ภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (Septic Shock)

ความหมาย ภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (Septic Shock)

Septic Shock หรือภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ เป็นภาวะอาการที่มักเกิดหลังการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งส่งผลให้ร่างกายมีระดับความดันโลหิตลดต่ำผิดปกติจนเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่เพียงพอ ทำให้อวัยวะทำงานลดลงหรือทำงานผิดปกติ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

1733 Septic Shock resize

อาการของภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ

Septic Shock อาจเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยจะส่งผลให้มีความดันโลหิตต่ำผิดปกติ และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีให้น้ำเกลือ รวมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้เกิดขึ้นร่วมด้วย

  • สับสนเฉียบพลัน
  • เวียนศีรษะ
  • ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะ
  • มีปัญหาในการหายใจอย่างรุนแรง
  • พูดไม่ชัด
  • ริมฝีปากเขียวคล้ำ
  • ผิวหนังซีดและเย็น
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย

หากพบว่ามีอาการในลักษณะดังข้างต้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นภาวะที่ควรได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุของภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ

ภาวะ Septic Shock เป็นผลมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือดขั้นรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัส โดยมักเป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นกับระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ปอด ระบบย่อยอาหาร ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

นอกจากนี้ บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้อาจเสี่ยงเกิดภาวะ Septic Shock ได้มากกว่าคนทั่วไป

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคไข้รูมาติก โรคมะเร็ง เป็นต้น
  • หญิงตั้งครรภ์
  • เด็กแรกเกิด
  • ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดและพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่มีภาวะโภชนาการไม่ดี
  • ผู้ที่ต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่อาจเสี่ยงทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายจนเกิดการติดเชื้อได้ เช่น ใส่สายสวนหลอดเลือดดำ สายสวนปัสสาวะ หรือใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องได้รับการฉีดยา

การวินิจฉัยภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ

หากสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายภาวะ Septic Shock คนใกล้ชิดควรพาตัวไปพบแพทย์ทันที เพราะยิ่งได้รับการวินิจฉัยและรักษารวดเร็วเท่าใดก็ยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นเท่านั้น โดยในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามอาการและประวัติสุขภาพ จากนั้นจึงวินิจฉัยสาเหตุและระยะเวลาของการติดเชื้อด้วยการตรวจเพิ่มเติมวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจเบื้องต้นที่จะช่วยระบุความผิดปกติต่าง ๆ ได้ เช่น ตรวจหาเชื้อก่อโรคในเลือด ตรวจการแข็งตัวของเลือด ตรวจของเสียในเลือด ตรวจการทำงานของตับและไต ตรวจหาปริมาณออกซิเจนที่ลดลง ตรวจหาระดับเกลือแร่ที่ไม่สมดุล เป็นต้น
  • การตรวจตามปัจจัยเสี่ยง แพทย์จะพิจารณาจากอาการและผลตรวจเลือดของผู้ป่วย จากนั้นจึงตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมเพื่อระบุตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อ เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจผิวหนังบริเวณที่เกิดบาดแผลว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ และเจาะตรวจของเหลวในไขสันหลัง เป็นต้น
  • การตรวจทางรังสีวิทยา หากวิธีการตรวจข้างต้นยังไม่สามารถระบุตำแหน่งการติดเชื้อได้อย่างชัดเจน แพทย์อาจใช้วิธีการถ่ายภาพด้วยรังสีต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ การทำCT scan การทำ MRI Scan หรือการอัลตราซาวด์ เป็นต้น

การรักษาภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ

การรักษาภาวะ Septic shock ขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุของการติดเชื้อ โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งวิธีการรักษาที่แพทย์อาจนำมาใช้ มีดังนี้

  • การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะกับผู้ป่วย โดยการได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มที่มีอาการจะช่วยให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ซึ่งวิธีการให้ยาที่นิยมมากที่สุด คือ การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ นอกจากนี้ หากพบตำแหน่งของการติดเชื้อที่ชัดเจน เช่น แผล ฝี หนอง เป็นต้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อกำจัดแหล่งเชื้อโรคดังกล่าวออกไป
  • การรักษาระบบไหลเวียนเลือดให้เป็นปกติ เป็นการให้สารน้ำเพื่อช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานเป็นปกติ แต่หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรง อาจต้องใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยากระตุ้นความดันโลหิต ยากระตุ้นหัวใจ เป็นต้น
  • การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยใช้อินซูลิน ให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นต้น หรือหากผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจ แพทย์อาจให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วยผ่านท่อหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ

ผู้ป่วยภาวะ Septic Shock อาจเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น หัวใจวาย ไตวาย ตับวาย ภาวะการหายใจล้มเหลว ความผิดปกติด้านการแข็งตัวของเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุ ระยะเวลาในการเริ่มต้นรักษา สาเหตุและตำแหน่งของการติดเชื้อในร่างกาย และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

การป้องกันภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ

Septic Shock เป็นภาวะที่ร้ายแรงและป้องกันได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อที่อาจนำไปสู่ภาวะ Septic Shock ได้ ส่วนผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ควรระมัดระวังด้านการติดเชื้อมากเป็นพิเศษ และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารหรือหลังจากเข้าห้องน้ำ งดสูบบุหรี่และไม่ใช้ใช้สารเสพติด รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ