เนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Fibroadenoma)

ความหมาย เนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Fibroadenoma)

Fibroadenoma คือ เนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรงและมักไม่พัฒนาไปเป็นมะเร็งเต้านม มีลักษณะเป็นก้อนเรียบ รูปร่างค่อนข้างกลมมน สามารถกลิ้งไปมาได้ ส่วนมากจะมีขนาดเล็กประมาณ 1–2 เซนติเมตรและมักไม่มีอาการปวดร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองมีเนื้องอกในเต้านม

Fibroadenoma พบได้บ่อยในผู้หญิงอายุระหว่าง 20–30 ปี ส่วนใหญ่แพทย์มักตรวจและติดตามอาการของผู้ป่วยเพื่อดูการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อ หรือรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้องอกออก ในบางกรณี เนื้องอกอาจยุบลงได้เองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน 

เนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Fibroadenoma)

อาการของ Fibroadenoma

Fibroadenoma เป็นเนื้องอกขนาดเล็กเกิดขึ้นภายในเต้านมและมักไม่มีอาการเจ็บ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่าตนเองมีเนื้องอกในเต้านม โดยหากคลำพบ ผู้ป่วยมักรู้สึกถึงก้อนเนื้อที่แตกต่างจากเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ได้อย่างชัดเจน โดย Fibroadenoma อาจมีลักษณะเป็นก้อนแข็งคล้ายยาง รูปทรงกลมและขอบเรียบ สามารถกลิ้งไปมาในเต้านมได้ เมื่อเวลาผ่านไปอาจขยายใหญ่ขึ้นและมีขนาดประมาณ 2–3 เซนติเมตร ซึ่งอาจพบเนื้องอกเพียงก้อนเดียวหรือมากกว่านั้น และอาจเกิดขึ้นบริเวณเต้านมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

เต้านมของคนเราประกอบไปด้วยไขมัน เนื้อเยื่อ ต่อมน้ำนมจำนวนมาก ซึ่งเต้านมของผู้หญิงมักเปลี่ยนแปลงตามอายุและตามรอบประจำเดือน โดยช่วงก่อนหรือระหว่างมีรอบเดือนอาจรู้สึกคัดตึงเต้านม เนื่องจากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหากสังเกตเห็นความผิดปกติใด ๆ เช่น คลำพบก้อนในเต้านม ก้อนในเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือแยกจากเนื้อเยื่ออื่นในเต้านม เป็นต้น

Fibroadenoma อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • Simple Fibroadenomas หรือเนื้องอกชนิดธรรมดา เนื้องอกชนิดนี้มักไม่พัฒนาเป็นมะเร็งเต้านม เมื่อตรวจดูผ่านกล้องจุลทรรศน์จะคงรูปร่างปกติและไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบ 
  • Complex Fibroadenomas มักพบในผู้สูงอายุ เป็นเนื้องอกที่เซลล์เจริญเติบโตผิดปกติอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีขนาดใหญ่พอที่ทำให้คลำพบและสังเกตเห็นได้แม้ไม่ได้ตรวจหาด้วยกล้องจุลทรรศน์ อีกทั้งอาจทำให้เกิดถุงน้ำในเต้านม (Macrocysts) หินปูนในเต้านม (Calcification) และอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่า Fibroadenomas ชนิดอื่น ๆ
  • Juvenile Fibroadenomas เป็นเนื้องอกที่พบในเด็กผู้หญิงหรือเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่น อายุประมาณ 10–18 ปี จัดเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงและอาจมีขนาดใหญ่ ในบางกรณีอาจค่อย ๆ ยุบลงหรือหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่พบได้น้อยมาก
  • Giant Fibroadenomas เป็นเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่ โดยขนาดอาจใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร จึงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก เพราะสามารถไปกดทับหรือเติบโตทดแทนเนื้อเยื่อในเต้านมอื่น ๆ 
  • Phyllodes Tumor เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง แต่อาจมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งแพทย์จึงมักแนะนำให้ผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก

สาเหตุของ Fibroadenoma

แม้ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิด Fibroadenoma ที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการผลิตหรือได้รับฮอร์โมนเพศของเพศหญิงในวัยเจริญพันธุ์ อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งการได้รับการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนหรือการรับประทานยาคุมกำเนิดในช่วงก่อนอายุ 20 ปี และในระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อระดับฮอร์โมนและเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเนื้องอกชนิดนี้ หรือกระตุ้นให้เนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ ในบางกรณี เนื้องอกอาจยุบลงและหายไปได้เองหลังเข้าสู่วัยทอง (Menopause) เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายลดลง

Fibroadenoma พบมากในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี แต่พบในช่วงวัยอื่นได้เช่นกัน โดยผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน มีแนวโน้มเป็นเนื้องอกชนิดนี้มากกว่าผู้หญิงชนชาติอื่น

การวินิจฉัย Fibroadenoma

แพทย์จะสอบถามอาการและประวัติสุขภาพของผู้ป่วย จากนั้นจะตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วยการตรวจเต้านมทั้งสองข้างเพื่อหาก้อนเนื้อหรือความผิดปกติอื่นในเต้านม บางกรณีเนื้องอกอาจมีขนาดเล็กมากจนคลำไม่พบ แต่หากคลำพบก้อนเนื้ออย่างชัดเจน แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมโดยพิจารณาจากอายุของผู้ป่วยและลักษณะของก้อนเนื้อที่ตรวจพบ 

วิธีการตรวจเต้านมโดยทั่วไปมีดังนี้

  • แมมโมแกรม (Mammogram) เป็นเครื่องเอกซเรย์พิเศษเฉพาะสำหรับการตรวจเต้านมเพื่อตรวจเนื้อเยื่อที่ผิดปกติภายในเต้านม แมมโมแกรมเป็นวิธีที่ตรวจได้ละเอียดกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป โดยอาจตรวจพบก้อนเนื้อแข็งรูปร่างกลม ขอบเรียบ ลักษณะคล้ายก้อนหินขนาดเล็กที่ดูแตกต่างจากเนื้อเยื่อโดยรอบอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะของ Fibroadenoma 
  • อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม และสะท้อนภาพเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ซึ่งสามารถตรวจความแตกต่างของก้อนในเต้านม โดย Fibroadenoma จะมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อแตกต่างจากซีสต์ (Cyst) หรือถุงน้ำ 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 30 ปีและคลำพบก้อนเนื้อ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ก่อนการตรวจด้วยแมมโมแกรม แต่หากผู้ป่วยมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมสูงและตรวจพบก้อนเนื้อจากการทำแมมโมแกรม แพทย์มักแนะนำให้ทำอัลตราซาวด์ควบคู่กัน

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจเนื้อเยื่อของก้อนเนื้อในเต้านมด้วยวิธีดังนี้

  • การเจาะดูดเซลล์ (Fine Needle Aspiration) เป็นการใช้เข็มขนาดเล็ก แทงเข้าไปในก้อนเนื้อแล้วดูดเอาเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของก้อนเนื้อนั้นออกมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ หากพบว่ามีของเหลวอยู่ภายในก้อนเนื้อที่พบอาจมีแนวโน้มเป็นซีสต์มากกว่า Fibroadenoma
  • การใช้เข็มเจาะตัดเนื้อเยื่อ (Core Needle Biopsy) โดยแพทย์จะใช้เข็มเจาะเข้าไปที่ก้อนเนื้อ เพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและวินิจฉัยลักษณะของก้อนเนื้อต่อไป ซึ่งระหว่างการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ แพทย์จะดูภาพที่ได้จากการอัลตราซาวด์ควบคู่กันไป เพื่อความแม่นยำในการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากก้อนเนื้อในเต้านม

การรักษา Fibroadenoma

Fibroadenoma อาจหยุดเจริญเติบโตและยุบลงได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากก้อนเนื้อไม่ยุบลง แพทย์อาจใช้วิธีรักษาต่อไปนี้

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

หากแพทย์พิจารณาจากอาการ ประวัติครอบครัว และผลการวินิจฉัยวิธีต่าง ๆ แล้วพบว่าเนื้องอกมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร และไม่มีแนวโน้มพัฒนาเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์อาจนัดตรวจเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ร่วมกับการตรวจเต้านมและทำอัลตราซาวด์ทุก 6 เดือน ถึง 2 ปี เพื่อเฝ้าระวังการเติบโตของเนื้องอก โดยอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดก้อนเนื้อออก เนื่องจากการผ่าตัดทำให้เนื้อเยื่อที่ดีในบริเวณใกล้เคียงถูกตัดออกไป นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดแผลเป็น เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปทรงและผิวสัมผัสของเต้านม หรือทำให้การอ่านผลแมมโมแกรมในอนาคตทำได้ยากขึ้น

การรักษาโดยการผ่าตัด

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเนื้องอกในเต้านมออกในกรณีที่พบความผิดปกติของก้อนเนื้อหรือมีปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้

  • ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือใหญ่ขึ้น
  • ก้อนเนื้อทำให้รูปทรงของเต้านมเปลี่ยนไป
  • ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเต้านมหรือกังวลว่าจะกลายเป็นมะเร็งเต้านม
  • คนในครอบครัวผู้ป่วยมีประวัติเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งเต้านม
  • ผลการตรวจจากเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไม่ชัดเจน

วิธีการผ่าตัด Fibroadenoma ประกอบด้วยวิธีดังนี้

  • การผ่าตัดก้อนเนื้อเพื่อการวินิจฉัย (Lumpectomy หรือ Excisional Biopsy) ในกรณีที่อาจกลายเป็นเซลล์มะเร็ง แพทย์จะผ่าตัดส่วนที่เป็นก้อนเนื้อออกและส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
  • การผ่าตัดด้วยการใช้ความเย็นจัด (Cryoablation) แพทย์จะสอดเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายแท่งไม้ขนาดเล็กเข้าไปในเต้านมบริเวณที่มีก้อนเนื้ออยู่ และใช้แก๊สให้ความเย็นเพื่อแช่แข็งและทำลายเนื้อเยื่อดังกล่าวไม่ให้เจริญเติบโตต่อไป

ภายหลังได้รับการผ่าตัดก้อนเนื้อออกไป ผู้ป่วยบางรายอาจเกิด Fibroadenoma ก้อนใหม่ขึ้นก้อนเดียวหรือหลายก้อน ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ อีกครั้ง เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง หรือมีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านม เช่น การทำแมมโมแกรม การอัลตราซาวด์ หรืออาจต้องเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Fibroadenoma

Fibroadenoma เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงและมักไม่พัฒนาเป็นมะเร็งเต้านม แต่หากผู้ป่วยเป็นเนื้องอกชนิด Complex fibroadenoma หรือ Phyllodes อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมมากขึ้น

การป้องกัน Fibroadenoma

วิธีลดความเสี่ยงในการเป็นเนื้องอกทำได้โดยการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มแรกดังนี้

  • ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละ 1 ครั้ง และเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 1 ปี ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรมทุก 1–2 ปี 
  • ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ตนเองหรือคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ มีประวัติผ่าตัดเต้านม ได้รับฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานาน ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 35 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงทั่วไป
  • ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงเสริม อย่างการรับประทานยาคุมกำเนิดหรือได้รับฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) ควรตรวจร่างกายและปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิด Fibroadenoma