประทานยาเม็ดแบบเคี้ยว ครั้งละ 5 มิลลิกรัม  

เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป

รับประทานยาเม็ดเคลือบฟิล์ม ครั้งละ 10 มิลลิกรัม

การใช้ยา Montelukast เพื่อบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้

ผู้ใหญ่

รับประทานยา วันละครั้ง ครั้งละ 10 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 2-5 ปี

รับประทานยาแบบผง หรือยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 4 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 6-14 ปี

รับประทานยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 5 มิลลิกรัม  

เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป

รับประทานยา วันละครั้ง ครั้งละ 10 มิลลิกรัม

การใช้ยา Montelukast เพื่อบรรเทาอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)

เด็กอายุ 6-23 เดือน

รับประทานยาแบบผง วันละครั้ง ครั้งละ 4 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 2-5 ปี

รับประทานยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 4 มิลลิกรัม

เด็กอายุ 6-14 ปี

รับประทานยาเม็ดแบบเคี้ยว วันละครั้ง ครั้งละ 5 มิลลิกรัม  

การใช้ยา Montelukast

ก่อนใช้ยา Montelukast ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการใช้ยารักษา อาหารเสริม หรือสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้สารเหล่านั้นร่วมกับยา Montelukast เนื่องจากในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ปรับยา หยุดใช้ยา หรืออาหารเสริมบางชนิด เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากปฏิกิริยาระหว่างกันของสารเหล่านั้นกับ Montelukast เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) เป็นต้น

นอกจากประวัติการใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ที่สำคัญ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาหรือแพ้สารตัวใด แพ้น้ำตาลแล็คโทส เป็นโรคตับ หรือดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ภาวะอาการในปัจจุบัน อย่างการตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร และภาวะอาการทางจิต เช่น มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

ผู้ป่วยต้องใช้ยา Montelukast ตามปริมาณ และวิธีการใช้ยาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด รับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีคำสั่งอื่นใดจากแพทย์ โดยจะรับประทานยาพร้อมกับมื้ออาหารหรือไม่ก็ได้ แต่ห้ามใช้ยาร่วมกับบุคคลอื่น และห้ามใช้ยาน้อยกว่าหรือเกินกว่าปริมาณที่แพทย์สั่ง

หากลืมรับประทานยา ให้ข้ามยาในวันนั้นไป แล้วรับประทานยารอบใหม่ตามกำหนดเวลาเดิมในปริมาณเดิม ห้ามเพิ่มปริมาณรับประทานยาเป็น 2 เท่าเด็ดขาด และสอบถามแพทย์ให้ดีก่อนเสมอหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา โดยควรเก็บรักษายาที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นมือเด็กหรือสัตว์เลี้ยง ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด

ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาเกินขนาด ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังใช้ยาเกินขนาด ได้แก่ กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ปวดหัวไม่หาย หรือปวดหัวอย่างรุนแรง ปวดท้อง ง่วงนอนมากผิดปกติ กระหายน้ำมากผิดปกติ และอาเจียน เป็นต้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Montelukast

แม้มีประสิทธิผลทางการรักษาหลายประการ แต่ในบางครั้ง Montelukast อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงแก่ร่างกายในผู้ป่วยบางรายได้เช่นกัน

ผลข้างเคียงทั่วไปที่มักพบได้จากการใช้ยา Montelukast หากอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องเรื้อรัง อาการไม่บรรเทาลง หรือมีอาการที่ทรุดหนักลงเรื่อย ๆ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์  เช่น

  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ไอ เจ็บคอ
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้วิงเวียน
  • อาหารไม่ย่อย รู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน
  • ปวดท้อง ท้องร่วง
  • รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง

ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงซึ่งอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยควรขอความช่วยเหลือและไปพบแพทย์ทันที หากพบตัวอย่างอาการต่อไปนี้

  • อาการการแพ้ยา เช่น มีผดผื่นขึ้นตามผิวหนัง เสียงแหบผิดปกติ กลืนลำบาก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีปัญหาการหายใจ หน้าบวม ลิ้นบวม ปากบวม หรือคอบวม
  • กลุ่มอาการหลอดเลือดอักเสบจากการแพ้ยา (Churg-Strauss Syndrome) เช่น หอบหืด มีไข้ ไซนัสอักเสบ เมื่อยล้า ไอ เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • กลุ่มอาการโรคภูมิแพ้ตนเอง หรือออโตอิมมูน (Autoimmune) ทำให้ผู้ป่วยเมื่อยล้า มีไข้ รู้สึกไม่สบาย มีอาการเจ็บป่วยตามอวัยวะและระบบต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หลอดเลือด เนื้อเยื่อต่าง ๆ
  • เจ็บหน้าอก ปวดหู สับสนมึนงง ปัสสาวะมีสีเข้ม มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ หัวใจเต้นผิดปกติ
  • นิ้วชา มือชา เท้าชา
  • ปวดบริเวณโพรงจมูกตำแหน่งของไซนัส
  • ผิวหนังบวมแดง ผิวลอก หรือมีตุ่มพอง
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง หรือปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • มีปัญหาการหายใจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือมีปัญหาการหายใจที่ทรุดหนักลง
  • มือบวม เท้าบวม ข้อเท้าบวม
  • มีจ้ำเลือดตามตัว หรือมีเลือดไหล
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ตัวสั่น
  • มีสัญญาณการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ เจ็บคอ คันคอ
  • มีอาการชัก
  • อารมณ์ ความคิด และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย ไม่ไว้ใจใคร ก้าวร้าว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน นอนไม่หลับ ฝันแปลก ๆ ละเมอเดิน ตัวสั่น ประสาทหลอน
  • มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย