Ivermectin (ไอเวอร์เมคติน)

Ivermectin (ไอเวอร์เมคติน)

Ivermectin (ไอเวอร์เมคติน) เป็นยาฆ่าพยาธิ ซึ่งใช้รักษาโรคที่มีสาเหตุจากพยาธิตัวกลม เช่น โรคพยาธิไส้เดือน โรคพยาธิตัวจี๊ด และโรคจากปรสิตบางชนิด เช่น โรคหิด หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์

Ivermectin

ยา Ivermectin มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับยา Ivermectin

กลุ่มยา ยาฆ่าพยาธิ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาโรคที่มีสาเหตุจากพยาธิตัวกลม หรือปรสิตบางชนิด
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ยา Ivermectin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยานี้หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
  • ควรปรึกษาแพทย์หากใช้ยานี้พร้อมกับยาวาร์ฟาริน เพราะอาจจำเป็นต้องตรวจเลือดอยู่เสมอ
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรระมัดระวังเวลาลุกขึ้นยืน เดินขึ้นหรือลงบันได เพราะยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะหรือหมดสติได้ แม้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้น้อยก็ตาม
  • หลัังจากใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรตรวจอุจจาระซ้ำ เพื่อตรวจสอบว่าหายจากโรคที่เป็นอยู่หรือไม่
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อบุตร
  • ยานี้อาจมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์และยาเลวาไมโซล จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Ivermectin หากกำลังใช้ยาเลวาไมโซลอยู่

ปริมาณการใช้ยา Ivermectin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคพยาธิไส้เดือน

สำหรับฆ่าพยาธิ Ascaris Lumbricoides

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 150-200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว

เด็กน้ำหนักตัวมากกว่าหรือเท่ากับ 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 150-200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว

โรคพยาธิสตรองจิลอยด์

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว
เด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว

โรคพยาธิตัวจี๊ด

สำหรับฆ่าพยาธิ Gnathostoma Spinigerum

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 2 วัน

เด็กน้ำหนักตัวมากกว่าหรือเท่ากับ 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 2 วัน

โรคหิด

สำหรับฆ่าตัวหิดหรือไรหิด

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละครั้ง และรับประทานยาซ้ำใน 2 สัปดาห์ถัดไป

เด็กน้ำหนักตัวมากกว่าหรือเท่ากับ 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละครั้ง และรับประทานยาซ้ำใน 2 สัปดาห์ถัดไป

การใช้ยา Ivermectin

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ และผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องมีการปรับปริมาณการใช้ยาตามเหมาะสม หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ควรรับประทานยาในขณะท้องว่าง และดื่มน้ำเปล่าตาม โดยควรดื่มน้ำให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
  • หากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น ความร้อน และห่างจากสายตาเด็กหรือสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้ว

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ivermectin

การใช้ยา Ivermectin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิว หรือมีอาการคัน คลื่นไส้ อาเจียน ไอ เจ็บคอ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หมดแรง หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

อย่างไรก็ตาม หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีอาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นคัน ลมพิษ ผิวบวมแดง มีตุ่มพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรืออาจไม่มีไข้ หายใจเสียงดัง แน่นหน้าอกหรือลำคอ มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ หน้าบวม ปากบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม
  • เวียนศีรษะรุนแรง หรือหมดสติ
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เจ็บตา หรือระคายเคืองตาอย่างรุนแรง
  • ระคายเคืองผิวอย่างรุนแรง
  • ตัวบวม หรือต่อมต่าง ๆ บวมโต

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน