Hodgkin's Lymphoma

ความหมาย Hodgkin's Lymphoma

Hodgkin's Lymphoma (ฮอดจ์กินลิมโฟมา) หรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดภายในระบบน้ำเหลือง อย่างต่อมน้ำเหลืองและท่อน้ำเหลือง ผู้ป่วยมักจะมีอาการบวมบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ หรือตำแหน่งอื่นที่มีต่อมน้ำเหลือง หากเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังส่วนอื่นก็อาจทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกันไป

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) และชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin's Lymphoma) ตามปกติแล้ว มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินเป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อย โดยจะส่งผลให้เกิดเซลล์ผิดปกติชนิดหนึ่งที่ไม่พบในชนิดนอนฮอดจ์กิน ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ แพทย์จะรักษาผู้ป่วยตามระยะของโรคและอวัยวะที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก

นอกจากนี้ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด คือ Classic Hodgkin Lymphoma ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนี้ และอีกชนิดที่พบได้น้อยกว่า คือ Nodular Lymphocyte-Predominant

2552-Hodgkin's Lymphoma

อาการของ Hodgkin's Lymphoma

อาการหลักของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้แก่

  • ต่อมน้ำเหลืองโต ส่งผลให้เกิดอาการบวมบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ หรือส่วนอื่นที่มีต่อมน้ำเหลือง ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการปวด แต่บางรายอาจมีอาการปวดหลังการดื่มแอลกอฮอล์
  • คันตามผิวหนังทั่วร่างกาย

นอกจากนี้ เซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น เช่น ผิวหนัง ตับ ม้าม ปอด ต่อมไทมัส ต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ เป็นต้น ในกรณีที่เชื้อมะเร็งลุกลามไปยังส่วนอื่นอาจทำให้เกิดอาการที่ต่างกันไป หากลุกลามไปยังระบบทางเดินอาหารอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องและอาหารไม่ย่อย หรือลุกลามไปยังไขสันหลังอาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย เลือดออกมากผิดปกติ อย่างเลือดกำเดา ประจำเดือน รอยช้ำตามผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติในข้างต้นอย่างต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้อง เพราะอาการบางอย่างอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ Hodgkin's Lymphoma อย่างต่อมน้ำเหลืองโตหรืออาการบวมอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อ 

สาเหตุของ Hodgkin's Lymphoma

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในของ Hodgkin's Lymphoma แต่พบว่ามีการกลายพันธุ์ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดบีลิมโฟไซต์ (B Lymphocytes) โดยสันนิษฐานว่าสาเหตุอาจมาจากการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein Barr Virus) และอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ระดับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น เป็นโรคอ้วน ติดเชื้อเอชไอวี เคยเป็นโรคมะเร็งหรือเคยติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ หรือเคยรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา เป็นต้น 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเพศชาย มักพบในช่วงอายุ 20 ตอนต้นและหลังอายุ 55 ปี ในกรณีที่มีพี่น้องเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าคนกลุ่มอื่นเนื่องจากอาจได้รับเชื้อชนิดเดียวกัน 

อาการของ Hodgkin's Lymphoma เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติในต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายทำงานผิดปกติและต่อมน้ำเหลืองบวมโต เมื่อลุกลามไปยังส่วนอื่นก็จะส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดความผิดปกติตามไปด้วย

การวินิจฉัย Hodgkin's Lymphoma

แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติ โรคประจำตัว ประวัติของครอบครัวผู้ป่วย และตรวจร่างกาย หากมีความเสี่ยงแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

การตรวจเนื้อเยื่อ

วิธีนี้เป็นการตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่คาดว่าเกิดความผิดปกติ โดยอาจเป็นการตัดเพียงบางส่วนหรือต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดตามดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็งในห้องปฏิบัติการ หากตรวจพบเซลล์มะเร็งก็จะช่วยให้แพทย์ทราบได้ว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดใด

การแสดงภาพภายในร่างกาย

เป็นตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะภายในร่างกายด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เอกซเรย์ (X-ray) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุความถี่สูง (MRI) และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTs) นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การแสดงภาพภายในร่างกายเพื่อวัตถุประสงค์อื่นในระหว่างการรักษาและวินิจฉัย เช่น หาสาเหตุที่อาจเป็นต้นเหตุของอาการผิดปกติอื่น ตรวจดูระยะของมะเร็ง ติดตามผลการรักษา หรือตรวจหาสัญญาณอื่นที่อาจทำให้กลับมาเกิดโรคมะเร็งซ้ำ

การตรวจเลือด

แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด จำนวนเม็ดเลือดขาว ระดับการทำงานของระบบภายในร่างกาย การติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ หรือโรคอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของ Hodgkin's Lymphoma เป็นต้น

หลังการวินิจฉัยในข้างต้น หากแพทย์พบเซลล์มะเร็งบริเวณต่อมน้ำเหลืองและพบเซลล์รีดสเตนเทิร์นเบิร์ก (Reed-Sternberg Cell) แพทย์อาจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน เพราะชนิดนอนฮอดจ์กินจะไม่พบเซลล์รีดสเตนเทิร์นเบิร์ก โดยขั้นตอนการตรวจเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยหาเซลล์มะเร็ง แต่ยังช่วยตรวจดูการลุกลามของเซลล์มะเร็งว่าแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น อย่างปอด ไขสันหลัง หรือระบบย่อยอาหาร อีกทั้งยังช่วยให้แพทย์ระบุระยะของโรค ความเสียหายของอวัยวะ และช่วยในการวางแผนการรักษาได้

แพทย์อาจยึดตามเกณฑ์ในการประเมินอาการและระยะของ Hodgkin's Lymphoma เบื้องต้นดังนี้

  • ระยะที่ 1 พบเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณต่อมน้ำเหลืองเพียงหนึ่งตำแหน่ง หรือพบเซลล์มะเร็งที่อยู่ใกล้กับต่อมน้ำเหลืองเพียงหนึ่งตำแหน่ง
  • ระยะที่ 2 พบเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไปบริเวณกะบังลมข้างใดข้างหนึ่ง หรือเชื้อมะเร็งเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง
  • ระยะที่ 3 พบเซลล์มะเร็งบริเวณต่อมน้ำเหลืองทั้งเหนือและใต้ต่อกะบังลม หรือเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังม้ามและต่อมน้ำเหลืองเหนือกะบังลม
  • ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่นอกระบบน้ำเหลือง เช่น กระดูกไขสันหลัง ปอด และตับ เป็นต้น

การรักษา Hodgkin's Lymphoma

แพทย์จะรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินในผู้ป่วยละรายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค รวมถึงภาวะสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ซึ่งวิธีที่แพทย์อาจใช้มีดังนี้

เคมีบำบัด (Chemotherapy)

เคมีบำบัดหรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อการทำคีโม เป็นการรักษาด้วยการใช้ยาเคมีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย ซึ่งเคมีบำบัดสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะและระยะของโรค โดยอาจจะเป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำและยาเม็ด และระยะเวลาการรักษาอาจใช้เวลาหลายเดือน 

ในช่วงแรกของการรักษาผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการและผลข้างเคียง หากการรักษาให้ผลดี โรคอยู่ในระยะสงบ ไม่มีอาการ หรือผลข้างเคียงรุนแรง แพทย์อาจให้ยาแบบไปกลับ (Day Chemotherapy) และไม่ต้องพักฟื้น

การทำเคมีบำบัดไม่เพียงทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงด้วย จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ป่วยง่าย และเลือดออกง่าย เป็นต้น โดยอาการและระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างไป ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ยาสเตียรอยด์ผ่านทางหลอดเลือดดำควบคู่ไปกับการทำเคมีบำบัด ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

รังสีรักษา (Radiotherapy)

รังสีรักษาหรืออีกชื่อที่รู้จักกันคือการฉายแสง เป็นการใช้รังสีที่มีความเข้มข้นในการกำจัดเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย โดยมักใช้ในการรักษาโรคมะเร็งระยะแรก ซึ่งระยะเวลาการรักษาอาจใช้เวลาต่อเนื่องหลายวันและติดต่อกันหลายสัปดาห์ ทั้งนี้ การฉายรังสีจะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บ แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงโดยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ฉายรังสี เช่น เจ็บคอ ผมร่วง ผื่นแดง เป็นต้น  

การปลูกถ่ายไขกระดูก

การรักษาผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stemcell) เพื่อช่วยสร้างเซลล์ต้นกำเนิดที่ช่วยในการฟื้นฟูร่างกายหลังจากการรักษา โดยแพทย์จะทำการเก็บสเต็มเซลล์ไขสันหลังจากผู้ป่วย และทำลายเซลล์มะเร็งภายในร่างกายด้วยวิธีเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา หลังจากเชื้อมะเร็งถูกทำลาย แพทย์จะทำการฉีดสเต็มเซลล์ที่เก็บออกมากลับสู่ร่างกายของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย โดยปราศจากเซลล์มะเร็ง

การใช้ยาสเตียรอยด์  

ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินชนิดที่มีลักษณะเฉพาะ แพทย์อาจให้ยาต่อไปนี้ในการรักษาเพิ่มเติม โดยอาจใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ๆ 

  • ยาริทูซิแมบ (Rituximab) ใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Lymphocyte-Predominant ร่วมกับการทำเคมีบำบัด
  • Brentuximab Vedotin ใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มีลักษณะเฉพาะ โดยจะใช้รักษาผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีเคมีบำบัดที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ของตนเองมาแล้ว หรือผู้ที่เคยรักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้วและไม่สามารถใช้วิธีการปลูกถ่ายเซลล์เพื่อรักษาได้

นอกจากวิธีเหล่านี้แล้ว แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่นเพื่อบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน อย่างยาปฏิชีวนะหรือวัคซีนป้องกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนของ Hodgkin's Lymphoma

ทั้งอาการของโรคและผลข้างเคียงจากการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น

  • ภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นผลจากอาการของโรคและผลข้างเคียงจากการรักษา ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย หากผู้ป่วยมีไข้ หนาวสั่น หรือมีอาการคล้ายหวัด ควรไปพบแพทย์ทันที
  • เซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดซ้ำ ผู้ป่วยบางรายอาจกลับมาเป็น Hodgkin's Lymphoma ซ้ำหลังจากสิ้นสุดการรักษาแล้วหลายปี โดยเซลล์มะเร็งมักเกิดในบริเวณเดิมที่เคยเป็น
  • มีลูกยาก เป็นผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษา ซึ่งการรักษาเหล่านั้นอาจกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ทำให้มีลูกได้ยากขึ้น
  • ในบางรายอาจเกิดโรคมะเร็งชนิดอื่นจากการรักษา เช่น การทำเคมีบำบัดและรังสีรักษาอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยผู้ที่เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปอดตามมาได้ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น

การป้องกัน Hodgkin's Lymphoma

Hodgkin's Lymphoma ไม่มีวิธีป้องกันที่แน่ชัด แต่อาจลดความเสี่ยงลงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยบางอย่างที่ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง อย่างการติดเชื้อเอชไอวีหรือการควบคุมน้ำหนักเพื่อป้องกันโรคอ้วนอย่างไรก็ตาม หากพบอาการที่น่าสงสัยติดต่อกัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะการตรวจพบโรคในระยะแรกอาจช่วยให้รักษาได้ง่ายและมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น