Cholestyramine (คอเลสไทรามีน)

Cholestyramine (คอเลสไทรามีน)

Cholestyramine (คอเลสไทรามีน) เป็นยาในกลุ่มยาลดคอเลสเตอรอลในเลือด ออกฤทธิ์จับกับน้ำดีในลำไส้เพื่อลดการดูดซึมไขมันในร่างกาย ซึ่งอาจนำมาใช้ลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลที่สูงเกินไป โดยเฉพาะภาวะร่างกายมีระดับไลโปโปรตีนในเลือดสูงกว่าปกติ อาการคันจากท่อน้ำดีอุดตัน อาการท้องเสียจากความผิดปกติของการดูดซึมน้ำดีในร่างกาย หรือโรคตับอื่น ๆ นอกจากนี้ อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

ยา Cholestyramine มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

1670 Cholestyramine resized

เกี่ยวกับยา Cholestyramine

กลุ่มยา  ยาลดคอเลสเตอรอล
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาภาวะไลโปโปรตีนในเลือดสูงกว่าปกติ อาการคันจากท่อน้ำดีอุดตัน
อาการท้องเสียจากความผิดปกติของการดูดซึมน้ำดีในร่างกาย หรือโรคตับอื่น ๆ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน

 

คำเตือนในการใช้ยา Cholestyramine

  • ไม่ควรใช้ยา Cholestyramine หากมีประวัติแพ้ยา หรือมีการอุดกั้นของกระเพาะอาหารและลำไส้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง โรคของต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต และโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ที่เป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรียต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ผู้ป่วยที่ใช้วิตามินเสริมบางชนิดต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยา Cholestyramine อาจลดการดูดซึมวิตามินบางชนิด
  • ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรอาจจำเป็นต้องได้รับวิตามินเสริม ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงการใช้วิตามินเสริมอย่างเหมาะสม
  • หญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตรต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบก่อนใช้ยา เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่

ปริมาณการใช้ยา Cholestyramine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาอาการท้องเสียจากความผิดปกติของการดูดซึมน้ำดีในร่างกาย และภาวะไลโปโปรตีนในเลือดสูงกว่าปกติ

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 4 กรัม วันละ 1-2 ครั้ง และเพิ่มปริมาณยาจนถึง 12-24 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1-4 ครั้ง ส่วนปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการ ให้รับประทานยาปริมาณ 8-16 กรัม โดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง และใช้ยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 24 กรัม/วัน
เด็ก รับประทานยาปริมาณ 240 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กรัม/วัน แบ่งรับประทาน 2-3 ครั้ง ไม่ให้เกิน 8 กรัม/วัน โดยปริมาณการใช้ยาขึ้นอยู่กับการตอบสนองและความทนต่อยา

รักษาอาการคันจากท่อน้ำดีอุดตัน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 4 กรัม วันละ 1-2 ครั้ง ส่วนปริมาณยาสำหรับควบคุมอาการให้รับประทานยาปริมาณ 8-16 กรัม โดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง และใช้ยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 24 กรัม/วัน

การใช้ยา Cholestyramine

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ควรใช้ยา Cholestyramine พร้อมอาหาร เพื่่อประสิทธิภาพในการรักษา และต้องรอให้ผ่านไป 4-6 ชั่วโมง จึงจะสามารถใช้ยาชนิดอื่นได้
  • ยา Cholestyramine อาจส่งผลต่อผิวฟันได้ โดยเฉพาะการรับประทานยานี้แบบผสมน้ำอย่างช้า ๆ หรืออมยาไว้นานเกินไป อาจทำให้ฟันเปลี่ยนสี ฟันสึก หรือฟันผุ ดังนั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว และต้องหมั่นแปรงฟันให้สะอาดหลังใช้ยาเสมอ
  • ระหว่างที่ใช้ยา Cholestyramine ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจเลือดอยู่บ่อยครั้ง และให้ดื่มน้ำเปล่าเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • ยา Cholestyramine เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาไขมันในเลือดสูง ซึ่งผู้ป่วยควรควบคุมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหน้ก และปฏิบัติตามคำแนะของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาของยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบต่อไป และห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและความชื้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Cholestyramine

การใช้ยา Cholestyramine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องอืด ระคายเคืองลิ้น คันหรือระคายเคืองบริเวณทวารหนัก เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา Cholestyramine ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม คอบวม และลิ้นบวม เป็นต้น
  • ท้องผูกอย่างต่อเนื่องหรือมีอาการแย่ลง
  • เกิดรอยช้ำง่าย หรือมีเลือดออกผิดปกติ
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • อุจจาระมีสีดำหรือม่ีเลือดปน

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน