มะเร็งของเนื้อเยื่อประสาท (Neuroblastoma)

ความหมาย มะเร็งของเนื้อเยื่อประสาท (Neuroblastoma)

Neuroblastoma หรือโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อประสาท เป็นมะเร็งในเด็กชนิดหนึ่งที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ประสาท สามารถพบได้ในหลายตำแหน่งของร่างกาย เช่น คอ ช่องอก ช่องท้อง หรือใกล้กระดูกสันหลัง แต่จะพบมากที่สุดบริเวณต่อมหมวกไต โดย Neuroblastoma ถูกจัดว่าเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบมากในเด็ก

มะเร็งเกิดจากเซลล์หรือเนื่อเจริญเติบโตผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ โดยสามารถเกิดขึ้นกับเซลล์ได้ในหลายส่วนของร่างกายและสามารถลุกลามไปยังส่วนอื่นได้ ในกรณีของ Neuroblastoma ก้อนเนื้อจะเกิดขึ้นจากเซลล์ประสาทนิวโรบลาสท์ในระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) 

neuroblastoma

แม้ว่าจะเป็นโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่มักเกิดในทารกและเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนในเด็กที่อายุ 10 ปีขึ้นไปจะพบได้ค่อนข้างยาก ในบางกรณีอาจพบได้ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ แต่มักจะตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ในภายหลังเมื่อก้อนเนื้อขยายใหญ่ขึ้นจนส่งผลกระทบต่อร่างกาย หากตรวจพบมะเร็งนิวโรบลาสโตมาได้เร็วตั้งแต่ช่วงระยะแรก ๆ ของโรคและได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายขาดได้ บางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยแต่ละบุคคล

อาการของ Neuroblastoma

อาการของโรคจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่ง ขนาด และการลุกลามของมะเร็ง ดังนี้

Neuroblastoma ที่เกิดในช่องท้อง 

เป็นส่วนที่พบได้มากที่สุด อาจทำให้เด็กเกิดอาการปวดท้อง มีปัญหากับระบบขับถ่าย เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ คลำพบก้อนแข็งใต้ผิวหนังส่วนหน้าท้อง รู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติและอาจทำให้น้ำหนักตัวลดลง โตช้า มีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์ มีอาการบวมบริเวณขาหรือถุงอัณฑะจากการกดทับของก้อนเนื้อที่ระบบเลือดและระบบน้ำเหลือง เป็นต้น

Neuroblastoma ที่เกิดในคอหรือช่องอก 

อาจทำให้เด็กเกิดอาการบวมที่ใบหน้า คอ แขน และหน้าอก รู้สึกปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก ไอ มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรือการกลืน หายใจมีเสียงหวีด เกิดความผิดปกติบริเวณดวงตาอย่างหนังตาตก ตาโปน หรือรูม่านตาไม่เท่ากัน

หาก Neuroblastoma เกิดการลุกลามอาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • ต่อมน้ำเหลืองโต คลำพบก้อนแข็งที่บริเวณใต้รักแร้ คอ หรือขาหนีบ 
  • ปวดกระดูก แขนขาอ่อนแรง ใต้ตาเขียวคล้ำ ซึ่งอาจเกิดจากมะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูก
  • หากมะเร็งลุกลามไปที่ไขกระดูก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเด็กมีอาการอ่อนเพลีย งอแง มีรอยช้ำตามร่างกายเกิดขึ้น และอาจเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

หากผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกการเกิด Neuroblastoma ชนิดที่ปล่อยฮอร์โมนออกมา เช่น ท้องเสีย ปวดศีรษะ มีไข้ ใจสั่น ความดันโลหิตสูง เหงื่อออก และผิวแดงกว่าปกติ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป

สาเหตุของ Neuroblastoma

โดยทั่วไป มะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนจนทำให้เซลล์ปกติเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเท่าตัวเหนือการควบคุมของร่างกายและกลายเป็นเซลล์มะเร็ง การสะสมของเซลล์ที่ผิดปกตินี้จึงก่อให้เกิดเป็นเนื้องอกขึ้นในร่างกาย

Neuroblastoma เกิดจากเซลล์ประสาทที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ มีชื่อเรียกว่านิวโรบลาสท์ โดยขณะทารกในครรภ์เติบโตขึ้น นิวโรบลาสท์จะพัฒนาเป็นเซลล์ประสาท ใยประสาท และเซลล์บริเวณแกนกลางของต่อมหมวกไต แต่ในบางกรณีนิวโรบลาสท์ที่เจริญเติบโตหรือแบ่งตัวผิดปกติอาจกลายเป็นเนื้องอก ทำให้เกิดเป็นมะเร็งนิวโรบลาสโตมาและแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค Neuroblastoma มีดังนี้

  • อายุ มักพบในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี และพบมากในช่วงอายุประมาณ 2 ปี
  • พันธุกรรม แม้ว่า Neuroblastoma ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่มีเด็กจำนวนร้อยละ 1-2 ที่มีแนวโน้มจะเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้นจากพ่อและแม่หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเคยมีอาการของโรคนี้เมื่อครั้งยังเป็นทารก นอกจากนี้ Neuroblastoma อาจมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของโครโมโซมบางคู่และโรคทางพันธุกรรมบางชนิดอีกด้วย
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด หากเซลล์มีการเจริญเติบโตผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะความผิดปกติโดยกำเนิดของทารก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น Neuroblastoma ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากเด็กที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดเพียงบางรายเท่านั้นที่เกิดอาการผิดปกติขึ้น

การวินิจฉัย Neuroblastoma

 หากเด็กมีอาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็น Neuroblastoma หรือมะเร็งชนิดอื่น แพทย์จะซักถามอาการและประวัติครอบครัวที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง รวมทั้งตรวจร่างกายเบื้องต้น ได้แก่ การตรวจบริเวณที่อาจมีก้อนเนื้อนูนใต้ผิวหนัง เช่น ช่องท้อง อก แขน ขา หรืออาจตรวจดูระดับความดันโลหิตที่อาจเกิดจากการที่ Neuroblastoma ผลิตฮอร์โมนบางชนิดเพิ่มขึ้น บางกรณีหากมีไข้หรือคลำพบต่อมน้ำเหลืองโต ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีการลุกลามของโรค Neuroblastoma 

นอกจากนี้ แพทย์อาจส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลหรือหาตำแหน่งการลุกลามของโรค โดยใช้วิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • การตรวจเลือดและปัสสาวะ เป็นการวัดระดับฮอร์โมนในเลือดที่อาจเพิ่มขึ้นจาก Neuroblastoma
  • การใช้ภาพวินิจฉัยเพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็ง ได้แก่ การอัลตราซาวด์เพื่อดูก้อนเนื้อในช่องท้อง การเอกซเรย์เพื่อตรวจหามะเร็งในช่องอกและกระดูก การทำซีที สแกน (CT Scan) เพ็ท สแกน (PET Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เพื่อตรวจหาตำแหน่งการเกิดมะเร็งที่บริเวณอื่นหรือประเมินประสิทธิภาพในการรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างจากเนื้องอกหรือไขกระดูก และส่งตรวจห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหามะเร็งที่อาจเกิดขึ้น
  • ในบางกรณีอาจตรวจวัดปริมาณเซลล์เม็ดเลือด ปริมาณเกลือในร่างกาย หรือตรวจการทำงานของตับและไตร่วมด้วย

Neuroblastoma เป็นมะเร็งชนิดรักษาได้ ปัจจัยสำคัญที่สุดในการรักษาคือการแพร่กระจายของมะเร็ง หากตรวจพบได้เร็วตั้งแต่ยังอายุยังน้อย โอกาสในการรักษาหายก็จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยมีอาการของ Neuroblastoma แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งสู่อวัยวะอื่น ซึ่งจะเรียกว่าการแบ่งระยะ (Staging) ของโรค เมื่อทราบว่าผู้ป่วยมีอาการในระยะใดก็จะช่วยให้แพทย์รักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป โดยจะใช้ผลการตรวจต่าง ๆ เช่น การสแกนกระดูก การเอกซเรย์ รวมถึงอาจใช้การทำซีที สแกน การทำเอ็มอาร์ไอ สแกน หรือการสแกนชนิดพิเศษที่เรียกว่า MIBG Scan ในการแบ่งระยะของโรค ซึ่งจะแบ่งออกเป็นช่วง 0 ถึง 4 ในระยะแรกสุดจะเป็นระยะที่มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ส่วนในระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งได้ลุกลามไปยังบริเวณอื่นของร่างกายแล้ว

การรักษา Neuroblastoma

ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่แตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ระยะของโรค อายุของผู้ป่วย ตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง ความเสี่ยงในการรักษาว่าอยู่ในระดับต่ำ กลาง หรือสูง ความผิดปกติของโครโมโซมหรือยีน และการคาดการณ์การตอบสนองต่อการรักษาของเนื้องอก

วิธีการรักษามีรายละเอียดดังนี้

  • การผ่าตัดเอาเนื้องอกออก สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ วิธีผ่าเอาเนื้องอกออกอาจเป็นวิธีการรักษาที่เพียงพอที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ โดยโอกาสที่จะผ่าตัดสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก หากเนื้องอกอยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญ อย่างปอดหรือไขสันหลัง อาจเสี่ยงเกินกว่าที่จะใช้วิธีผ่าตัด ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในระดับกลางและระดับสูง แพทย์จะผ่าตัดเอาเนื้องอกออกเท่าที่จะทำได้แล้วจึงใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การทำเคมีบำบัดหรือการฉายแสง เป็นต้น
  • การทำเคมีบำบัด เป็นการใช้สารเคมีหยุดการเจริญเติบโตหรือทำลายของเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตาม เคมีบำบัดสามารถทำลายเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายที่เจริญเติบโตเร็วด้วยเช่นกัน เช่น ระบบย่อยอาหารหรือเซลล์ในรูขุมขนทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ฯลฯ
  • การฉายแสง อาจนำมาใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยเคมีบำบัดและการผ่าตัดไม่ทำให้อาการดีขึ้น โดยแพทย์จะทำการฉายรังสีพลังงานสูงไปที่บริเวณมะเร็งเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก โดยแพทย์จะเก็บเซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยจากบริเวณไขกระดูกหรือเลือด จากนั้นจึงใช้เคมีบำบัดทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลือในร่างกาย แล้วจึงฉีดเซลล์ต้นกำเนิดที่เก็บไว้กลับเข้าสู่ผู้ป่วยเพื่อให้เกิดการสร้างเม็ดชนิดต่าง ๆ ในร่างกายต่อไป
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) จะใช้กับผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเด็กให้สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้

ภาวะแทรกซ้อนจาก Neuroblastoma

ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้หลังการรักษา เช่น เด็กมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ หรือสูญเสียการทำงานของอวัยวะบางอย่าง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือการสูญเสียการได้ยิน ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจะขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาและอายุของเด็กขณะทำการรักษา 

นอกจากนี้ ในบางกรณีอาจเกิดภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อเส้นประสาท (Opsoclonus-Myoclonus Syndrome) ทำให้กระทบต่อการเรียนรู้ พัฒนาการของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ หรือเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและภาษา โดยเด็กที่ได้รับการรักษา Neuroblastoma อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่น

การป้องกัน Neuroblastoma

Neuroblastoma เป็นมะเร็งชนิดที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไม่สามารถควบคุมได้ อย่างปัจจัยด้านอายุและพันธุกรรม นอกจากนี้ ยังไม่พบว่า Neuroblastoma จะเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อย่างอาหารหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ต้องการมีบุตร หากพ่อหรือแม่ทราบว่าตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวของตนเคยมีประวัติการเป็น Neuroblastoma มาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิด Neuroblastoma ในบุตรหลาน แม้ว่าจะมีโอกาสพบโรคดังกล่าวได้น้อยก็ตาม