ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cyst)

ความหมาย ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cyst)

Ganglion Cyst คือ ซีสต์หรือก้อนถุงน้ำที่มักเกิดขึ้นบริเวณเส้นเอ็นหรือข้อต่อ ส่วนใหญ่พบบริเวณมือและข้อมือ ถือเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง มักมีลักษณะเป็นวงกลมหรือรูปไข่ที่ภายในเป็นของเหลว หากอาการที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อผู้ป่วย แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการรักษาด้วยการเจาะระบายของเหลว หรืออาจต้องรับการผ่าตัด แต่หากไม่มีอาการใด ๆ ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา เนื่องจากก้อนถุงน้ำอาจหายไปเองได้

1775 Ganglion Cyst rs

อาการของก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ

ผู้ป่วยมักมีก้อนนูนบริเวณข้อมือหรือหลังมือ แต่ก็อาจเกิดขึ้นบริเวณข้อเท้า เท้า หรือข้อต่ออื่น ๆ ได้เช่นกัน โดยจะมีลักษณะเป็นก้อนนิ่มขนาดประมาณ 1-3 เซนติเมตร ซึ่งหากผู้ป่วยใช้งานและเคลื่อนไหวบริเวณข้อมาก ๆ หรือเกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงในบริเวณดังกล่าว อาจทำให้ขนาดของก้อนถุงน้ำใหญ่ขึ้นได้

แม้ก้อนถุงน้ำที่เกิดขึ้นมักไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ แต่หากก้อนนั้นไปกดทับบริเวณเส้นประสาท อาจส่งผลให้มีอาการปวด ชา เสียว หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งก้อนถุงน้ำอาจยุบลงหรือหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไปในผู้ป่วยบางราย และอาจมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกครั้งได้เช่นกัน

สาเหตุของก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ    

ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิด Ganglion Cyst ได้อย่างแน่ชัด แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่พบว่าการบาดเจ็บจากแรงกระแทกอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อเกิดความเสียหายหรือฉีกขาด จนทำให้เกิดถุงน้ำขนาดเล็กแล้วกลายเป็นก้อนขนาดใหญ่ได้ ซึ่งอาการดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับเยื่อหุ้มข้อหรือปลอกหุ้มเอ็นที่ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อนั้นมีอาการบวมนูน โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่พบได้มากในเพศหญิงที่มีอายุ 20-40 ปี นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการข้อเสื่อมบริเวณนิ้วมือหรือเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อต่อและเอ็น อาจมีความเสี่ยงเกิดถุงน้ำชนิดนี้ได้มากกว่าคนทั่วไปด้วย

การวินิจฉัยก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ

ในเบื้องต้นแพทย์อาจตรวจด้วยการคลำหรือสัมผัสหาบริเวณที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บ หรือใช้แสงส่องตรวจดูบริเวณที่เกิดอาการว่าเป็นก้อนเนื้อที่แข็งหรือเป็นก้อนของเหลว รวมทั้งอาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจภาพถ่ายทางรังสี เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ หรือเอ็มอาร์ไอสแกน เป็นต้น เพื่อตรวจสอบว่ามีเนื้อเยื่อหรือเส้นเลือดที่อาจเป็นสาเหตุของ Ganglion Cyst หรือไม่ ทั้งยังช่วยให้เห็นถุงน้ำที่ซ่อนอยู่บริเวณต่าง ๆ ได้ด้วย
  • การตรวจเก็บตัวอย่างของเหลวจากถุงน้ำ แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาเจาะเข้าไปบริเวณถุงน้ำ เพื่อเก็บตัวอย่างของเหลวภายในมาตรวจสอบ วิธีนี้จะช่วยยืนยันว่าก้อนดังกล่าวคือ Ganglion Cyst หรือไม่ และของเหลวในก้อนนั้นก็อาจจะมีความทึบหนา ใส หรือโปร่งแสงก็ได้

การรักษาก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ

แม้ Ganglion Cyst มักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด และอาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่หากผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณถุงน้ำจนทำให้เคลื่อนไหวข้อต่อได้ไม่สะดวก หรืออาการที่เกิดขึ้นส่งผลต่อชีวิตประจำวัน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้  

  • การดูดของเหลวออกจากถุงน้ำ แพทย์อาจใช้เข็มฉีดยาดูดของเหลวออกจากถุงน้ำ ดามบริเวณข้อมือเพื่อลดการเคลื่อนไหว และอาจฉีดสเตียรอยด์ร่วมด้วยเพื่อลดอาการอักเสบ
  • การจำกัดการเคลื่อนไหว เนื่องจากการเคลื่อนไหวสามารถทำให้ก้อนถุงน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ การสวมเฝือกหรือการดามจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้พื้นที่ส่วนนั้นลดการเคลื่อนไหวแบบชั่วคราว หากก้อนถุงน้ำหดตัวลง จะทำให้ไม่เกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาท ซึ่งส่งผลให้อาการปวดลดลงด้วย แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้เฝือกเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบฝ่อลงได้
  • การผ่าตัด แพทย์มักจะใช้วิธีนี้หากรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น รู้สึกปวด มีอาการชาหรือรู้สึกเหมือนถูกเข็มทิ่มบริเวณรอบถุงน้ำ รู้สึกว่าก้อนถุงน้ำเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น โดยแพทย์จะตัดก้อนถุงน้ำที่ยึดอยู่กับข้อและเส้นเอ็นออกไป ซึ่งการผ่าตัดก็อาจทำให้เส้นประสาท เส้นเลือด หรือเส้นเอ็นบริเวณโดยรอบเกิดความเสียหายได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก และหลังผ่าตัดก็อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน

หลังการรักษาช่วงแรก ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้เน้นการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ ได้ เช่น การเขียน การขนวัตถุที่มีน้ำหนักเบา เป็นต้น โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายที่นิ้วมืออย่างการเหยียดนิ้วหัวแม่มือให้สุดแล้วงอนิ้วกลับ ซึ่งหากเกิดอาการปวดหลังการรักษา แพทย์จะให้ยาชาหรือยาแก้ปวดแก่ผู้ป่วยด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ

Ganglion Cyst มักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือหากเกิดขึ้นก็ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดรักษาก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น เจ็บปวด หรือแผลเกิดการติดเชื้อ เป็นต้น รวมถึงอาจมีความเสี่ยงจากการใช้ยาสลบด้วย เพราะอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจและปอด แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก เพราะแพทย์จะประเมินความเสี่ยงในการใช้ยาสลบกับผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดเสมอ  

การป้องกันก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ

Ganglion Cyst เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งการป้องกันในเบื้องต้นอาจทำได้เพียงหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นตามร่างกาย หากพบก้อนนูนผิดปกติ ผู้ป่วยไม่ควรพยายามเจาะก้อนนั้นด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และหากพบว่ามีอาการที่น่าสงสัย ควรเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์เพื่อไม่ให้เกิดอาการรุนแรงตามมาได้