ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxia)

ความหมาย ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxia)

Hypoxia หรือ ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยมักเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความผิดปกติของระบบหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิต ผู้ป่วยมักมีอาการบ่งชี้ เช่น ผิวหนังซีดหรือเป็นสีเขียว มึนงง ไอ หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น ซึ่งหากไม่รีบไปพบแพทย์ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ อย่างสมองหรือตับจนเป็นอันตรายร้ายแรงได้

1682 Hypoxia rs

อาการของภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน

แม้ผู้ป่วย Hypoxia แต่ละรายจะแสดงอาการผิดปกติแตกต่างกันไป แต่อาการบ่งชี้หลัก ๆ ที่อาจสังเกตได้ มีดังนี้

  • ผิวหนังซีดหรือเป็นสีเขียว
  • ไอ
  • มีเหงื่อออกมาก
  • หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ หรือหายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • สับสนมึนงง
  • ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก เกิดภาวะโคม่า และอาจเสียชีวิตได้หากป่วยรุนแรง

ส่วนผู้ป่วยเด็กอาจอาการข้างต้นร่วมกับอาการผิดปกติ ดังต่อไปนี้

  • อ่อนเพลีย
  • รู้สึกไม่สบายตัว
  • เลิกสนใจสิ่งที่ตนเองเคยสนใจ เช่น เลิกเล่นของเล่นหรือตุ๊กตา เป็นต้น
  • นั่งเอนตัวไปทางด้านหน้า เพราะจะทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • เด็กที่เป็นโรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบหรือทางเดินหายใจถูกอุดกั้น อาจมีอาการหายใจทางปากและมีน้ำลายไหลออกมามากผิดปกติ เพราะกลืนน้ำลายไม่ได้หรือกลืนได้ไม่หมด

สาเหตุของภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน

โดยปกติเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายจะได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ หากปอดสามารถแลกเปลี่ยนแก๊สออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณออกซิเจนในอากาศเพียงพอต่อการหายใจ มีการไหลเวียนเลือดไปยังปอดและนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบางประการต่อไปนี้ อาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายในข้างต้น และทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลงจนเกิดภาวะ Hypoxia ในที่สุด

  • อยู่ในบริเวณที่มีปริมาณออกซิเจนเบาบางอย่างบนยอดเขา
  • มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหืด โรคปอด โรคหัวใจ โลหิตจาง เป็นต้น
  • ใช้ยาหรือสารบางชนิด เช่น ยาระงับปวดชนิดรุนแรง ยาที่มีฤทธิ์ทำให้หายใจช้าลงหรือหยุดหายใจ หรือได้รับสารพิษไซยาไนด์ เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะ Hypoxia ได้จากการสอบถามประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกายเบื้องต้น ร่วมกับวิธีตรวจอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • เก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดแดง แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจวัดระดับออกซิเจนในห้องปฏิบัติการ โดยปกติระดับออกซิเจนในหลอดเลือดแดงจะอยู่ที่ 80-100 มิลลิเมตรปรอท หากต่ำกว่านี้ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการรับออกซิเจนเพิ่ม
  • ตรวจวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Pulse Oximeter หนีบไว้บริเวณปลายนิ้ว ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 95-100 เปอร์เซ็นต์ หากมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือมีอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะนี้อย่างชัดเจน แพทย์จะเริ่มให้การรักษาทันที

นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะ Hypoxia หรือประเมินความรุนแรงและขอบเขตของโรค เช่น ตรวจสมรรถภาพปอด ทำ CT Scan ทำ MRI Scan ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

การรักษาภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน

ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายภาวะ Hypoxia ควรรีบไปพบแพทย์ หรือหากพบผู้ที่มีภาวะนี้ให้นำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด โดยแพทย์จะเร่งหาสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาที่ต้นเหตุในทันที ซึ่งวิธีรักษาภาวะ Hypoxia จะขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสุขภาพของผู้ป่วย อาการ และความรุนแรงของโรคเป็นหลัก ดังนี้

  • ให้ออกซิเจนผ่านสายทางจมูกหรือหน้ากากออกซิเจน
  • ในกรณีที่สงสัยว่าอาการป่วยเกิดจากปอดทำงานผิดปกติ แพทย์จะใช้ยาพ่นที่มีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดลม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจฉีดยาขยายหลอดลมเข้าทางเส้นเลือดดำแทน
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยอาจมีภาวะปอดอักเสบ แพทย์อาจให้ยาสเตียรอยด์เป็นช่วงสั้น ๆ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ
  • แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง โดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ซึ่งมีความเข้มข้นสูงขณะอยู่ในห้องปรับบรรยากาศที่มีความดันภายในสูงกว่า 1 บรรยากาศ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน

เมื่อปริมาณออกซิเจนในหลอดเลือดลดลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจส่งผลให้สมอง ตับ และอวัยวะอื่น ๆ ทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีออกซิเจนในสมองต่ำ ซึ่งอาจทำให้มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกลดลงและไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ตามปกติ หากมีอาการรุนแรงก็อาจชัก เกิดภาวะโคม่า และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การป้องกันภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน

การป้องกันภาวะ Hypoxia ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีปริมาณออกซิเจนเบาบางอย่างบนยอดเขา ส่วนผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหืด ควรปฏิบัติตามแนวทางการรักษาที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายรับประทานยาเพื่อป้องกันอาการหืดกำเริบหรือใช้ยาพ่นเพื่อขยายหลอดลม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Hypoxia ไปด้วย