ถามแพทย์

  • ไม่มีแรงน้ำหนักตัวลดลงมากโดยไม่ทราบสาเหตุ

  •  Tangmo Tangmoh
    สมาชิก

    สอบถามค่ะคนรู้จักน้ำหนักลดลงฮวบฮาบ โดยไม่ทราบสาเหตุค่ะ ตรวจไทรอยด์แล้ว ส่องกล้องทางเดินอาหารแล้วปกติ ตรวจร่างกายผลก็ปกติ มีอยากอาหารแต่มีอาการท้องอืดทำให้กินได้ไม่มาก และท้องผูกร่วมด้วย คนป่วยไม่ค่อยมีแรง ปวดกล้ามเนื้อตามตัว ส่วนสูง 155 cm น้ำหนักลดจาก เดือน ม.ค. 65 น้ำหนัก 42 kg เดือน ก.ค. 65 หนัก 38 kg ปัจจุบัน ส.ค. 65 น้ำหนักเหลือ 36 kg  ไม่ทราบว่าต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านไหนแล้วค่ะ อยากขอคำแนะนำอย่างมากค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Tangmo Tangmoh,

                        หากเดิมมีน้ำหนัก 42 กิโลกรัม แล้วลดลงเหลือ 36 กิโลกรัม เท่ากับลดลงไป 6 กิโลกรัม เท่ากับลดลงไปประมาณ 14% ของน้ำหนักตัวเดิม ถือว่ามีน้ำหนักตัวลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้ เช่น

                        - เป็นโรคเบาหวาน

                        - มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นพิษ 

                         - โรคติดเชื้อเรื้อรังต่างๆ เช่น วัณโรค HIV ไวรัสตับอักเสบ ติดชื้อไวรัส EBV เป็นต้น

                         - โรคภูมิแพ้ตนเองบางชนิด

                         - โรคมะเร็ง 

                         - ไตวายเรื้อรัง ตับเรื้อรัง หัวใจวาย

                          - ลำไส้แปรปรวน ท้องเสียเรื้อรัง

                          - การใช้ยาบางชนิด รวมถึงยาเสพติด

                          - เป็นมะเร็งชนิดต่างๆ 

                          - เป็นอาการของวัยหมดประจำเดือน

                           หากได้ไปพบแพทย์ ตรวจเลือดแล้ว ไม่พบว่ามีฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ ก็ไม่น่ามีสาเหตุมาจากโรคนี้ อย่างไรก็ตาม หากยังไม่ได้ตรวจเลือดเพื่อดูว่าโรคอื่นๆ อีกหรือไม่ ก็อาจต้องตรวจเพิ่มเติมอีกค่ะ เช่น โรคเบาหวาน ตับอักเสบเรื้อรัง ไตเรื้อรัง หรือตรวจว่ามีการติดเชื้อ HIV หรือไม่ เป็นต้น หรือหากตรวจหาโรคเหล่านี้ไม่พบ แต่อายุอยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน ก็ต้องตรวจดูว่าเข้าสู่วัยทองหรือไม่ เพื่อที่จะให้ฮอร์โมนเสริมเพื่อลดอาการที่เป็นค่ะ

                           ส่วนการส่องกล้องทางเดินอาหาร หากปกติดี ก็แสดงว่าไม่มีแผลหรือก้อนเนื้อในทางเดินอาหาร แต่ขึ้นกับว่าได้ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนหรือส่วนล่าง หากส่องกล้องแค่ทางเดินอาหารส่วนบน ก็จะไม่ได้ดูในลำไส้ หรือหากส่องทางเดินอาหารส่วนล่าง ก็จะไม่ได้ดูกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตาม การส่องกล้องทางเดินอาหาร ไม่ได้ดูอวัยวะวะเกี่ยวกับการย่อยอาหารได้ทั้งหมด โดยหากมีอาการท้องอืดบ่อย ก็อาจเกิดจากการมีนิ่วในถุงน้ำดีก็ได้ ซึ่งต้องตรวจด้วยอัลตราซาวด์ช่องท้อง การส่องกล้องจะไม่สามารถตรวจได้ค่ะ

                          นอกจากนี้ หากมีท้องผูกบ่อยๆ อาจทำให้มีภาวะอุจจาระตกค้างในลำไส้ได้ ซึ่งอาจทำให้มีอาการต่างๆ ได้ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง คลื่นไส้  รู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด ปัสสาวะบ่อยจากการที่กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับ  ปวดหลังส่วนล่าง หายใจติดขัด  ทานอาหารได้น้อย เบื่ออาหาร  ขมคอ เรอเปรี้ยว ผายลมบ่อย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เป็นต้น

                         ดังนั้น หากการส่องกล้องทางเดินอาหาร ไม่ได้ส่องที่ลำไส้ ก็อาจไม่เห็นว่ามีอุจจาระตกค้างในลำไส้หรือไม่

                        หากยังคงมีน้ำหนักตัวที่ลดลง และยังคงทานอาหารได้น้อย แนะนำควรไปพบแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรม เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมต่อไปค่ะ ในเบื้องต้น หากยังคงมีอาการท้องผูก ก็ต้องรักษาอาการท้องผูกให้หาย โดยการดื่มน้ำเปล่ามากๆ อย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน ทานผักและผลไม้ทุกมื้อ ไม่ทานอาหารที่ย่อยยาก เพื่อลดอาการท้องอืด รวมถึงไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง งดการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น หลังการทานอาหาร อาจทานยา เช่น ไซเมทิโคน (simethicone), เอ็ม คาร์มิเนทิฟ (M. Carminative) มาเจสโต (magesto-F) เป็นต้น เพื่อช่วยลดาอาการท้องอืด ซึ่งอาจทำให้ทานอาหารได้มากขึ้นค่ะ