Atorvastatin (อะทอร์วาสแตติน)

Atorvastatin (อะทอร์วาสแตติน)

Atorvastatin (อะทอร์วาสแตติน) คือยาในกลุ่มสแตติน (Statins หรือ HMG CoA Reductase Inhibitors) มีคุณสมบัติในการลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด (Triglyceride) ในขณะเดียวกันก็ช่วยในการเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีในร่างกาย (HDL) ได้บ้าง นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหัวใจในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

Atorvastatin

กี่ยวกับยา Atorvastatin

กลุ่มยา ยารักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูง (Anti-Cholesterol Treatment)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ด


คำเตือนเกี่ยวกับยา 

  • ผู้ที่มีอาการแพ้ยา หรือสารประกอบของยาดัวกล่าวไม่ควรใช้ยาชนิดนี้
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคตับ ควรปรึกษาแพทย์ หรือหากมีอาการของโรคตับไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยโรคไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อจากการใช้ยากลุ่มสแตติน และภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะยานี้อาจส่งผลรุนแรงกับผู้ใช้ได้
  • ผู้ที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ควรได้รับการรักษาก่อนใช้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนวัย สตรีมีครรภ์ และอยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ผู้หญิงที่มีการใช้ยานี้ควรหยุดใช้ยาทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์

ปริมาณการใช้ยา Atorvastatin

  • เด็ก เพื่อรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม (Familial Hypercholesterolemia) อายุ 10-17 ปี รับประทาน 10 หรือ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และสามารถเพิ่มขนาดยาได้ภายใน 4 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้ใหญ่ รับประทาน 10 หรือ 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง สามารถปรับขนาดยาได้ภายใน 4 สัปดาห์ และอาจเริ่มรับประทานที่ 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งหากผู้ป่วยจำเป็นต้องลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีให้ต่ำกว่า 45% แต่ไม่ควรเกินวันละ 80 มิลลิกรัม

 

 

*ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก

การใช้ยา Atorvastatin

ยา Atorvastatin เป็นยาที่ใช้ตามใบสั่งแพทย์ และใช้เพื่อการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง หรือคอเลสเตอรอลสูงเท่านั้น ยาชนิดนี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ไม่ควรรับประทานหรือดื่มน้ำผลไม้จากผลเกรฟฟรุตในปริมาณมาก ๆ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันตรายได้ ควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวัน ระหว่างที่ใช้ยาดังกล่าว ควรเก็บยาให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และเก็บในที่ร่ม

นอกจากนี้ หากมีอาการชักชนิดควบคุมไม่ได้ ระดับเกลือแร่ในร่างการเสียสมดุล ความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง มีอาการติดเชื้อ หรือเจ็บป่วยอย่างรุนแรง ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือต้องเข้ารับการรักษาอย่างฉุกเฉิน ควรหยุดใช้ยานี้ระยะหนึ่งจนกว่าอาการต่าง ๆ จะดีขึ้น

การใช้ยานี้จะต้องควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนัก ยาจึงจะสามารถช่วยควบคุมระดับไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่ปรับเปลี่ยนอาหาร ยาตัวนี้ก็อาจไม่มีผลต่อการรักษา และในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจเลือดเป็นประจำเพื่อติดตามระดับไขมันในเลือด

หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าหากนึกขึ้นได้ในระยะเวลาไม่ถึง 12 ชั่วโมงก่อนการรับประทานยาครั้งต่อไปไม่ควรรับประทานยาซ้ำ และไม่ควรเพิ่มยาในครั้งต่อไป

สำหรับสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร หรือผู้ที่มีโรคตับ ห้ามรับประทานยานี้โดยเด็ดขาด เพราะผลข้างเคียงอาจส่งผลร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ หรือทำให้อาการของโรคตับยิ่งรุนแรงขึ้น หากมีการใช้ยามาก่อนการตั้งครรภ์ ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันผลที่อาจตามมาจากการหยุดใช้ยาที่เกี่ยวข้องกับระดับไขมันในเลือด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Atorvastatin

การใช้ยา Atorvastatin อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยหลายอย่าง เช่น ปวดตามข้อ ท้องเสีย มีอาการอักเสบที่คอและจมูก หรืออาจมีอาการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ นอนไม่หลับ ปวดขา ปวดกล้ามเนื้อแขนและขา กล้ามเนื้อเกร็ง และคลื่นไส้ เป็นต้น

ทั้งนี้ยังอาจมีผลข้างเคียงต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายกำลังปรับตัวจากการใช้ยา ซึ่งจะเกิดเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ และอาจหายไปได้เอง คือปวดศีรษะ เสียงแหบ ปวดหลังส่วนล่างหรือด้านข้าง รู้สึกปวดหรือรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาและแก้ม ปัสสาวะติดขัดหรือรู้สึกเจ็บเวลาปัสสาวะ รวมถึงมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ขณะที่อาการที่อาจพบแต่เกิดขึ้นได้น้อยกว่าอาการข้างต้น ได้แก่ ปวดท้อง ปวดหลัง ท้องอืด ท้องผูก รู้สึกไม่สบายตัว อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก ไม่มีแรง ความอยากอาหารลดลง คลื่นไส้ สั่น เหงื่อออก หรืออาเจียน ทั้งนี้หากอาการเริ่มรุนแรงขึ้น จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น

ขณะที่การแพ้ยาดังกล่าวก็ถือเป็นผลข้างเคียงที่อันตราย ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการของลมพิษ หายใจไม่ออก มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ ควรรีบแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในบางกรณีที่พบน้อย ยา Atorvastatin ก็อาจส่งผลให้ทำลายกล้ามเนื้อลาย และหากรุนแรงอาจนำมาสู่ภาวะไตวาย ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการปวดกล้ามเนื้อไม่ทราบสาเหตุ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีลักษณะกดเจ็บ มีไข้ อ่อนเพลียอย่างไม่มีสาเหตุปัสสาวะเป็นสีเข้ม หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น

ระบบไต - ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลย มีอาการเจ็บขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะขัด มีอาการบวมที่เท้าและข้อเท้า รู้สึกเหนื่อย หายใจสั้น

ระบบตับ - คลื่นไส้ ปวดท้องส่วนบน มีอาการคัน รู้สึกเหนื่อย ความอยากอาหารลดลง ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด หรือมีอาการดีซ่าน

รวมถึงสัญญาณโรคหลอดเลือดสมองบางอย่าง ได้แก่ อาการชา หรือรู้สึกอ่อนแรงที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง พูดไม่ชัด มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นและการทรงตัว หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที